หักดิบทำแท้งLTFใหม่ รีดเงินภาษีคนรวยคืนหมื่นล้าน
การตั้งกองทุน SSF ถือเป็นการปิดฉากกองทุน LTF อย่างสิ้นเชิง ไม่มีภาคต่ออย่างที่ผู้บริหารและนักลงทุนในตลาดทุนคาดหวัง
การตั้งกองทุน SSF ถือเป็นการปิดฉากกองทุน LTF อย่างสิ้นเชิง ไม่มีภาคต่ออย่างที่ผู้บริหารและนักลงทุนในตลาดทุนคาดหวัง
.....................................
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
ไม่เป็นเรื่องแปลก เมื่อทันทีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) (กองทุน SSF) ที่จะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่นักลงทุนสามารถนำไปเป็นรายจ่ายลดหย่อนภาษีได้ปีละ 5 แสนบาท และจะสิ้นสุดปี 2562 นี้ ทำให้ผู้บริหารและนักลงทุนในตลาดทุนผิดหวังอย่างหนักชนิดพูดไม่ออกบอกไม่ถูกไปตามๆ กัน
เหตุผลสำคัญ กองทุน SSF ไม่สามารถแทนรับไม้ต่อจากกองทุน LTF ได้อย่างสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนให้หักลดหย่อนภาษีได้ กองทุน LTF ให้หักลดหย่อนภาษีได้เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น แต่กองทุน SSF ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวในตลาดทุนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้เงื่อนไขการลงทุนของกองทุน SSF ก็ต่างจากกองทุน LTF อย่างสิ้นเชิงเทียบกันไม่ได้ หรือ พูดง่ายๆ ไม่มีความน่าสนใจดึงดูดให้ลงทุนเหมือนกองทุน LTF
หากย้อนไปดูกองทุน LTF ล่าสุด ให้นำรายจ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายการที่แยกออกมาต่างหากไม่ต้องไปรวมกับรายการหักลดหย่อนภาษีอื่น ไม่ว่า จะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเกษียณอายุ (RMF) ที่หักได้อีก 15% ของเงินได้ และปีละไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ การหักลดหย่อนซื้อประกันที่หักได้อีกปีละ 1-2 แสนบาท
นอกจากนี้ LTF ยังบังคับให้ถือหน่วยลงทุนแค่ 5 ปี ทำให้ปีที่ 6 นักลงทุนก็สามารถขายหน่วยลงทุนเพื่อมาซื้อหน่วยลงทุน LTF ใหม่ เพื่อทำการหักลดหย่อนภาษี โดยที่ไม่ต้องควักเงินก้อนใหม่เพิ่มจากกระเป๋า
เมื่อมาดูเงินไขของกองทุน SSF มีการขยายให้ซื้อหน่วยลงทุนได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี และต้องถือหน่วยลงทุนยาวถึง 10 ปี และเมื่อนำไปร่วมกับการหักลดหย่อนจากการซื้อหน่วยลงทุนกองทุน RMF ประกันชีวิต และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ซึ่งเป็นการบีบให้ลงทุนหักลดหย่อนภาษีได้น้อยลงไปอีก
จากเงื่อนไขใหม่ เรียกได้สิทธิประโยชน์ของกองทุน SSF ต่างกันราวฟ้ากับดิน เมื่อเทียบกับกองทุน LTF เดิม จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้บริหารตลาดทุนและนักลงทุน รุมสวดยับรัฐบาลและกระทรวงการคลังที่ไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในตลาดทุน
นอกจากนี้ สิทธิ์ประโยชน์ของกองทุน SSF ยังไม่ได้สนใจข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ที่เสนอให้จัดตั้งกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) เพื่อทดแทนกองทุนรวม LTF โดยเสนอให้พบกันครึ่งทาง คือจากหักลดหย่อนได้ 5 แสนบาท ก็ให้หักลดหย่อนได้ 2.5 แสนบาท สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยให้เพิ่มสัดสัดส่วนการลดหย่อนภาษีจาก 15% เป็น 30% ของเงินได้ ซึ่งไม่นำไปรวมกับการหักลดหย่อนอื่น โดยการถือหน่วยลงทุนยังคงไว้ 5 ปีเหมือนเดิม แต่สุดท้ายข้อเสนอดังกล่าวก็แถบไม่ได้รับการพิจารณาเลย
เมื่อมามองในแง่มุมของรัฐบาล หรือ กระทรวงการคลัง ก็มีเหตุผลหลายอย่างที่ยอมหักดิบทำแท้งไม่ให้กองทุน LTF ใหม่มาแทนกองทุน LTF เก่า ที่จะสิ้นสุดในไม่กี่วันนี้
ประการแรกหนีไม่พ้นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2557 ที่ตอนนั้นยังนั่งเป็นประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงตำแหน่งเดียว ว่าจะยกเลิกการลดหย่อนภาษีคนรวม ซึ่ง LTF เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น
แต่เมื่อมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ควบ ตำแหน่ง คสช. พล.อ.ประยุทธ์ กลับทำไม่ได้ตามพูด เพราะในช่วงนั้นมีการขยายเวลาอายุกองทุน LTF เพิ่มมาให้ถึงสิ้่นปี 2562 แต่มีการประเงื่อนไขจากต้องถือครอง 5 ปีปฏิทิน มาเป็น 7 ปีปฏิทิน เพื่อให้มีการถือหน่วยลงทุนเต็ม 5 ปีจริง ไม่ใช่ถือแค่ 3 ปี ก็ขายหน่วยลงทุนเอาเงินมาหมุนซื้อหักลดหย่อยภาษีใหม่ได้
ประการสำคัญที่สุดต่อมา คือ เรื่องการของการสูญเสียเงินภาษี จากข้อมูลของกรมสรรพากรพบว่า มีผลใช้สิทธิ์หักลดหย่อนจากการซื้อหน่วยลงทุน LTF ปีละ 4 แสนคน สูญเงินภาษีปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท กองทุน LTF ตั้งมากกว่า 10 ปี ทำให้รัฐบาลต้องสูญเงินภาษีไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท
ดังนั้น เมื่อกองทุน LTF ต้องปิดฉากในสิ้นปี 2562 นี้ ก็เท่ากับว่า กรมสรรพกรหรือรัฐบาลจะได้เงินภาษีเพิ่มกลับมาปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเป้าหมายของการเก็บภาษีของกรมสรรพากรปีละ 2 ล้านล้านบาท อาจจะดูไม่มาก
แต่เมื่อไปเทียบกับสถานการณ์การเก็บรายได้ของกรมสรรพากรที่ต่ำกว่าเป้าหมายมากกว่า 5 ปี เพิ่งมาเก็บได้เกินเป้าหมายอีกครั้งในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมาเล็กน้อย และเป้าหมายการเก็บภาษีในปี 2563 ที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษี อุดรูรั่ว ตัดค่าลดหย่อนที่ไม่จำเป็นทำให้สูญเงินภาษี ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2563 ได้ตามเป้าหมาย
ดังนั้น เมื่อมองในแง่ของกรมสรรพากร หรือ กระทรวงการคลัง หรือ รัฐบาล การหักดิบทำแท้งกองทุน LTF ใหม่ มีความจำเป็นทั้งเพื่อรีดภาษีคนรวยคืนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้ได้ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้หลายปีก่อนแต่ทำไม่สำเร็จสักทีจนถึงวันนี้