คว่ำประมูลไฮสปีด 3 เส้นทาง หลังเอกชนเมินลงทุน มุ่งโฟกัสสายอีสานร่วมทุนไทย-จีน
รัฐบาลพับแผนลงทุนไฮสปีด 3 เส้นทาง ไร้เอกชนร่วมลงทุน เส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่ชะงักเหตุญี่ปุ่นเมิน ขอลุยไฮสปีดเชื่อมจีนแทน ตั้งเป้าเปิดใช้แล่นฉิวกรุงเทพ-หนองคาย ภายในปี 2568
รัฐบาลพับแผนลงทุนไฮสปีด 3 เส้นทาง ไร้เอกชนร่วมลงทุน เส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่ชะงักเหตุญี่ปุ่นเมิน ขอลุยไฮสปีดเชื่อมจีนแทน ตั้งเป้าเปิดใช้แล่นฉิวกรุงเทพ-หนองคาย ภายในปี 2568
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แผนแม่บทลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอที่ประชุมในรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) นั้นไม่มีแผนพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เส้นทางสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ โครงการรถไฟไฮสปีดสายเหนือช่วง กรุงเทพ -พิษณุโลก-เชียงใหม่ และ สายใต้ช่วงกรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนเพื่อเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ซึ่งมีข้อกังวลว่าเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงด้วยระยะทางที่ไกลกว่า 600 กิโลเมตร(กม.) อาจไม่มีเอกชนสนใจร่วมลงทุนและมีแนวโน้มที่จะไม่คุ้มค่าเท่าการพัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ที่เริ่มก่อสร้าง โดยมีกำหนดเปิดใช้ในปี 2565-2566
แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า โครงการรถไฟไฮสปีดสายเหนือช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ นั้นแม้จะมีการศึกษาเสร็จแล้ว แต่รัฐบาลจะไม่ทำการลงทุนก่อสร้างหากทางฝ่ายญี่ปุ่นไม่ร่วมลงทุน เนื่องจากต้องการเงินช่วยสมทบในการก่อสร้างและต้องการองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาถ่ายทอดให้คนไทย อีกทั้งเป็นการลดภาระจำนวนหนี้สาธารณะของประเทศ
อย่างไรก็ตามการเจรจาที่ผ่านมาฝ่ายญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธการร่วมลงทุน เพราะญี่ปุ่นยังไม่เคยทำการร่วมลงทุนพัฒนารถไฟไฮสปีดกับประเทศใดเลย ดังนั้นจึงต้องพยายามเจรจาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้โครงการรถไฟไฮสปีดสายตะวันออก เฟส 2 ช่วงระยอง-ตราดนั้น ก็จะไม่มีการลงทุนเช่นกันหากยังไม่มีต่างชาติมาร่วมลงทุนด้วยหรือเอกชนในไทยไม่สนใจร่วมทุนโครงการในระยะที่ 2
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายไปที่การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนสายอีสาน ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านและเชื่อมเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI : Belt and Road Initiative) กับประเทศจีน เนื่องจากเส้นทางไฮสปีดจีน-ลาว ใกล้แล้วเสร็จดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งพัฒนาไปให้ถึง จ.หนองคาย ขณะนี้เฟสแรกช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เริ่มก่อสร้างไปแล้ว จะเปิดบริการในปี 2565-2566 ดังนั้นจะเฟสสองช่วง นครราชสีมา-หนองคาย จะต้องเปิดบริการไม่เกิน 2 ปี หรือในปี 2567-2568 หลังเปิดบริการเฟสแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการในเส้นทางเฟส 2 ซึ่งต้องเร่งผลักดันให้เปิดใช้ได้ตามแผนที่กำหนด
“การพัฒนารถไฟความเร็วสูงนั้นต้องคำนึงถึงการพัฒนาเมืองตามรายเส้นทางให้มีศักยภาพสูงสุด เช่นเดียวกับปริมาณผู้โดยสารที่จะคุ้มค่ากับโครงการ ซึ่งไฮสปีดสายเหนือพบว่าผู้โดยสารที่ประเมินมีจำนวนไม่มาก”นายชยธรรม์กล่าว