หนี้ครัวเรือนพุ่งทะลุ14ล้านล้านบาท คนจนเงินขาดมือมากขึ้น
หนี้ครัวเรือนพุ่งทะลุ14 ล้านล้านบาท ควักเงินฝากก้อนสุดท้ายใช้จนหมด สวนทางคนรวยมีเงินฝาก 100 ล้าน เพิ่มมากขึ้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาสสี่ ปี 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว
หนี้สินครัวเรือนไตรมาสสี่ ปี 2563 เป็นสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากร้อยละ 5.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา ด้านสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจขยายตัวร้อยละ 3.6 ขณะที่สินเชื่อเพื่อยานยนต์ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 2.7
ส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นชะลอตัวลงร้อยละ 5.2 จากร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอตัวลง และสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลง จากกําลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงจากผลกระทบของ COVID-19
ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่สัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนยังอยู่ในระดับสูง ในไตรมาสสี่ ปี 2563 สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)ต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ร้อยละ 2.84 ลดลงจากร้อยละ 2.91 ในไตรมาสก่อน จากการดําเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อค้างชําระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมถึงร้อยละ 6.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนว่าความสามารถในการชําระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มด้อยลง และมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อน COVID-19 โดย สศช. คาดการณ์ว่าในปี 2564 GDP จะขยายตัวระหว่างร้อยละ 1.5 ถึง 2.5 จากการหดตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ทําให้ชั่วโมงการทํางานลดลงต่อเนื่อง และยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทําให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้นโดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ดังจะเห็นได้จากเงินฝากต่อบัญชีหลังการระบาดของ COVID-19 ระลอกแรก (มีนาคม 2563) ที่พบว่า บัญชีที่มีมูลค่าต่ํากว่า 100,000 บาท ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนรายได้น้อยอาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์ดังกล่าวทําให้ในปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ได้แก่ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ซึ่งมีมูลค่าสูงอาจมีการชะลอออกไป ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อชะลอตัวลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ําสําหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ที่ส่งเสริมการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น
ดังนั้น จึงจําเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ และเฝ้าระวังปัญหาการผิดนัดชําระหนี้ และการก่อหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ได้ในระดับเดิม