กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่างกฎกระทรวงใหม่ 5 ฉบับ จุดเด่นเงินสมาขิกต้องเหลือใช้อีก 30% หลังหักหนี้
กสส.เผยร่างกฎกระทรวงใหม่ กำหนดเงินคงเหลือหลังหักหนี้30% เพื่อให้สมาชิกเหลือเงินยังชีพเพียงพอ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสมาชิกสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับซึ่งจะออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยสาระสำคัญหนึ่งคือการ กำหนดให้การให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกต้องไม่กำหนดงวดชำระหนี้ยาวเกินไป และสมาชิกจะต้องมีเงินได้คงเหลือหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกมีเงินเหลือต่อเดือนเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
"การกำหนดการหักหนี้ต้องเหลือเงินไม่น้อยกว่า 30 % เพื่อให้พี่น้องชาวสหกรณ์มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับกินใช้ในแต่ละเดือน เพราะต้องยอมรับว่าก่อนหน้านั้นบางสหกรณ์มีการหักหนี้จากสมาชิกจนแทบไม่เหลือเงินรายเดือนไว้ใช้ ต้องไปกู้หนี้นอกระบบกลายเป็นการเพิ่มภาระครัวเรือนเข้าไปอีก นอกจากนั้นการให้คงเหลือเงิน 30% ยังสอดคล้องกับระเบียบต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการด้วย หรือแม้แต่การบังคับคดี ก็ยังต้องให้ลูกหนี้เหลือเงินใช้ไม่ต่ำกว่า2หมื่นบาทต่อเดือน ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นการช่วยสมาชิก ไม่ใช่เป็นการซ้ำเติมสมาชิก" นายวิศิษฐ์กล่าว
สำหรับพระราชบัญญัติสหกรณ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562เป็นพรบ.ที่มีการปรับปรุงให้สอดรับกับรูปแบบธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไป เพื่อป้องความเสี่ยงด้านต่างๆของสหกรณ์ ไม่ให้เกิดความเสียหายในสหกรณ์เช่นกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนบางแห่งและเพื่อป้องกันสหกรณ์ต่างๆไม่ให้มีการกำหนดรูปแบบธุรกรรมจูงใจสมาชิก หรือผ่อนปรนงวดเงินกู้นานเกินกว่าปกติของระบบการเงินจนนำมาสู่ภาระหนี้สินล้นพ้นตัว อย่างไรก็ตามกรมพร้อมชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับสมาชิกสหกรณ์ทุกประเด็น
ทั้งนี้ แนวทางในการกำหนดกฎกระทรวงได้ถือปฏิบัติเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 โดยการเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่าย และส่วนราชการได้คำนึงถึงการให้โอกาสสหกรณ์ในการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ ดังนั้นในร่างกฎกระทรวง จึงได้มีการกำหนดระยะเวลาให้สหกรณ์ปรับตัวไว้ในบทเฉพาะกาล โดยบางกรณีให้เวลาถึง10 ปี