พิษโควิดลามถึงตลาดขนมขบเคี้ยวปีนี้ร่วง 4.0% แนะธุรกิจเร่งบริหารจัดการต้นทุนรับวัตถุดิบราคาพุ่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวปี64 คาดหดตัว 4.0% จากภาวะเศรษฐกิจที่กระทบกำลังซื้อหดตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยข้อมูลระบุว่า ก่อนวิกฤตโควิด-19 ตลาดขนมขบเคี้ยวในไทยเริ่มมีทิศทางการเติบโตที่ชะลอตัวลง จากกระแสการบริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ ที่มุ่งไปที่การลดการบริโภคสินค้าในกลุ่มที่มีแป้ง ไขมัน โซเดียมและน้ำตาลสูง อีกทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วง 2-3 ปีมานี้ ยังไม่ฟื้นตัว สวนทางกับจำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีค่อนข้างมาก ส่งผลให้ตลาดเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงและส่วนใหญ่เน้นไปที่การแข่งขันด้านราคา ทำให้การเพิ่มยอดขายในผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญอย่างกลุ่มเด็กวัยรุ่นและผู้บริโภคในตลาดแรงงาน เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น
ขณะที่วิกฤตโควิค-19 ที่ลากยาวจากปีที่แล้วมาถึงปัจจุบัน และล่าสุดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ภาครัฐจำเป็นต้องยกกระดับมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวในพื้นที่เสี่ยง (กทม. และปริมณฑล) กระทบต่อกำลังซื้อและวิถีการใช้ชีวิตของผู้บริโภคให้จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเน้นการใช้จ่ายอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคสินค้าขนมขบเคี้ยว
เนื่องด้วยลักษณะของสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการบริโภคน้อยกว่ากลุ่มอาหารหลักอื่นๆ อาทิ ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ฯลฯ ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ส่งผลให้คนลดการทำกิจกรรมนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ยังทำให้การบริโภคที่มากับการเดินทางท่องเที่ยว สังสรรค์ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดแรงงาน (ตั้งแต่กลุ่มพนักงานออฟฟิศไปจนถึงผู้ใช้แรงงานในภาคการผลิต) ที่กำลังซื้อมีความเปราะบางสูง อีกทั้งตัวเลขการว่างงานก็ยังอยู่ในระดับสูง
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณสินค้าคงคลังในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 83.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน โดยสินค้าคงคลังปริมาณมากนั้น บ่งชี้ให้เห็นถึงภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้ ทั้งต้นทุนการเก็บรักษา การเสื่อมสภาพหรือหมดอายุของสินค้า ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากกำลังซื้อที่เปราะบางจากสถานการณ์โควิด-19 จะกดดันผู้ประกอบการขนมขบเคี้ยวแล้ว แนวโน้มราคาวัตถุดิบอาหารที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการต้องเผชิญความท้าทายด้านการบริหารต้นทุนการผลิตมากขึ้นด้วย ดังสะท้อนจากดัชนีราคาอาหารโลก (Food Price Index) โดย FAO ที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 12 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือน มิ.ย.63 จนถึงเดือน พ.ค.64 และแม้ว่าล่าสุดเดือน มิ.ย.64 ดัชนีจะเริ่มย่อลงเล็กน้อยมาที่ 124.6 แต่ก็ยังนับว่าเป็นระดับที่สูง
และเมื่อมองไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่า ราคาวัตถุดิบสำคัญในการผลิตขนมขบเคี้ยว ได้แก่ ธัญพืช (โดยเฉพาะแป้งสาลี) น้ำมันปาล์ม และน้ำตาล จะยังยืนตัวในระดับสูง ซึ่งวัตถุดิบอาหารดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยราว 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มราคาวัตถุดิบธัญพืชที่คาดว่าจะยังยืนตัวอยู่ในระดับสูง น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนมขบเคี้ยวแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ผู้ประกอบการที่ผลิตขนมขบเคี้ยวหลากหลายประเภทและเน้นไปที่กลุ่มที่ใช้ธัญพืชเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ขนมขึ้นรูป น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มมันฝรั่ง สาหร่ายปรุงรส ที่ใช้วัตถุดิบจากธัญพืชในสัดส่วนที่น้อยกว่า อีกทั้งผู้ประกอบการอาจจะต้องเผชิญกับต้นทุนค่าขนส่งที่ยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากวัตถุดิบกลุ่มธัญพืชหลักอย่างข้าวสาลี รวมถึงธัญพืชทางเลือกอื่นๆ อาทิ ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการรับคำสั่งซื้อไว้แล้ว โดยเฉพาะในกรณีที่วัตถุดิบที่ใช้ผลิตไม่ได้ถูกสต็อกไว้ รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อย ทั้งเรื่องของการปรับสูตรหรือหาวัตถุดิบทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่คือ ผู้ประกอบการ SMEs ระดับของผลกระทบจะมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่สูงกว่า ส่วนผู้ประกอบการที่ผลิตขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการวางแผนลดการซื้อวัตถุดิบให้สอดรับกับกำลังซื้ออยู่แล้ว อาจได้รับผลกระทบในระดับที่ลดน้อยลง
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากสถานการณ์โควิค-19 ในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อและต้องใช้เวลากว่าจะคลี่คลาย ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มธัญพืช น้ำมันพืช และน้ำตาล มีแนวโน้มยืนตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อาจกดดันทิศทางการเติบโตของธุรกิจขนมขบเคี้ยวในปี 2564 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 37,500 ล้านบาท หรือหดตัว 4.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัวได้ราว 2.6%
โดยเป็นผลมาจากปริมาณการบริโภคที่คาดว่าจะลดลงจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความเปราะบางด้านกำลังซื้อ ในขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ยากที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภคได้ทั้งหมด เพราะการปรับขึ้นราคาสินค้าส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการแข่งขัน
ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวไว้ และหันมาบริหารจัดการต้นทุนการผลิตทดแทน ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงและกำลังซื้อผู้บริโภคมีจำกัด กลยุทธ์ด้านการตลาดโดยเฉพาะราคายังมีความจำเป็น เพื่อกระตุ้นยอดขาย ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ตลอดจนความผันผวนของวัตถุดิบที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต จะเป็นโจทย์สำคัญต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งในช่วงที่ราคาวัตถุดิบผันผวน เช่น การวางแผนใช้วัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยเน้นไปที่กลุ่มที่ยังพอทำตลาดได้ในช่วงวิกฤต ปรับขนาดสินค้าลงเพื่อตรึงราคาไว้ หรือการปรับลดมาร์จิ้นของธุรกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถด้านการแข่งขัน ตลอดจนการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสอดรับไปกับเทรนด์การบริโภคที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบใหม่ๆ ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น การปรับลดสัดส่วนวัตถุดิบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกาย (ลดน้ำตาล โซเดียม หรือลดแป้ง/ไขมัน สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการลดแคลอรี่จากการบริโภค)