คมนาคมถังแตก เลื่อนเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังงบประมาณไม่พอจ่ายค่าก่อสร้าง
‘ศักดิ์สยาม’ ยันเดินหน้าแผนลงทุนไฮสปีดสายเหนือ-ใต้ 1 ล้านล้านบาท พร้อมดันรถไฟทางคู่เฟส 2 เข้าครม.
‘ศักดิ์สยาม’ ยันเดินหน้าแผนลงทุนไฮสปีดสายเหนือ-ใต้ 1 ล้านล้านบาท พร้อมดันรถไฟทางคู่เฟส 2 เข้าครม.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์และงานเดินรถรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก วงเงิน2.3 แสนล้านบาทนั้นคงต้องเลื่อนเปิดประมูลไปเป็นปี 2564 เนื่องจากขัดกับวินัยการเงินการคลังของงบประมาณปี 2563 กล่าวคือ งบประมาณไม่พอไปดำเนินโครงการหรือเปิดประมูลเพื่อจ่ายค่าก่อสร้าง
ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเหลืองบประมาณอยู่ราว 30,000 ล้านบาท ทว่าโครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณมากถึง 90,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องไปตั้งของบประมาณปี 2564 แทน ส่งผลให้การประมูลต้องเลื่อนออกไปเป็นในปีดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ส่วนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการนั้น อาจจะต้องปรับกรอบเวลาในการดำเนินการให้สอดคล้องกับสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566-2567 เนื่องจากสัญญาว่าจ้างเอกชนเดินรถเป็นสัญญาเดียวตลอดเส้นทางดังนั้นจึงต้องรอการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกด้วย
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่าหลังจากนี้รฟม.จะเรียกผู้รับเหมาและเอกชนที่ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกเข้าพบเพื่อชี้แจงการขยับกรอบเวลาของโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเดิม ซึ่งการเลื่อนประมูลงานเดินรถออกไปจะไม่กระทบ โดยรฟม.จะกำหนดให้เอกชนผู้รับงานติดตั้งระบบและเดินรถ เร่งงานให้เร็วมากขึ้นเพื่อให้ทันกำหนดการเปิดให้บริการสายสีส้มตะวันออกในปี 2567
ด้านนายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่าสำหรับแผนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ยืนยันว่าตนจะผลักดันรถไฟไฮสปีดสองเส้นทางที่เหลือคือ รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงินลงทุนมากกว่า 500,000 ล้านบาท และรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน-สุราษฎร์ธานี วงเงินราว 400,000-500,000 ล้านบาท ตามแผนที่กระทรวงคมนาคมกำหนดไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศตลอดจนขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ออกแบบเครื่องมือทางการเงินมาช่วยลงทุนโครงการขนาดใหญ่อยู่แล้วทั้ง การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์(TFF) ควบคู่ไปกับการผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 วงเงินลงทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาท ได้แก่รถไฟทางคู่ช่วง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมวงเงิน 6.79 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของวงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่เตรียมเสนอ ครม. นั้นได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 8 พันล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 5.6 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท, รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลามูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ระนอง-ชุมพร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท