'บีโอไอ'ประคองลงทุนปี'64 ดันไม่ต่ำกว่า4-5 แสนล.
บีโอไอ ปักธงปี'64 หนุนลงทุนอุตฯการแพทย์ -ดิจิทัล, BCG หลังสัญญาณดี ขณะที่ยอดขอลงทุนปีก่อน แตะ 4.8 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังครองแชมป์ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุดทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน
น.ส.นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 บีโอไอมีแนวทางส่งเสริมในกิจการที่ไทยมีศักยภาพ มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยยังคงขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างของภาคการผลิตและบริการ เช่น อุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG การแพทย์ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดิจิทัล บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ
"ในปีนี้ยังไม่กำหนดเป้าหมายการลงทุนเนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆที่ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้อีกมาก แต่จะพยายามรักษาระดับการลงทุนให้ใกล้เคียงกับปี 2563 ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดขอลงทุนบีโอไอ อยู่ในระดับ 4-5 แสนล้านบาท ต่อปี" น.ส.ดวงใจ กล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีกร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ไม่รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด SET หรือ mai อยู่แล้ว ก่อนวันที่มาตรการนี้มีผลใช้บังคับ โดยสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565
สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 2563 ที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,717 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 230,740 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 50,300 ล้านบาท 2. การเกษตร และแปรรูปอาหาร 41,140 ล้านบาท 3. ยานยนต์ และชิ้นส่วน 37,780 ล้านบาท 4. ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 36,020 ล้านบาท และ 5. เทคโนโลยีชีวภาพ 30,060 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่น่าจับตา ซึ่งคำขอรับการส่งเสริมตลอดปีมีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน โดยมีจำนวน 83 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 177 ขณะที่มูลค่าลงทุนรวม 22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 165
การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แม้ในภาพรวมการลงทุนจะชะลอตัว แต่ก็มีบางธุรกิจที่สามารถขยายตัวจากวิกฤตครั้งนี้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งคำขอรับการส่งเสริมตลอดปี มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกิจการในกลุ่มของหน้ากากอนามัย และถุงมือยางทางการแพทย์
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 907 โครงการ มูลค่าลงทุน 213,162 ล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุดทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าลงทุน จำนวน 211 โครงการ มูลค่าลงทุน 75,946 ล้านบาท ตามด้วยประเทศจีน มูลค่าลงทุน 31,465 ล้านบาท และสหรัฐฯ มูลค่าลงทุน 24,555 ล้านบาท โดยจุดแข็งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียคือ การมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน วัตถุดิบและชิ้นส่วน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ Business Conditions of Japanese Companies in Asia and Oceania ของ JETRO ปี 2562 ที่พบว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย ใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศไทยในระดับสูงกว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ขณะที่คำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) มีจำนวน 453 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 208,720 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในปี 2563 มีสัญญาณที่ดีจากการลงทุนที่เป็นกิจการ SMEs โดยมีจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 มูลค่าลงทุน 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผ้า หรือเส้นใยชนิดต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการสูงขึ้นมาก ประกอบกับบีโอไอให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19