posttoday

"เร่งปรับ – เร่งเปลี่ยน – เร่งปลูก" ยุทธศาสตร์ ปตท. เดินหน้า Net Zero ในปี 2050

22 ธันวาคม 2565

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายๆอย่าง ซึ่งแน่นอน ผลกระทบที่ตามมาสร้างความเดือนร้อนและเสียหายเป็นอย่างมาก ปตท.จึงได้สร้างยุทธศาสตร์ เพื่อเดินหน้า NetZero ในปี 2050

     ในปัจจุบัน ประเทศไทยเราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากหลายๆ สาเหตุที่เป็นปัจจัยใหญ่ๆ หนึ่งในนั้น ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินกว่าจะรับไหว ทำให้ธรรมชาติไม่สามารถดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีมากมหาศาลได้ หรือที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” 

     ซึ่งแน่นอน ผลกระทบที่ตามมาสร้างความเดือดร้อนและเสียหายเป็นอย่างมากเชื่อมโยงกันมาเป็นห่วงโซ่ ทั้งสร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การเกษตร และเศรษฐกิจที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ครอง 10 อันดับแรกของโลกที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

     เพื่อรับมือและแก้ปัญหาให้ไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) โดย กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายอย่างมุ่งมั่นในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ภายในปี 2050 มีการวางแผนเพื่อเดินหน้าสู่เจตนารมณ์ ทั้งแผนระยะสั้นถึงระยะยาว โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15  ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050  โดยมีกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการรองรับ พร้อมผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจ กลุ่ม ปตท. โดยการจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท.  (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจ ใน 3 แนวทางหลัก “เร่งปรับ – เร่งเปลี่ยน - เร่งปลูก” หรือว่าหลัก 3P ได้แก่

     “เร่งปรับ” Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้นโดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง ร้อยละ 30 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด  

     “เร่งเปลี่ยน” Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ร้อยละ 32 ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงร้อยละ 50 และ

     “เร่งปลูก” Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ  ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างน้อยร้อยละ 20 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท.

 

     ทั้งนี้ ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ ปตท.ได้เร่งปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ภายในปี 2030 เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ปตท. ได้อาสาฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่าร้อยละ 80 สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจนต่อปี อีกทั้งสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี 

     การดำเนินการภาคป่าไม้จึงเป็นอีกวิธีสำคัญ โดยกลุ่ม ปตท. มุ่งปลูกป่าเพิ่มเติม รวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และยังสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย 

     เมื่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ กูเกิลหรือเว็บไซต์ต่างๆ ก็ต้องทำงานหนัก “อากาศจะหนาวกี่วัน วันนี้อุณหภูมิเท่าไหร่ พายุเข้าถึงวันไหน” คำยอดฮิตติดชาร์ตในเว็บไซต์ที่ทุกคนเคยเห็นผ่านๆ ตา 

     เพื่อไปให้ถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพียงร่วมด้วยช่วยกัน ร่วมมือกันทุกฝ่ายทุกภาคส่วน โดย ปตท. พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยจุดมุ่งหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond“ ที่มุ่งขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน