posttoday

5G เปิดโลกสังคมดิจิทัล เน็ตดาวเทียมไร้พรมแดน

19 พฤศจิกายน 2563

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่กำลังก้าวสู่เทคโนโลยี 5G (5thGeneration of Cellular Mobile Communications) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะใช้เปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง

ปัจจุบันไทยมีอัตราครัวเรือนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วประมาณ 45% และในแต่ละปีจำเป็นต้องขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในยุคของ5 G การสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นโครงสร้างโทรคมนาคมพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล

โดย 5G จะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมกันและส่งข้อมูลด้วยความเร็วผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วมากกว่า 30 Gbps และมีความหน่วงในการรับส่งข้อมูล (Latency) 0.001 วินาที โดยที่ Latency เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างกันผ่านโครงขายอินเทอร์เน็ตมีความเสถียร ไหลลื่น และไม่กระตุก

นอกจากนี้เทคโนโลยี 5G จะนำไปสู่การเชื่อมต่อกันในทุกสรรพสิ่งที่เรียกว่า Internet of Things(IoT) โดยทุกสิ่งเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและมีการส่งข้อมูลเชื่อมกันตลอดเวลา

อย่างกรณีกิจกรรมที่ใช้ IoT เป็นการสนับสนุนการให้บริการทางการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Telemedicine) การก่อให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกในการใช้ชีวิตโดยการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม และรถไร้คนขับ เป็นต้น

5G เปิดโลกสังคมดิจิทัล เน็ตดาวเทียมไร้พรมแดน

อย่างไรก็ตามการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่าย 5G การให้บริการ IoT รวมถึง Cloud Computing นอกจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน และการลากสายใยแก้วนำแสงผ่านท้องทะเล (submarine cable) แล้ว ยังมีการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม 

5G เปิดโลกสังคมดิจิทัล เน็ตดาวเทียมไร้พรมแดน

ปัจจุบันมีการพัฒนาศักยภาพของดาวเทียมสื่อสารให้มีความสามารถในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อรองรับการให้บริการ IoT และ Cloud Computing โดยใช้วิธีปล่อยกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็ก (Small Satellite Constellations) ไปวาง ณ ตำแหน่งวงโคจรระดับ LEO (Low Earth Orbit: วงโคจรระยะต่ำ อยู่สูงจากพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร) เพื่อมุ่งหวังให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการวางโครงข่าย 5G  ภาคพื้นดินให้มีความครอบคลุมทั้งในพื้นที่ตัวเมือง พื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ที่สัญญาณภาคพื้นดินไม่สามารถเชื่อมต่อได้ และมุ่งให้บริการ IoT และ Cloud Computing

สำหรับศักยภาพของดาวเทียมสื่อสารโดยใช้ระบบดาวเทียมของกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว 50 -150 Mbps และความมีหน่วงเวลา 0.02 – 0.04 วินาที

ล่าสุดระบบดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX ได้ปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กจำนวน 895 ดวงเข้าสู่วงโคจร พร้อมทดลองให้บริการในประเทศสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย โดยได้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการดาวเทียมอินเทอร์เน็ต (Satellite Internet Services) ทั้งในสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย โดยในส่วนของประเทศแคนาดา และออสเตรเลียเป็นการขอรับอนุญาตให้บริการดาวเทียมต่างชาติเพื่อให้บริการในประเทศ โดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ 

5G เปิดโลกสังคมดิจิทัล เน็ตดาวเทียมไร้พรมแดน

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)มองเห็นการเติบโตของระบบดาวเทียมของกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้บริการโทรคมนาคม   โดยเฉพาะดาวเทียมอินเตอร์เน็ต ที่จะทำให้การสื่อสารของคนไทยไร้พรมแดนในอนาคตด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในราคาที่ถูกลง และผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถลงทุนวางโครงข่ายในราคาที่ลดลงเช่นกัน ซึ่งจะส่งศักยภาพการให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียรเพิ่มมากขึ้น   ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องของเครือข่ายสัญญาณการให้บริการไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ ทั้งยังไม่มีความเสถียรเพียงพอ

ทั้งนี้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development)  ได้จัดทำรายงาน เรื่อง The Space Economy in Figures  ระบุว่า ดาวเทียมอินเทอร์เน็ตจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2566 - 2567 โดยระบบดาวเทียมของกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะเดียวกันยังเป็นโครงข่ายหลักในการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ต (Backbone Network Interconnection)  โดยระบบดาวเทียมของกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กจะมีผู้ให้บริการหลากหลายและมีการแข่งขันเชิงพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น

ในต่างประเทศมีตัวอย่างผู้ประกอบการที่ลงทุนและวางแผนให้บริการดาวเทียมขนาดเล็ก ประกอบด้วย บริษัท SpaceX ของประเทศสหรัฐ ให้บริการระบบดาวเทียม Starlink   บริษัท Amazon ของสหรัฐ ให้บริการระบบดาวเทียม Kulper Project 

บริษัท Commsat ของประเทศจีน ให้บริการระบบ Commsat  บริษัท SES Networks ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้บริการระบบดาวเทียม O3b Networks และบริษัท OneWeb ของประเทศอเมริกาและอังกฤษ ให้บริการระบบดาวเทียม OneWeb

จากข้อมูลข้างต้นสามารถคาดการณ์ได้ว่า ดาวเทียมอินเทอร์เน็ตจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและวางโครงข่ายเทคโนโลยี 5G พร้อมทั้งสามารถให้บริการด้าน IoT และ Cloud Computing โดยใช้ระบบดาวเทียมขนาดเล็ก

5G เปิดโลกสังคมดิจิทัล เน็ตดาวเทียมไร้พรมแดน

ในส่วนของประเทศไทยแม้ยังไม่มีการพัฒนาหรือมีผู้ประกอบการในตลาดดาวเทียมกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็ก แต่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเพื่อให้บริการในประเทศ สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ มีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานดาวเทียมต่างชาติ โดยประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง และส่งเสริมการแข่งขันของอุตสาหกรรมดาวเทียม พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยี 5G ในอนาคต

โดย อาภาวดี  นันตรี 

สำนักกิจการดาวเทียมสื่อสาร สำนักงาน กสทช.