แบงก์รัฐจัดหนักพักหนี้ชุดใหญ่ช่วยลูกค้าเจอพิษโควิด
ตรวจมาตรการช่วยเหลือแบงก์รัฐ จัดหนักช่วยลูกค้าเจอพิษโควิด ทั้งพักหนี้ยาวถึงสิ้นปี และเติมเงินสภาพคล่อง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกร และการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบSMEs ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในภาคส่วนอื่นประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ
1) รับทราบผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions: SFIs)
2) เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลาการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่าน SFIs
1.1 มาตรการพักชำระหนี้ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564 SFIs ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการพักชำระหนี้ ด้วยการพักชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย และ/หรือ ลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้แล้ว รวมทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้ขอให้ SFIs ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
1.2 มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ นอกจากมาตรการพักชำระหนี้แล้ว ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) และมาตรการสินเชื่อของ SFIs อีกหลายมาตรการที่ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ ประชาชนทั่วไป ธุรกิจรายย่อย SMEs โดยครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
2. การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
2.1 ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี โดยขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
2.2 ปรับปรุงการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาทของธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี โดยขยายระยะเวลากู้จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
2.3 ขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ของธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการ ที่ใช้หลักประกันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและไม่ต้องผ่านการตรวจเครดิตบูโรวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 0.99 และ 5.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น พร้อมทั้งขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางส่วนขาดรายได้และไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมของตนเองได้ ธ.ก.ส. จึงได้เปิดตัวสินเชื่อใหม่ เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนเมืองและภาคชนบท ผ่านโครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท โดยคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นเกษตรกร ทายาทเกษตรกร บุคคลในครัวเรือนเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ที่มีแผนในการประกอบอาชีพเกษตรหรือ ประกอบการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรืออาชีพนอกภาคการเกษตร หรืออาชีพที่มีลักษณะเป็นการลงทุนค้าขายเพื่อเลี้ยงชีพในครัวเรือนซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มากนัก วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย กรณีกู้เป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุนปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 4 - 5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.5 ต่อปี) กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังมีโครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่มีแนวคิดในการประกอบอาชีพการเกษตรหรือนอกภาคการเกษตรที่ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ในลักษณะ Smart Farmer โดยนำเอาความรู้ ความสามารถ ทักษะแนวคิดและวิธีการ เทคโนโลยีเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนภูมิปัญญาชาวบ้าน มาใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรหรือนอกภาคการเกษตร หรือต่อยอดธุรกิจที่ดำเนินการอยู่เดิม เป็นการสร้างรายได้ หรือฟื้นฟูธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไป ที่มีการจัดทำแผนงานหรือแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีทักษะและประสบการณ์ในการประกอบอาชีพนั้น ๆ รวมถึงมีแนวคิดในการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีหรือได้รับการศึกษา หรือฝึกอบรมจากส่วนงานทั้งของภาครัฐหรือเอกชน วงเงินให้กู้ตามความจำเป็นตามแผนการประกอบอาชีพหรือแผนธุรกิจ
โดยกรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุน ปีที่ 1-3 อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 4 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.5 ต่อปี) กำหนดระยะเวลาชำระคืน ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระ ต้นเงิน 3 ปีแรก แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ย
นายธนารัตน์ กล่าวว่า ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ทั้ง 2 โครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2567 และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการขอรับบริการสินเชื่อ ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อได้ผ่านช่องทาง LINE Official : BAAC Family และรับนัดหมายผ่าน SMS เพื่อจัดทำสัญญาต่อไป หรือติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ Call Center 02 555 0555
ขณะที่ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าเดิม ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือฯ ของธนาคาร ตาม “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” จำนวน 7 มาตรการ ไปสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (จากเดิมสิ้นสุดความช่วยเหลือ 31 กรกฎาคม 2564) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการรวมกว่า 143,100 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 137,260 ล้านบาท โดยเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขยายระยะเวลาความช่วยเหลือผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ได้ตั้งแต่วันที่ 1-29 กรกฎาคม 2564 (ยกเว้นมาตรการที่ 12 ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่สำนักงานใหญ่ และสาขาทั่วประเทศ) ประกอบด้วย
มาตรการที่ 9, 10, 11 และ 11 New Entry : แบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดต้น ตัดดอก) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน โดยทั้ง 4 มาตรการ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในมาตรการทั้งที่ มีสถานะบัญชีปกติ สถานะ NPL ลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้
มาตรการที่ 12 : ขยายระยะเวลาลดเงินงวดผ่อนชำระ และพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลตรายเดิมที่อยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคาร ครอบคลุมลูกค้าผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ณ วันที่ 1 มกราคม 2563)และไม่เคยเข้าร่วมมาตรการของธนาคารมาก่อน หากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ สามารถเลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระเหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน (ตัดเงินต้นและดอกเบี้ย) หรือ เลือกพักชำระหนี้ หากได้รับกระทบรุนแรงที่ไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดของกิจการ หรือไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ตามปกติ โดยสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนพฤศจิกายน 2564 และได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2564 ระยะเวลาสูงสุด 7เดือน สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานใหญ่ และสาขาทั่วประเทศ
มาตรการที่ 13 : พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) ที่อยู่ระหว่างใช้มาตรการความช่วยเหลือเดิมของธนาคาร
มาตรการที่ 14 : พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพ้นสิทธิการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้อยู่หากใช้มาตรการที่ 14 และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หรือตามคำพิพากษา
ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่มีความประสงค์เข้ามาตรการเพื่อขยายระยะเวลาความช่วยเหลือ จะต้อง Upload หลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL และ GHB Buddy ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th และภายในเดือนตุลาคม 2564 ธนาคารจะทำการสำรวจความประสงค์ของลูกค้าอีกครั้งว่ามีความพร้อมที่จะกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติหรือไม่ หรือยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้ และต้องการรับความช่วยเหลือต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center)โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 เป็นจำนวนกว่า 2,800 ราย คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยเป็น SMEs ถึงร้อยละ 85
BANK ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สอดรับกับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการของ EXIM BANK เพื่อสนับสนุนธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย
1. การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างต่อเนื่อง
2. สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการ วงเงินสูงสุด 150 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 5 ปี ฟรี! ค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ
3. สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี
4. สินเชื่อ Global อุ่นใจ วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี
5. สินเชื่อส่งออกสุข สุด สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก วงเงินสูงสุด 1.5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า มาตรการพักชำระหนี้ ให้แก่ลูกค้าของสินเชื่อธนาคาร และสินเชื่อกองทุนประชารัฐ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย โดยเริ่มให้สิทธิ์พักชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา และได้ขยายต่อเนื่อง จนปัจจุบันให้สิทธิ์พักชำระหนี้ไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยนับถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้ารับมาตรการพักชำระหนี้แล้ว แบ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประมาณ 42,000 ราย วงเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท และลูกค้ากองทุนประชารัฐ ประมาณ 3,300 ราย วงเงินประมาณ 6,400 ล้านบาท
“มาตรการเติมทุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ” เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอี มีเงินทุนไปใช้เสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษต่างๆ เช่น สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash มุ่งเป้าหมายกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปีใน 2 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ที่สำคัญ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มุ่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีในท้องถิ่น เช่น กลุ่มเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท และ สินเชื่อฟื้นฟู ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ในช่วง 6 เดือนแรก ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน เป็นต้น โดยนับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 23,000 ราย อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการอนุมัติสินเชื่อกว่า 60,000 ล้านบาท
และ “มาตรการเสริมแกร่ง” เพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีปรับตัวสู่ยุค New Normal เช่น หลักสูตรห้องเรียนออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการเข้าไปเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th โดยมี 6 หมวดหลัก : การตลาด , การบริหาร , มาตรฐานการผลิต , บัญชีและการเงิน , เทคโนโลยี-นวัตรรม และพัฒนาเข้าถึงแหล่งทุน เนื้อหากว่า 150 Content ขณะนี้ มีผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 21,000 ราย จัดกิจกรรมสัมมนาเติมความรู้ออนไลน์และออฟไลน์ต่อเนื่อง และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับ “โลตัส” เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 2564 เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีนำเสนอสินค้าต่อทีมจัดซื้อ "โลตัส" โดยตรง หากได้รับคัดเลือกจะได้สิทธิวางขายสินค้าผ่านโลตัส ทั้งสาขาทั่วประเทศและออนไลน์ ขณะนี้จัดมาแล้ว 2 ครั้ง คือเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2564 มีเอสเอ็มอีได้นำเสนอสินค้าไปแล้วกว่า 160 ราย
นางสาวนารถนารี กล่าวต่อว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย รวมถึง ธนาคารมีนโยบายมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และขานรับนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2564 ธนาคารจึงได้จัดเตรียมวงเงินไว้กว่า 75,000 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนเติมทุนเสริมสภาพคล่องและเตรียมพร้อมการฟื้นฟูธุรกิจให้เอสเอ็มอีในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ผ่านมาตรการเติมทุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษข้างต้น เช่น สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash , สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และสินเชื่อฟื้นฟู เป็นต้น อีกทั้ง เสริมด้วยมาตรการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม รองรับกรณีที่เอสเอ็มอีต้องการวงเงินสูงขึ้นถึง 15 ล้านบาทต่อราย ได้แก่ “สินเชื่อ SMEs D เติมทุน” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท รับ Re-finance ลดต้นทุนธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี “สินเชื่อ SMEs มีสุข” วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี และ “สินเชื่อ SMEs ยิ้มได้” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยเติมทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการทางการเงินลดภาระหนี้ เช่น โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” รับโอนทรัพย์ ช่วยหยุดภาระการชำระหนี้ ให้สิทธิ์ซื้อคืนในอนาคตโดยไม่ถูกกดราคา และ “รับโอนทรัพย์ ชำระหนี้” กับ “Hair Cut หนี้” เปิดรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้ามาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นต้น
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เผยผลดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-25 มิ.ย. 2564 ว่า ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวมทุกโครงการ จำนวน 103,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 107,000 ราย ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู จำนวน 35,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 9 จำนวนกว่า 50,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 4 และโครงการอื่นๆ จำนวน 6,900 ล้านบาท
สำหรับผลดำเนินงานโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟู ขณะนี้มีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการ 23 ธนาคาร อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 35,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 12,300 ราย อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดย 5 อันดับกลุ่มธุรกิจที่ บสย.ค้ำสูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ 2.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 3.การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 4.ธุรกิจยานยนต์ และ 5 ธุรกิจพักแรม
นอกจากนี้ บสย. ยังมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกค้าค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อบรรเทาภาระการผ่อนชำระ สำหรับลูกหนี้ทั่วไป ได้แก่ มาตรการผ่อนชำระน้อยตามความสามารถจริง มาตรการดอกเบี้ยต่ำเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ ชำระค่างวดเงินต้น และ กลุ่มลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหา โดยลดจำนวนเงินค่างวด พักชำระหนี้ ระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ยังได้เปิดให้บริการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน (บสย. F.A. Center) เมื่อเดือนกันยายน 2563 ตั้งอยู่ที่ ชั้น 1 อาคาร SME D Bank ถนนพหลโยธิน เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ปรึกษาทางการเงิน แก้ไขหนี้ แนะนำการเข้าถึงสินเชื่อ การให้ความรู้ด้านการเงินกับเอสเอ็มอี โดยมีผู้ประกอบธุรกิจขอรับการปรึกษาแล้วกว่า 5,300 ราย ประกอบด้วย ขอรับคำปรึกษาจำนวน 2,613 ราย และร่วมโครงการฝึกอบรม จำนวน 2,687 ราย ในจำนวนนี้เป็นการขอรับการปรึกษาแบบเชิงลึก ประมาณ 1,000 ราย โดยขอรับคำปรึกษาสูงสุด 3 เรื่อง คือ 1.ขอสินเชื่อ 695 ราย สัดส่วน 69.5% 2. ปรับโครงสร้างหนี้ 178 ราย สัดส่วน 17.8% และ 3.เพื่อพัฒนาธุรกิจ 127 ราย สัดส่วน 12.7%