นำเข้าข้าวสาลีแพงขึ้น จากสงครามรัสเซียยูเครน
ผู้ประกอบการไทยนำเข้าข้าวสาลีจแพงขึ้น จากสงครามรัสเซียยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลก
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม. รังสิต แสดงความเห็นว่า ผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครนทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีได้รับความเสียหาย และ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอน มองหาประเทศส่งออกมาแทนที่รัสเซียและยูเครน เนื่องจากสงครามส่งผลให้ผลผลิตติดค้างในยูเครน
ส่วนการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกทำให้การซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียทำได้ยาก สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ จะทำให้ทั่วโลกหันไปพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย เพื่อบรรเทาปัญหาดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมและวิกฤติการขาดแคลนอาหาร ความมั่นคงทางอาหารย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ขณะเดียวกัน ราคาข้าวสาลี จาก 800 ดอลลาร์ ปรับขึ้นมาเป็น 1,240 ดอลลาร์ (60%) ตอนนี้ชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ราว 1, 100 ดอลลาร์ ราคาข้าวโพดขึ้นสูงกว่า 750 ดอลลาร์ (สูงขึ้นกว่า 17%) ราคานม ราคาน้ำตาล ราคาข้าว น้ำมันคาโนลา (สำหรับปรุงอาหาร) ราคาอาหารสัตว์ ราคาเนื้อสัตว์ ล้วนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาอาหารทั่วโลกรวมทั้งไทยปรับตัวสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารและวิกฤตการณ์อาหารในบางประเทศ ส่วนการยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าและยกเลิกมาตรการภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของรัฐบาลไทยจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่งในระยะสั้นเท่านั้น
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ราว 1 ใน 4 ของแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตอาหารในยุโรปมาจากรัสเซีย การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมเพื่อผลิตปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการในระยะเวลาที่สั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรจะพุ่งสูงขึ้น และผลผลิตจะมีปริมาณต่ำลงมากและดันให้ราคาอาหารทะยานสูงขึ้นทั่วโลก จำนวนมนุษย์ครึ่งหนึ่งของโลกรวมทั้งปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงเพื่อนำมาบริโภคได้อาหารจากการใช้ปุ๋ย หากการขาดแคลนปุ๋ยเกิดขึ้นในเวลายาวนานจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50% เวลานี้ รัฐบาลรัสเซียได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตระงับการส่งออกปุ๋ย เราจะเห็นคนอดตายจากการขาดอาหารเพิ่มขึ้น รัสเซียเป็นผู้ผลิตสารอาหารสำหรับพืชรายใหญ่ เช่น แร่โปแตช (potash) และฟอสเฟต (phosphate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชผลมีผลผลิตตามเป้าหมาย บรรทษัทข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนอย่าง ยารา อินเตอร์เนชันแนล (Yara International) ซึ่งดำเนินธุรกิจปุ๋ยในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซื้อวัตถุดิบดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยจากรัสเซียและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในยูเครนที่เป็นพื้นที่สงคราม ก่อนหน้านี้ราคาปุ๋ยได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้วจากราคาก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นได้กล่าวเตือนว่าจะเกิดภาวะการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยจะพุ่งสูงขึ้น