ชาวบ้านรุมค้านหนัก!! โปรเจ็คสนามบินนครปฐม ทำลายวิถีชีวิต ดันที่ดินพุ่งไร่ละ5ล้าน
ชาวบ้านประสานเสียงคัดค้านสนามบินนครปฐม กระทบชีวิตความเป็นอยู่ เหตุเป็นพื้นที่เกษตร ห่วงสร้างมลพิษทางเสียง เผยค่าที่ดินพุ่ง 100% จากไร่ละ1 ล้านบาทเป็น 2-5 ล้านบาท หลังเป็นข่าว
ชาวบ้านประสานเสียงคัดค้านสนามบินนครปฐม กระทบชีวิตความเป็นอยู่ เหตุเป็นพื้นที่เกษตร ห่วงสร้างมลพิษทางเสียง เผยค่าที่ดินพุ่ง 100% จากไร่ละ1 ล้านบาทเป็น 2-5 ล้านบาท
นายสุโข เพ็ชรเกษม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า การก่อสร้างสนามบินนครปฐม ในพื้นที่บางเลนเชื่อมต่อกับนครชัยศรีนั้น ชาวบ้านยืนยันคัดค้าน เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ จะได้รับผลกระทบมลพิษที่เกิดจากเสียงและของเสียต่างๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน อีกทั้งที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการสนามบินดังกล่าวว่า หากมีการก่อสร้างแล้ว ประชาชนจะได้รับผลอะไร และหากมีปัญหาผลกระทบต่างๆ เกิดขึ้น จะมีการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่แห่งนี้ เพราะเป็นพื้นที่ซับน้ำ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองหลวง ในยามที่น้ำท่วมจะสูญเสียพื้นที่แก้มลิงของกรุงเทพแห่งนี้ไป ประกอบกับส่งผลถึงปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำท่าจีนที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่บางเลนไปจนถึงปากอ่าวทะเลที่มหาชัย ขณะเดียวกันยังกระทบการท่องเที่ยวชุมชนโดยรอบอีกด้วย
อย่างไรก็ตามพบว่าตั้งแต่โครงการเริ่มประกาศตัวอย่างชัดเจนนั้นส่งผลให้ราคาพื้นที่โดยรอบพุ่งขึ้นไปมากกว่า 100% จากราคา 1 ล้านบาทต่อไร่ เป็น 2 ล้านบาทต่อไร่ และเพิ่มสูงถึง 5 ล้านบาทต่อไร่ บริเวณพื้นที่ติดริมแม่น้ำ นอกจากนี้ยังได้ข่าวว่ามีนายทุนบางส่วนเริ่มเข้ามากว้านซื้อพื้นที่โดยรอบสนามบินไปแล้วด้วย
“เราไม่ได้คิดจะทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดที่เราตั้งรกรากตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เป็นที่ดินเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุนทรภู่ ย้อนหลังกลับไป 100-200 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 การย้ายออกจากพื้นที่กระทบกับอาชีพและการใช้ชีวิต การไปอยู่ที่ใหม่ไม่ใช่การปรับตัวง่ายๆสำหรับชาวบ้าน ตั้งแต่รู้ข่าวเรื่องการจะเวนคืนพื้นที่ ชาวบ้านที่นี่เครียดมากถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระทบกับวิถีชาวบ้านโดยตรง ถ้าย้ายไปไกลแล้วเค้าเคยทำงานอยู่แถวนี้จะทำยังไง เขาเตรียมที่ไหนไว้ให้ ไม่มีเลย ปล่อยตามมีตามเกิด มาชี้แจงพูดแต่เรื่องของเขาอย่างเดียว ไม่มีพูดถึงสิ่งผู้ได้ผลกระทบต้องเจอเลย บางคนเป็นหนี้อยู่ก่อน ได้เงินเวนคืนมาต้องใช้หนี้เหลือเงินไม่มากจะทำยังไง ถอดบทเรียนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ยังไม่ได้ค่าเวนคืนมานานกว่า 3 ปี ต้องย้ายไปไกลถิ่นที่ทำมาหากิน เด็กๆต้องย้ายโรงเรียน รัฐบาลมองแต่ผลประโยชน์รุ่นลูกรุ่นหลานของเขา แต่ไม่ถึงลูกหลานของชาวบ้าน”นายสุโขกล่าว
ด้านนายหรรษา ประกอบบุญ ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ผลกระทบในเชิงจิตใจของชาวบ้านนั้นจะอยู่ที่เรื่องความเลื่อมใสศรัทธา เพราะการสร้างสนามบินผูกเงื่อนไขห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกส้รางที่มีความสูงเกิน 12 เมตร ทว่าที่นี่มีพระที่ชาวบ้านนับถือองค์ใหญ่ คือหลวงพ่อสมหวัง สูง 40 เมตร และยังมี รูปปั้นองค์เจ้าแม่กวนอิมวัดศรีมหาโพ สูง 15 เมตร เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนต่อชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาและภาคการท่องเที่ยวชุมชนในอำเภอ นครชัยศรี เด็กนักเรียนในโรงเรียน 5-6 แห่งโดยรอบจะใช้ชีวิตอย่างไร หากต้องมีมลภาวะทางเสียงทั้งวันทั้งคืน
ขณะเดียวกันยังกลัวว่าหากก่อสร้างไปแล้วล้มเหลวไม่เป็นอย่างที่คิด ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นที่สนามบินร้างหลายแห่งในเมืองไทยที่เวนคืนพื้นที่ไปแต่กลับไม่มีการใช้งาน แบบนั้นจะยิ่งกระทบกระเทือนต่อจิตใจของชาวบ้านมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามชาวบ้านปัจจุบันไม่ได้โง่ เพราะสามารถเช็คข้อมูลข่าวจากโลกออนไลน์ได้
ขณะที่นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม นายกชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน กล่าวว่าหลังจากนี้ชาวบ้านจะต่อสู้กันอย่างเป็นระบบโดยใช้แนวทางการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)เป็นหนทางเดียวที่จะต่อสู้กับอำนาจของภาครัฐ เนื่องจากการต่อสู้เหตุผลด้านวิศวกรรมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่การต่อสู้ในเหตุผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักถึง โดยจะมีการรวมกลุ่มนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ เข้ามาประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของที่นี หากพบว่ามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท การนำพื้นที่ไปก่อสร้างสนามบินที่มีกำไรปีละ 300-400 ล้านบาทคงไม่คุ้มค่า พร้อมกันนี้จะประสานใกล้ชิดกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายณัฐวัฒน์ กล่าวต่อว่า แต่ถ้าหากสู้ไมได้แล้วจำเป็นต้องก่อสร้างจริง จะยื่นเรื่องเสนอรัฐบาลให้เพิ่มค่าชดเชยให้ชาวบ้านนอกจากค่าเวนคืน วึ่งต้องมีทั้งค่าเสียโอกาสในการทำมาหากิน ต้องจ่ายเงินให้เปล่ากับผู้ที่ต้องย้ายถิ่นฐานในช่วง 5 ปีแรก เพื่อให้ชาวบ้านตั้งตัวใหม่ได้ รวมถึงกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และจะขอให้รัฐบาลดำเนินการหาพื้นที่ใหม่ไว้รองรับด้วย โดยผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้คือเอกชนที่เข้ามาลงทุนพัฒนาสนามบินเพราะถือว่าเขาเข้ามาสร้างกำไรมหาศาลเชิงธุรกิจ แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่รับข้อเสนอก็จะมีการเดินขบวนไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาลและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี
สำหรับโครงการสนามบินใหม่ เป็นนโยบายของกรมท่าอากาศยาน(ทย.)จะใช้พื้นที่ 3,500 ไร่ บริเวณรอยต่อ 2 อำเภอ ของจังหวัดนครปฐม คือ ช่วงด้านใต้ของอำเภอ บางเลน และด้านเหนือของอำเภอ นครชัยศรี ใช้เงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสารในปีแรกจะอยู่ที่มากกว่า 1 ล้านคน/ปี ศักยภาพเทียบเท่ากับสนามบินหลักในภูมิภาคอาทิ สนามบินขอนแก่น และสนามบินสุราษฎร์ธานี