J.I.B. เปิดความสำเร็จธุรกิจจากรายได้ 3 ล้านสู่รายได้หมื่นล้านบาท
แนะเอสเอ็มอีสร้างระบบหลังบ้าน รู้ต้นทุน-กำไร การขายออนไลน์ต้องมีเว็บไซต์ของตนเองเป็นทางรอด ส่วนแพลตฟอร์มต่างชาติเป็นแค่ทางเลือกในการโปรโมท
นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี.คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “อนาคตประเทศไทย:SME จะไปทางไหน?” หัวข้อ “เอสเอ็มอี ยุคใหม่...เดินอย่างไรให้ยั่งยืน” จัดโดย สื่อเครือเนชั่น ว่า จุดเริ่มต้นธุรกิจมาจากการเปิดร้านคอมพิวเตอร์เล็กๆ โดยพื้นฐานของครอบครัวพ่อแม่เป็นกรรมกรอยู่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเด็กวัดมาก่อน เมื่อเรียนจบเข้ามาทำงานเป็นพนักงานในธนาคาร แต่เงินเดือนไม่พอใช้จึงได้ออกมาเปิดร้านคอมพิวเตอร์โดยใช้ชื่อเล่นของตนเอง คือ “จิ๊บ” ตัวอักษร J.I.B. เป็นโลโก้
เมื่อเปิดร้านแรกเพียง 3 เดือน สาขาที่สองก็เกิดขึ้น และด้วยสิ่งที่ตนเองเรียนมาทางด้านไอที จึงสามารถทำระบบสต็อกสินค้าได้แบบเรียลไทม์ เมื่อเปิดหลายสาขาสามารถขายได้ จึงเป็นที่มาที่ J.I.B. มีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกันหลายสาขา
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่ J.I.B. มีอัตราการเติบโตที่ดีมาก ปีแรกทำรายได้อยู่ที่ 3.3 ล้านบาท ล่าสุดรายได้อยู่ที่ 9,500 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีระบบหลังบ้านที่แข็งแรง ด้วยระบบซีเรียล นัมเบอร์ ทำให้บริษัทสามารถรู้กำไรต่อชิ้นได้ ปัจจุบันทำให้ J.I.B. มี 166 สาขาใน 70 จังหวัด สิ่งสำคัญที่ต้องมีสาขาเพื่อตอบโจทย์บริหารหลังการขาย เพื่อให้ลูกค้าเดินทางมาซ่อมเครื่องที่มีปัญหา ได้สะดวก
ทว่าเรื่องการค้าขายออนไลน์ก็เป็นสิ่งสำคัญ 9 ปีหลัง J.I.B. ให้ความสำคัญเรื่องออนไลน์ โดยหลักการพัฒนาเว็บไซต์ได้แรงบันดาลใจจากเว็บไซต์ของออฟฟิศเมต ล่าสุดรายได้จากการขายออนไลน์อยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาท ข้อดีของออนไลน์คือไม่มีค่าเช่า ขณะที่การเปิดสาขาตามสถานที่ต่างๆมีปัญหาถูกขึ้นค่าเช่าทุกปี มีการขึ้นทีละ 7-10 % ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมให้มีเพดานราคาค่าเช่าด้วย เทียบกับเมื่อก่อน บริษัทจ่ายค่าเช่ากว่าหมื่นบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 แสนบาท บางห้างสรรพสินค้าพุ่งไปถึงล้านกว่าบาท การขึ้นค่าเช่าทำให้เห็นอนาคตเลยว่าอีก 3 ปี อยู่ไม่ได้แน่นอน และเจ้าของสถานที่ก็ไม่สนใจเขาพร้อมรอรับผู้เช่ารายใหม่เสมอ
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา สาขาของ J.I.B. ในห้างสรรพสินค้าถูกปิด เหลือเพียง 20 สาขา เท่านั้น บริษัทจึงปรับตัวด้วยการเปิดสาขาในพื้นที่ใกล้เคียงแทน บริษัทใช้เวลาเพียง 3 วัน ในการเปิดสาขาใกล้เคียงนี้ ทำให้บริษัทฝ่าวิกฤติได้ด้วยความเร็วในการปรับตัวนอกจากนี้เรื่องการส่งของ บริษัทมีการปรับแผนส่งของภายใน 3 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง หากซื้อเที่ยงคืน จะได้ของภายในตี 3 หรือบางคนหากต้องการสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง ก็สามารถจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อยได้ รวมถึงการขายสินค้าแบบเทเลเซลก็ได้รับการตอบรับที่ดีมีรายได้จากช่องทางนี้หลักร้อยล้านบาท
สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์ จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ของตนเอง เพราะการใช้ช่องทางเว็บไซต์ของเราเองคือทางรอด J.I.B. มียอดขายมาจากเว็บไซต์ตนเอง 80% อีก 20% ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนอื่น คือ ช้อปปี้ ลาซาด้า แต่ใช้เป็นเพียงทางเลือก เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้มีการขึ้นค่าธรรมเนียมการขายอย่างต่อเนื่อง J.I.B. ขายโน้ตบุ๊ก กำไร 7% ค่าธรรมเนียมการขายก็ 7% หรือหากเราขายผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สด หรือ ติ๊กต็อก ก็มีความเสี่ยงหากถูกบล็อกก็จะทำให้ธุรกิจเสียหาย ขายไม่ได้
นายสมยศ กล่าวทิ้งท้ายว่า เอสเอ็มอีทุกคนอยากกู้ แต่กู้ไม่ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน ตนเองก็เคยกู้มาแล้ว แต่กู้ไม่ได้ สิ่งที่เป็นกุญแจความสำเร็จของ J.I.B. คือการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เมื่อมีอะไรใหม่เข้ามาต้องศึกษาว่ามีอะไรนำมาใช้ได้บ้าง ความยั่งยืนของธุรกิจ J.I.B. คือ การทำธุรกิจต้องไม่มีทางตัน แม้มีคู่แข่งก็ต้องรู้ว่าจะดำเนินธุรกิจไปทางไหน