posttoday

จับตา เอ็นที-ไทยคม พาร์ทเนอร์ธุรกิจดาวเทียม ไทยคม 4

16 มกราคม 2566

หลังไทยคมชนะประมูลได้วงโคจรเดิมที่เคยให้บริการในระบบสัญญาสัมปทาน ซึ่งได้ส่งคืนทรัพย์สินให้รัฐไปก่อนหน้านี้ ทำให้ ไทยคม ยังคงเป็นผู้เล่นในตลาดรายเดียวของประเทศไทย โดยเปลี่ยนมือเป็นระบบใบอนุญาต และเปลี่ยนมือเจ้าของเป็นคนไทยเต็มตัวจากการเข้าซื้อหุ้นของกัลฟ์

ผลการประมูลวงโคจรดาวเทียมประจำที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แม้จะต้องการให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในตลาด แต่ผลที่ออกมาผู้เล่นยังคงเป็นรายเดิมคือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

 

เนื่องจากผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลหน้าใหม่อย่าง บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ไม่ชนะการประมูล กับไทยคม ในดาวเทียมชุดที่ 2 วงโคจร 78.5E  ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาท

 

ขณะที่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เลือกประมูล ใบอนุญาตที่ 4 วงโคจร 126E ที่ราคา 9.07 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงโคจรที่เหมาะสำหรับให้บริการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน ญี่ปุ่น แปซิฟิก ออสเตรเลีย เป็นดาวเทียมสำหรับบรอดแคสต์ แต่ยังไม่พร้อมใช้งาน เอ็นทียังต้องดำเนินการประสานงานกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ต่ออีก โดยมีเวลาอีก 5 ปี ในการยิงดาวเทียม
 

 

ดังนั้น ไทยคม โดยบริษัทลูก คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด จึงกลายเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ได้ใบอนุญาตสูงสุด 2 ใบอนุญาต คือดาวเทียมชุด 2 และชุด 3 รวมมูลค่า 797 ล้านบาท

 

ดาวเทียมชุดที่ 2  คือ วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 380,017,850 บาท โดยวงโคจรนี้เป็นดาวเทียมบรอดแคสต์ เหมาะในการให้บริการลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ ทวีปออสเตรเลีย และภูมิภาคอินโดจีน

 

โดยข้อมูลจาก กสทช.ระบุว่า วงโคจรนี้ สามารถรองรับบริการลูกค้าไทยคม 5 ซึ่งเกิดปัญหาขัดข้องทางวิศวกรรมและไม่มีดาวเทียมใช้แล้ว ขณะนี้ได้ขออนุญาตกสทช.ในการนำลูกค้าเดิมไปเช่าใช้ดาวเทียมต่างชาติชั่วคราว นอกจากนี้ยังเป็นวงโคจรเดียวกับไทยคม 6 ที่เอ็นทีบริหารงานอยู่ และไทยคม 8 ของ ไทยคมเอง ด้วย 
 

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด วิเคราะห์ว่า การที่ ไทยคม เลือกวงโคจร 78.5E เพิ่มอีก 1 ใบ ทั้งๆที่ ไทยคม 6 และ ไทยคม 8 ยังมีอายุการใช้งานอีกหลายปี สะท้อนว่าผู้บริหาร ไทยคม มองตลาดบรอดแคสต์ ดีกว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยในช่วงแรกของการดำเนินการ

 

คาดว่าไทยคม จะมีผลขาดทุนจากดาวเทียมดวงใหม่ราว 1-2 ปี เพราะอยู่ในช่วงการสร้างดาวเทียม จากนั้นจึงจะกลับมาทำกำไร ประเมินว่าดาวเทียมดวงใหม่จะเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทในระยะยาวโดยจะยกระดับกำไรของบริษัทกลับไปที่ 2.5 พันล้านบาทต่อปี

 

สำหรับดาวเทียม ชุดที่ 3 วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ที่ไทยคมคว้าใบอนุญาตด้วยราคาสุดท้ายอยู่ที่ 417,408,600 บาท เป็นวงโคจรของไทยคม 4 ที่หมดอายุสัญญาสัมปทานและไทยคมมอบทรัพย์สินให้เอ็นทีบริหารจัดการและดาวเทียมจะหมดอายุทางวิศวกรรม หรือ ใช้งานไม่ได้ในเดือน ก.ย.2566

 

ดังนั้นไทยคมต้องดูแลลูกค้าไทยคม 4 เดิม ด้วยการส่งแผนการดูแลลูกค้าระหว่างการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น เช่าใช้ดาวเทียมต่างชาติ หรือ ไม่ เป็นต้น ต่อ กสทช.ด้วย

 

อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ ดาวเทียมชุดนี้ นอกจากตามเงื่อนไขประมูลที่ทุกดวงต้องทำแล้ว คือ ต้องแบ่งช่องสัญญาณให้ภาครัฐใช้งาน  1 ช่องสัญญาณ หรือ 400 Mbps ยังต้องมีเงื่อนไขเปิดทางให้ภาครัฐสามารถใช้งานเพิ่มเติมได้ เนื่องจากดาวเทียมดวงนี้ภาครัฐใช้งานบรอดแบนด์อยู่ หากภาครัฐมีความต้องการมากกว่าเงื่อนไขการประมูลกำหนด ไทยคมต้องเปิดทางให้ภาครัฐซื้อความจุเพิ่มได้ในราคาที่สะท้อนต้นทุน และภาครัฐหรือเอ็นทีต้องแจ้งความประสงค์ในการใช้งานของภาครัฐต่อไทยคมภายใน 90 วัน เพื่อให้ไทยคมสามารถวางแผนขนาดของดาวเทียมที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเองและภาครัฐได้

 

จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เอ็นทีจะเป็นพันธมิตรกับไทยคมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจดาวเทียมด้วยกันในวงโคจร 119.5E หรือ ไทยคม 4 ของภาครัฐต่อไป

 

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ไทยคม  กล่าวว่า การชนะประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่เตรียมการไว้ เพื่อจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นให้บริการ ซึ่งนับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้โครงการดาวเทียมดวงใหม่ ยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนและเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเติบโตทางธุรกิจ รวมทั้งช่วยพัฒนาบริการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศในอนาคต

 

ไทยคมมีความพร้อมที่จะจัดสรรช่องสัญญาณดาวเทียมให้กับหน่วยงานภาครัฐได้ใช้งาน ตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและภาครัฐต่อไป

 

การประมูลครั้งนี้ เท่ากับว่า ไทยคมเหมือนมาประมูลวงโคจรเดิมที่ไทยคมเคยให้บริการในระบบสัมปทาน และเปลี่ยนมาเป็นระบบใบอนุญาตแทนโดยมีอายุใบอนุญาตอีก 20 ปี  และไทยคมมาบริหารดาวเทียมครั้งนี้ภายใต้ผู้ถือหุ้นคนไทยเต็มตัวจากการที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี เข้าซื้อหุ้นไทยคมจาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 

 

ขณะที่เอ็นทีเองก็ปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี หรือ รัฐบาลที่ต้องการให้ภาครัฐโดยเอ็นมีวงโคจรดาวเทียมเป็นของตนเอง ซึ่งการลงทุนในวงโครจร 126E ที่ราคา 9.07 ล้านบาท มีความสมเหตุสมผล เพราะเงื่อนไขการชำระค่าประมูลไม่หนักเกินไป 

 

โดยชำระค่าประมูลงวดแรก10% ของราคาสุดท้าย ภายใน 90 วัน งวดที่ 2 ชำระ 40% ภายในปีที่ 4 และงวดที่ 3 ชำระ 50% ในปีที่ 6 และดาวเทียมยังไม่สมบูรณ์พร้อมยิงขึ้นสู่ท้องฟ้า ยังต้องประสานงานต่อกับไอทียู มีเวลาให้ 5 ปี ทำให้ยังมีเวลาในการคิดแผนธุรกิจต่อไปเนื่องจากเอ็นทีเคยออกตัวว่าไม่เชี่ยวชาญในการประสานงานกับต่างชาติ