posttoday

เส้นทางธุรกิจ 6 แสนล้าน “สารัชถ์ รัตนาวะดี” แผ่อิทธิพลจากพลังงานสู่ดิจิทัล

14 พฤศจิกายน 2565

“สารัชถ์ รัตนาวะดี” เจ้าของ GULF ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ แผ่ขยายอิทธิพลทางธุรกิจไปทั้งกลุ่มพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนดิจิทัลและโทรคมนาคม ต่อยอดความร่ำรวยระดับ 6 แสนล้านบาท

“สารัชถ์ รัตนาวะดี” หรือ “เสี่ยกลาง” เจ้าของธุรกิจพลังงาน “GULF” หรือบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์  กำลังขยายอาณาจักรจากธุรกิจพลังงาน โรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 421,620 ล้านบาท (งบการเงิน 9 เดือน ปี 2565 ) มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 618,923 ล้านบาท (11 พฤศจิกายน 2565) ไปสู่ธุรกิจดิจิทัล จากการเข้าไปถือหุ้นใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ที่ 46.08% ทำให้เขากลายเป็นผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ทันที

 

นอกจากนี้ยังเดินหน้าเปิดดีลซื้อกิจการของ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (กำลังอยู่ระหว่างเจรจา) และล่าสุดกับการควักเงินกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น บมจ.ไทยคม (คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี) ที่จะทำให้ “สารัชถ์” เป็นเจ้าของกิจการที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ

 

ทั้ง พลังงาน ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ตลอดจนโทรคมนาคมทั้งพื้นดิน ท้องฟ้า และ อวกาศ  เพื่อตอกย้ำความเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ชองประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Forbes โดยมีทรัพย์สินสุทธิที่ 1.18 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่  6 เดือนกรกฎาคม 2565

 

เส้นทางมั่งคั่งของ สารัชถ์ รัตนาวะดี

 

เส้นทางธุรกิจ 6 แสนล้าน “สารัชถ์ รัตนาวะดี” แผ่อิทธิพลจากพลังงานสู่ดิจิทัล

 

ยุคสร้างตัว สารัชถ์ ก่อตั้งกิจการพลังงานไฟฟ้าของตัวเองในปี 2537 ภายใต้ชื่อ กัลฟ์ (GULF) โดยเริ่มจากบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ขณะอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 

 

แรงส่งสำคัญที่ทำให้ บริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริกฯ เติบโตจนมาเป็น GULF ดังวันนี้ได้นั้น ส่วนหนึ่งคือการที่ได้งานสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทางภาคใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเชิญชวนให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงาน 

 

สำหรับโครงสร้างธุรกิจหลักของ GULF ในปัจจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โดยบริษัทผลิตและจำหน่ายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  นอกจากนี้ยังมีการผลิตแก๊สธรรมชาติและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์ ลม และ น้ำ 

 

ปัจจุบัน GULF พัฒนาและบริหารโรงไฟฟ้ามามากกว่า 30 โครงการ หรือเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้ารวมมากกว่า 14 กิกะวัตต์ โดยในอนาคตบริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งให้น้ำหนักถึง 60% ของแผนลงทุนระยะ 5 ปีนับจากปีนี้ถึง 2569

 

ด้านธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค  ในปี 2562 กัลฟ์ เริ่มลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ในส่วนการก่อสร้างสถานีขนส่ง LNG การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ในส่วนการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการบำรุงรักษาท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์

 

รวมถึงทำโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ในส่วนงานออกแบบและก่อสร้างงานระบบ รวมถึงบริการเดินเครื่อง บำรุงรักษา และยังมีโครงการร่วมทุน เพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบ mixed use ในกรุงเทพฯ 

 

สำหรับเส้นทางแผ่อิทธิพลไปยังธุรกิจดิจิทัลนั้น ในปี 2564 เขาตัดสินใจเทกโอเวอร์ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ และมีผลต่อเนื่องให้ต้องตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมด AIS ไปด้วยนับเป็นการเปิดประตูไปสู่โอกาสในการดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอื่น ๆ ตามมา

 

อาทิ ความร่วมมือกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) ตั้งบจ.เอไอเอส ดีซี เวนเจอร์ เพื่อลุยธุรกิจ Data Center ตั้งบจ.กัลฟ์ อินโน ลงทุนแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กับ Binance ด้วยการจัดตั้งบจ.กัลฟ์ ไบแนนซ์

 

ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ยังส่ง AIS ร่วมลงทุนกับ บมจ.ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จัดตั้งบจ. เอไอเอสซีบี  ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ในอัตรา 50:50 เพื่อทำธุรกิจให้บริการด้านสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เน้นเจาะฐานลูกค้าของ AIS กว่า 44.1 ล้านราย  พร้อมส่งบริษัทลูกอย่างบจ. แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค เข้าซื้อหุ้นใน ทริปเปิลที บรอดแบนด์ 

 

และส่าสุด (แต่ไม่น่าจะท้ายสุด) กับการทุ่มเงินกว่า 10,873.33 ล้านบาท ในการซื้อหุ้น บมจ.ไทยคม ที่ 645.23 ล้านหุ้น คิดเป็น 58.87% เพื่อเดินหน้าธุรกิจดาวเทียมสัญชาติไทยอย่างแท้จริง 

 

ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าประมูลวงโคจรดาวเทียม การมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งหวังต่อยอดถึงการขยายไปทำธุรกิจส่งยานขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งธุรกิจท่าอวกาศยาน เนื่องจากทำเลที่ตั้งมีความเหมาะสม โดยที่ผ่านมา บมจ.ไทยคม ถูกตั้งแง่เสมอว่าเป็นบริษัทจากกลุ่มทุนสิงคโปร์ จึงเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ

 

“สารัชถ์” ในวัย 57 ปี ที่เคยครองบัลลังก์หาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทยมาแล้ว มีประวัติไม่ธรรมดา โดยเขาเป็นลูกคนกลาง มีพี่ชายชื่อ สาณิต และน้องชาย ชื่อ สฤษดิ์ ผู้เป็นมารดา คือ นางประทุม รัตนาวะดี น้องสาวของนายวาริน พูนศิริวงศ์ นักธุรกิจและเจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

ส่วนบิดาของเขาคือ พล.อ.ถาวร รัตนาวะดี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อนร่วมรุ่น จปร.5 กับแกนนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ทำการรัฐประหารในปี 2534 ทั้ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี ส่วนปู่ของเขาก็คือ พล.ต.พระอุดมโยธาธิยุต (นายสด รัตนาวะดี) อดีตสมาชิกคณะราษฎร ฟาก

 

ปัจจุบันแต่งงานกับ นลินี ตันติสุนทร บุตรสาวของนายรักษ์ ตันติสุนทร คณบดีชาวจีนใน จ.ตาก อดีต ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย มีบุตร 2 คน คือ สาริศ และ สิตมน

 

ดังนั้นเส้นทางธุรกิจแสนล้านของ “สารัชถ์” ยังมีอนาคตที่สดใสและต่อยอดได้อีกยาว และอาจขึ้นไปแตะห้วงอวกาศดังที่หวังไว้

 

เส้นทางธุรกิจ 6 แสนล้าน “สารัชถ์ รัตนาวะดี” แผ่อิทธิพลจากพลังงานสู่ดิจิทัล