posttoday

สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ฉุดธุรกิจส่งอาหาร หดตัวลง 0.8%

06 มกราคม 2566

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี66 ธุรกิจ Food Delivery มีมูลค่า 8.1-8.6 หมื่นล้านบาท หดตัวลง 0.8% หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผู้บริโภคหันมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แนะเพิ่มประสิทธิภาพ AI โดยนำฐานข้อมูลที่มีอยู่ มาจัดทำโปรโมชั่นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก หรือ Food Delivery จะเผชิญกับโจทย์ท้าทายหลังสถานการณ์โควิด เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาขับเคลื่อนได้ตามปกติ และผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ทำให้การเติบโตของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2566 ตลาดธุรกิจ Food Delivery น่าจะมีมูลค่าประมาณ 8.1 – 8.6 หมื่นล้านบาท โดยหดตัวร้อยละ 0.8 ถึงหดตัวร้อยละ 6.5 (จากฐานที่สูงในปี 2565) ผ่านปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

 

การใช้บริการ Food Delivery ยังมีอยู่แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลง จากผลสำรวจผู้บริโภคที่พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 37 ปรับลดความถี่ในการใช้บริการลงหลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น โดยมีการใช้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักเฉลี่ยประมาณ 5 ครั้งต่อเดือน ซึ่งลดลงจากผลการสำรวจในช่วงการระบาดของโควิดที่อยู่ที่ประมาณ 7 ครั้งต่อเดือน

 

ระดับราคาเฉลี่ยต่อออเดอร์มีแนวโน้มทรงตัวหรือสูงขึ้น เป็นผลจากการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหาร และราคาพลังงานที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้ราคาอาหารเฉลี่ยต่อหน่วยและค่าบริการจัดส่งอาหารอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยต่อออเดอร์อยู่ที่ประมาณ 180-190 บาทในช่วงที่ผ่านมา

 

อาหารในหมวดพื้นฐานและอาหารจานด่วน ได้แก่  ก๋วยเตี๋ยว อาหารไทย อาหารอีสาน อาหารตามสั่ง น่าจะเป็นกลุ่มที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ขณะที่กลุ่มประเภทอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะมีการชะลอตัวของคำสั่งซื้อลง ได้แก่ เครื่องดื่มและเบเกอร์รี่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้สะดวกเมื่อกลับไปทำงานตามปกติ รวมถึงกลุ่มอาหารที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การรับประทาน หรือเน้นการรับประทานกับกลุ่มเพื่อนและครอบครัว เช่น ร้านอาหารบุฟเฟต์ สวนอาหาร และภัตตาคาร ที่คาดว่าผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนมานั่งทานภายในร้านเกือบทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่ามูลค่าตลาด Food Delivery ในปี 2566 จะมีแนวโน้มหดตัวลง แต่ก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความคุ้นชินการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นของผู้บริโภค การทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร และแนวโน้มราคาต่อออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ก็มีการปรับตัวรองรับกับโจทย์ธุรกิจ Food Delivery ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานตลาดไปยังต่างจังหวัด การนำเสนอแพคเกจรายเดือน เพื่อให้ลูกค้าเก่าใช้งานต่อเนื่อง การขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริการฝากซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต และกระจายฐานธุรกิจไปหลากหลาย เช่น ธุรกิจเรียกรถรับส่ง ธุรกิจจองที่พัก เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในระยะข้างหน้า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักควรจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพ AI โดยนำฐานข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มาจัดทำโปรโมชั่นที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อช่วยบริหารต้นทุนให้กิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งบริหารจัดการขั้นตอนของห่วงโซ่ธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดระยะเวลาและค่าเสียโอกาส