posttoday

ไทยคม กางแผน สร้างดาวเทียม 3 ดวง รับไทยคม 4 หมดอายุ

20 กุมภาพันธ์ 2566

เร่งสร้างดาวเทียมวงโคจร 119.5E รับลูกค้าบรอดแบนด์ไทยคม 4 ก่อนหมดอายุปี 2567 แบ่งการสร้าง 3 ดวง 2 เฟส กรอบลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท

บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (STI) บริษัทลูกของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) THCOM ชนะการประมูลวงโคจรดาวเทียมจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 2 ชุด รวมมูลค่า 797 ล้านบาท ได้แก่ วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 380,017,850 บาท

 

และวงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) ,วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 417,408,600 บาท

 

ทั้งนี้ในวงโคจร 78.5E ไทยคมยังมีเวลาตัดสินใจอีก 1 ปี จากเงื่อนไขต้องยิงดาวเทียมภายใน 3 ปี ขณะที่วงโคจร 119.5E ไทยคมต้องเร่งหาดาวเทียมมาทดแทนไทยคม 4 ซึ่งอยู่ในวงโคจรเดียวกันจะหมดอายุในปี 2567 ทำให้ไทยคมต้องเตรียมแผนเร่งด่วนในการรองรับลูกค้าบรอดแบนด์ของไทยคม 4 ให้ทันก่อนที่ดาวเทียมจะหมดอายุทางวิศวกรรม และไม่สร้างผลกระทบต่อลูกค้าที่ใช้งานอยู่

 

ต่อเรื่องนี้ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าวว่า ดาวเทียมไทยคม 4 มีลูกค้าหลักที่เป็นลูกค้าบรอดแบนด์ ซึ่งจะหมดอายุในปลายปี 2567 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างดาวเทียมให้เร็วที่สุด เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการ โดยไทยคมได้วางแผนในการสร้างดาวเทียม จำนวน 3 ดวง แบ่งเป็น 2 เฟส ประกอบด้วย 
 

 

เฟสแรกในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก (10 Gbps) จำนวน 2 ดวง คาดว่ามีมูลค่ารวม 65.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,181 ล้านบาทต่อดวง ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 มีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปี

 

เฟสที่ 2 มีแผนก่อสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ (100 Gbps) คาดว่ามีมูลค่า 238.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,917 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2570 อายุการใช้งานประมาณ 15-16 ปี

 

นายปฐมภพ กล่าวว่า แม้ว่าการสร้างดาวเทียมดวงใหญ่จะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากขึ้นแต่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี ดังนั้นในช่วงเวลา 2-3 ปี ช่วงที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุและจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่ บริษัทจะยิง 2 ดวงเล็ก ที่มีประมาณความจุ 10% ของดวงใหญ่ เพื่อให้ทันก่อนที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุ
 

 

ทั้งนี้ บริษัทจะโฟกัส 2 ประเทศ คือไทย และอินเดีย ในการสร้างรายได้ และเนื่องจากเป็นดาวเทียมดวงเล็กจึงไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศ ซึ่ง 1 ดวงรองรับได้ 1 ประเทศเท่านั้น ส่วนในประเทศอื่นไทยคมจะเช่าดาวเทียมต่างชาติใช้ไปก่อน หลังจากที่ดาวเทียมดวงใหญ่ขึ้นจึงจะต่อยอดดีมานด์ไปที่ดาวเทียมดวงใหญ่ที่สร้างเสร็จ

 

สำหรับการลงทุนดาวเทียมวงโคจร 119.5E  ไทยคมใช้กรอบวงเงินการลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15,203 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 102% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกลุ่มไทยคม โดยบริษัทจะใช้เงินกู้ 65-85% ของเงินลงทุน และที่เหลือมาจากส่วนทุน โดยบริษัทมีเงินสด ในมืออยู่แล้ว 5,800 ล้านบาท

 

นายปฐมภพ กล่าวว่า เงินลงทุน 15,203 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5E และ 120 E และค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 E จำนวนเงินประมาณ 797 ล้านบาท

 

และการก่อสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 E จำนวน 3 ดวง และอื่นๆที่เกี่ยวข้องในวงเงินประมาณ 433.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,405 ล้านบาท

 

"การลงทุนดาวเทียมใหม่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท การชนะประมูล 2 วงโคจร เป็นกลยุทธ์สำคัญมากในวงการดาวเทียม และเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องในธุรกิจของไทยคมต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปี โดยตำแหน่ง ดังกล่าวมีความสำคัญในเอเชียแปซิฟิค จะเป็นการสร้างความได้เปรียบการค้าขายและธุรกิจ เพราะคนที่ใช้ดาวเทียม ทุกคนทราบดีว่าตำแหน่งวงโคจร 119.5 E เป็นตำแหน่งทอง และเราใช้มายาวนานมาก แสดงว่าเป็นโอกาสทองที่เราสามารถจะต่อยอดกับสิ่งที่เราได้มา เงินที่เราลงทุน 1.5 หมื่นล้าน จะสร้างกำไรกลับมาให้กัลฟ์ กลุ่มไทยคม ในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ " นายปฐมภพ กล่าว

 

ด้านนายอนุวัฒน์ สงวนทรัพยากร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน THCOM คาดว่า ผลประกอบการในปีนี้ EBITDA Margin จะดีกว่าปีก่อนที่มี 41% ขณะที่รายได้ปีนี้จะกลับไปใกล้เคียงปี 2564 ที่ 3.3 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2565 ที่มีรายได้ 2.9 พันล้านบาท เนื่องจากความมั่นใจของลูกค้ามีมากขึ้น หลังบริษัทชนะประมูลการใช้สิทธิวงโคจร 2 ตำแหน่ง มีดาวเทียมดวงใหม่เข้ามา

 

ดังนั้นลูกค้าก็ใช้ดาวเทียมไทยคม 4 เข้ามาต่อเนื่องและรายได้จากธุรกิจใหม่ ได้แก่ space tech ได้แก่ ดาวเทียม LEO ที่ร่วมกับโกลบอลสตาร์ (Globalstar) ผู้ให้บริการระดับโลกด้านสื่อสารผ่านดาวเทียมและโซลูชั่น IoT (Internet of Things) จากสหรัฐ และ ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ที่ร่วมมือ กับ Orbital Insight บริษัทชั้นนำด้านการให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geospatial) จากสหรัฐ