posttoday

ไฟเขียวแผนการคลังระยะกลาง4ปี กู้อีก2.8ล้านล้านบาท

22 ธันวาคม 2563

อนุมัติแผนการคลังระยะกลาง 4 ปี กู้ขาดชดเชยขาดดุลปีละ 7 แสนล้าน รวมกู้ 2.8 ล้านล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2565 – 2568 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยระยะยาวรัฐบาลยังมีเป้าหมายทำงบประมาณแบบสมดุล โดยลดการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ จีดีพี ปี 2565 ขยายตัว 3-4% ประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 57.6% ต่อจีดีพี

ปีงบประมาณ 2566 คาดการณ์จีดีพี 2.7-3.7% ประมาณการรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณที่ 7.1 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง 58.6% ต่อจีดีพี

ปีงบประมาณ 2567 คาดการณ์จีดีพี 2.9-3.9% ประมาณการรายได้สุทธิ 2.61 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่าย อยู่ที่ 3.31 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 6.9 แสนล้านบาท ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 59% ต่อจีดีพี

ปีงบประมาณ 2568 คาดการณ์จีดีพีขยายตัว 3.2-4.2% ประมาณการรายได้สุทธิ 2.75 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่าย 3.42 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณที่ 6.69 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 58.7% ต่อจีดีดี

ทั้งนี้ ประมาณการรายได้สุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (อี-เซอร์วิส), รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)

ขณะที่ประมาณการรายจ่าย อยู่ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2-3.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วน 2.5-4% ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% เป็นต้น

โดยเป้าหมายและนโยบายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

นายอนุชา กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย

1. Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้

2. Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และ 3.Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนด้วย