posttoday

Klook ส่อง 7 เทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่หลังโควิด

16 กันยายน 2564

Klook ชี้โควิดทำนักท่องเที่ยวพฤติกรรมเปลี่ยน ซื้อก่อนจ่ายหลังเที่ยว วิ่งเข้าหาธรรมชาติมากขึ้นเน้นความเป็นส่วนตัว เลือกทริปยาวมากกว่าระยะสั้น

รายงานข่าวจาก Klook ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยว  เปิดเผยว่า  สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อโลกมายาวนานมากกว่า 1 ปี โดยธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมาก ในปี 2564 Klook ได้ปรับตัวและเรียนรู้จนพร้อมที่จะกลับมาเดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง รวมทั้งพร้อมจะเป็นช่องทางส่งเสริม และสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง

ทั้งนี้ Klook ได้สรุปเทรนด์การท่องเที่ยวและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวและโอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวในยุคใหม่ ได้แก่1. ความคุ้มค่าและความยืดหยุ่นผลิตภัณฑ์รูปแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลังเมื่อได้ไปเที่ยวจริง” จะได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยว เพราะหลังจากที่นักท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกการใช้จ่ายย่อมต้องระมัดระวังและคุ้มค่าที่สุด เนื่องจากไม่มีใครต้องการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์หรือจ่ายเงินไปแล้วไม่สามารถเดินทางได้

ขณะเดียวกันสถานการณ์การเดินทางในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก เรื่องของความยืดหยุ่นจึงเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน หากสินค้าและบริการสามารถตอบโจทย์นี้ได้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี  

2. มองหาประสบการณ์แบบใหม่ หลีกหนีความจำเจและกิจวัตรเดิมๆ ในช่วงปลายปี 2020 พบว่านักท่องเที่ยวไทยเข้ามาค้นหาและจองกิจกรรมท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มสูงมากถึง 5 เท่า สะท้อนว่าคนไทยคิดถึงการท่องเที่ยวและพร้อมที่จะออกเดินทางแทบจะทันทีเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น  ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวมองหากิจกรรมการท่องเที่ยวที่พิเศษและแปลกใหม่สำหรับตัวเอง อาทิ กิจกรรมตกหมึกที่คาเฟ่ในพัทยา กิจกรรมดำน้ำลึกที่เกาะเต่า เป็นต้น

3. จัดทริปแบบส่วนตัวที่ต้องมาพร้อมกับการเดินทางแบบส่วนตัว หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกิจกรรม หรือเลือกที่จะเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ ไปกับเพื่อนหรือครอบครัว โดยจากสถิติการซื้อกิจกรรมท่องเที่ยวบน Klook บริการเช่ารถได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในหลายประเทศทั่วทวีปเอเชีย

4. คอนเทนต์ต้องปังและต้องมีช่องทางการติดต่อที่รวดเร็วทันใจ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2023 ประชากรชาวเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 1,600 ล้านคน จะรับข่าวสารต่างๆ ผ่าน วิดีโอคลิปบนมือถือ ซึ่งตัวเลขนี้นับว่ากระโดดสูงขึ้น 75% จากตัวเลข 1,200 ล้านคนในปี 2019 ดังนั้นผู้ให้บริการการท่องเที่ยวต้องไม่มองข้ามการทำคอนเทนต์ผ่านวิดีโอ หรือการไลฟ์สตรีมมิ่ง ควรพัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการสื่อสารกับลูกค้าและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว

5. โหยหาทริปท่องเที่ยวยาวๆ กับจุดหมายปลายทางที่ไกลๆ จากการสำรวจของ GlobalData  เมื่อสามารถเดินทางข้ามประเทศได้แล้วนั้น  22% ของนักท่องเที่ยวมองหาทริปท่องเที่ยวที่ยาวมากกว่า 10 วัน ในขณะที่ทริปท่องเที่ยวสั้นๆ 1-3 วันได้รับการสนใจเพียง 14%  6 .ตัวช่วยที่จะทำให้การเดินทางง่ายขึ้น โควิด-19 ได้สร้างข้อจำกัดและกฎระเบียบมากมายให้นักท่องเที่ยว  ดังนั้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรพิจารณานำเสนอบริการแบบครบวงจร ที่พร้อมให้บริการทุกอย่างครบจบที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาได้

และ7. มองหาทริปแบบ Slow life และเข้าหาธรรมชาติมากขึ้นเมื่อการท่องเที่ยวกลับคืนมา นักท่องเที่ยวต้องการเที่ยวแบบเนิบช้า ปล่อยใจปล่อยอารมณ์ไปกับธรรมชาติที่ห่างหายไปนาน

อย่างไรก็ตามจาก 7 เทรนด์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในอีกมุมก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปรับตัวของทุกภาคส่วน เพื่อที่จะอยู่รอดไปกับโควิด-19 หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัว และคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เชื่อว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะต้องฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง และนักท่องเที่ยวจะสามารถกลับเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยได้อย่างแน่นอน