‘บอร์ดรถไฟฯ’คิดได้ปรับสูตรค่าเช่าที่ใหม่
โพสต์ทูเดย์ — บอร์ด ร.ฟ.ท.รื้อใหญ่ โครงสร้างค่าเช่าที่ดิน จาก 30% เป็น 70% ของค่าเช่า คาดเพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.เตรียมปรับโครงสร้างค่าเช่าที่ดิน ร.ฟ.ท.ทั่วประเทศใหม่ ซึ่งการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ดได้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านพัฒนาที่ดิน เพื่อจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขของสัญญาเช่าใหม่ โดยจะเปลี่ยนการจัดเก็บค่าเช่าในช่วงแรกของสัญญาในสัดส่วนที่มากกว่าช่วงท้ายสัญญา เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตกรณีที่มีปัญหา เช่น ผู้เช่าฟ้องร้องหรือไม่ชำระค่าเช่า ซึ่งคาดว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะทำให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเป็นปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
“เดิม ร.ฟ.ท.จัดเก็บค่าเช่าในสัดส่วน 30% ในปีแรก และในปีต่อๆ ไป 70% จนสิ้นสุดอายุสัญญา แต่ในสัญญาใหม่จะเก็บ 70% ก่อนเลย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและประกันรายได้ของ ร.ฟ.ท. ซึ่งที่ผ่านมาบางสัญญาที่มีปัญหา ผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่า มีเรื่องฟ้องร้องกัน ร.ฟ.ท.ก็ขาดรายได้ทั้งๆ ที่มีที่ดินอยู่เป็นจำนวนมากโดยสัญญาใหม่นี้คาดว่าจะช่วยให้ร.ฟ.ท.มีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่เก็บได้ 1,600 ล้านบาทต่อปี” นายสุพจน์ กล่าว
นายทวีศักดิ์ สุทธิเสริม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. กล่าวว่า โครงสร้างค่าเช่าใหม่ และบอร์ด ร.ฟ.ท. ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถใช้ได้ทันที ทั้งสัญญาใหม่ และการต่อสัญญาเดิม และยังปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มต่อปี จากอัตรา 5% ทุกปี เป็น 15% ทุก 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยและเป็นไปตามกลไกของตลาดมากขึ้นจากเดิมที่จะปรับค่าเช่าขึ้น 5% ทุกปี โดยคิดตามดัชนีผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผู้เช่าร้องว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป
สำหรับภาพรวมการปรับโครงสร้างค่าเช่าและอัตราการปรับเพิ่มต่อปีใหม่ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้เช่า เนื่องจากมูลค่ารวมของสัญญาเท่าเดิม ในขณะที่ร.ฟ.ท.ยังคงได้รับผลตอบแทนในแต่ละสัญญาเท่าเดิม แต่จะลดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับค่าเช่าในระหว่างที่สัญญายังไม่ครบกำหนดได้ โดยปัจจุบันร.ฟ.ท.มีสัญญาเช่าที่ดินและทรัพย์สินรวมกว่า 14,000 สัญญา ซึ่งในปี 2554 ประมาณการรายได้จากจากการพัฒนาที่ดินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านบาท จากปี 2553 ที่มีรายได้ 1,890 ล้านบาท และปี 2552 มีรายได้ 1,793 ล้านบาท