“TRUE-DTAC” ปิดดีลแสนล้าน สู่บริษัท “ทรู คอร์ปอเรชั่น”
ทุนบริษัทใหม่แสนล้าน พร้อมเทียบฟอร์ม-ย้อนไทม์ไลน์ มหากาพย์ดีลวงการโทรคมนาคมก่อนเหลือเพียง 2 รายในตลาดเบียดไหล่AIS
22 ก.พ.2566 “TRUE-DTAC” ปิดดีลแสนล้าน ด้วยการเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมรับทราบความคืบหน้าอนุมัติควบรวมกิจการโดยมีวาระสำคัญ คือ
ชื่อบริษัทใหม่ภาษาไทย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน)
ชื่อบริษัทใหม่ภาษาอังกฤษ True Corporation Public Company Limited
ชื่อย่อหลักทรัพย์ TRUEE
ทุนของบริษัทใหม่ 138,208,403,204 บาท ซึ่งเท่ากับทุนชําระแล้วทั้งหมดของ TRUE กับ DTAC รวมกัน โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจํานวนทังสิ้น 34,552,100,801 หุ้น โดยมีมูลค่าทีตราไว้หุ้นละ 4 บาท
การจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ จัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่จํานวน 34,552,100,801 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4 บาทให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TRUE เปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์เป็น TRUEE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของ TRUE และผู้ถือหุ้นของ DTAC ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ (Book Closing Date) ในวันที่ 22 ก.พ. 2566
บริษัทใหม่จะจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ TRUE และ DTAC ในอัตราส่วน
1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ 0.60018 หุ้นในบริษัทใหม่
1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 6.13444 หุ้นในบริษัทใหม่
คณะกรรมการ ประกอบด้วย
1. นายศุภชัย เจียรวนนท์
2. นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป
3. ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (กรรมการอิสระ)
4. นางกมลวรรณ วิปุลากร (กรรมการอิสระ)
5. นายกลินท์ สารสิน (กรรมการอิสระ)
6. นางปรารถนา มงคลกุล (กรรมการอิสระ)
7. ดร. เกา ถงชิ่ง
8. นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข
9. นางสาวรุซ่าร์ ซาบาโนวิค (เปลี่ยนจากเดิม คือ นางทูเน่ ริปเปล)
10. นายลาส์เอริค เทลแมนน์
11. ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ
ส่วน นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ได้รับเสนอชื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายชารัด เมห์โรทราได้รับการเสนอชื่อเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดย นายนกุล เซห์กัล และนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ในบริษัทใหม่
กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันของบริษัทใหม่ คือ นายศุภชัย เจียรวนนท์ หรือ นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข หรือ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป หรือ นายลาส์ เอริค เทลแมนน์
เทียบฟอร์มผลประกอบการ 3 ค่าย ก่อนควบรวม
สำหรับผลประกอบการ DTAC ปี 2565 มีรายได้ 80,656 ล้านบาท ไตรมาส 4/2565 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 106,000 ราย ทำให้มีผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 21.2 ล้านคน กำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท โดย DTAC มีคลื่น 330 MHz ได้แก่ คลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz,คลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz,คลื่น 1800 MHz จำนวน 10 MHz,คลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz,คลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz และ คลื่น 26GHz จำนวน 200 MHz
ขณะที่ TRUE ผลประกอบการประจำปี 2565 มีรายได้รวม 135,076 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 18,285 ล้านบาท ทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 33.8 ล้านราย มีผู้ใช้งานบรอดแบนด์เพิ่มเป็น 4.97 ล้านราย มีคลื่น 1,020 MHz ได้แก่ คลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz, คลื่น 850 MHz จำนวน 30 MHz , คลื่น 900 MHz จำนวน 20 MHz,คลื่น 1800 MHz จำนวน 30 MHz,คลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz,คลื่น 2600 MHz จำนวน 90 MHz และ คลื่น 26GHz จำนวน 800 MHz
ส่วนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) AIS ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 46 ล้านเลขหมาย ผลประกอบการปี 2565 มีรายได้ 185,485 ล้านบาท เติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 26,011 ล้านบาท ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เอไอเอส ไฟเบอร์ ลูกค้ารวมอยู่ที่ 2.2 ล้านราย ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 16% มีคลื่น 1,450 MHz ได้แก่ คลื่น 700 MHz จำนวน 30 MHz,คลื่น 900 MHz จำนวน 20 MHz,คลื่น 1800 MHz จำนวน 40 MHz,คลื่น 2100 MHz จำนวน 60 MHz,คลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และ คลื่น 26GHz จำนวน 1,200 MHz
นักวิเคราะห์ชี้ควบรวมทำผลประกอบการทรูดีขึ้น
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์ของ TRUE เป็น TRUEE เพื่อต้องการให้ชื่อเดิมที่เป็น TRUE ว่างให้บริษัทใหม่ใช้ได้ กระบวนการนี้คล้ายกับตอนที่ SCB ต้องเปลี่ยนเป็น SCBB ก่อน จากนั้นเมื่อพอกระบวนการเสร็จเรียบร้อยแล้ว SCBX เข้ามาแล้วจึงใช้ชื่อ SCB เหมือนเดิมได้ คาดว่ากระบวนการของทรูน่าจะคล้ายกัน
สำหรับผลประกอบการ TRUE เดิม ที่ประกาศออกมาค่อนข้างที่จะขาดทุน แต่คาดว่าเมื่อมีการควบรวมแล้ว โอกาสที่จะกลับมาติดลบก็จะน้อยลง หากมีการล้างค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างไปหมด ทำให้ต้นทุนโครงข่ายโอนไปบริษัทใหม่ ค่าเสื่อมราคา ค่าจัดจำหน่าย จะเบาลงไปบ้าง ทำให้โอกาสที่งบในอนาคตน่าจะดีกว่าเดิม ดังนั้นหลังจากรวมกันแล้วตัวเลขน่าจะดีขึ้น
“ดังนั้นนักลงทุนยังไม่สามารถดูงบในไตรมาสแรกปี 2566 ซึ่งจะออกในเดือน พ.ค. ได้ ซึ่งเห็นผลหลังควบรวมเพียงเดือนกว่าๆ ดังนั้นงบที่แท้จริงหลังควบรวมว่าจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นจะเห็นในช่วงไตรมาส 2/2566 ”
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า ราคาเป้าหมายหลังการรวมกิจการที่ 9.23 บาท สำหรับ TRUE บริษัทใหม่ ทั้งนี้ มูลค่าตามราคาตลาดรวมกันของ TRUE เดิม (ปัจจุบันใช้ชื่อ TRUEE)และ DTAC ในวันซื้อขายวันสุดท้าย (17 ก.พ. 2566) จะสามารถนำมาคำนวณเราคาตลาดของ TRUE ใหม่ได้ที่ 8.51 บาท ซึ่งจะเริ่มซื้อขายในชื่อ TRUE ในวันที่ 3 มี.ค. 2566
ย้อนไทม์ไลน์ ปิดดีลแสนล้าน
20 พ.ย. 2564 บอร์ดทรูและดีแทค แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ควบรวมกิจการ
18 ก.พ. 2565 บอร์ดทรูและดีแทค อนุมัติการควบรวมกิจการ
20 ต.ค. 2565 บอร์ดกสทช.มีมติ เห็นชอบ เสียง 3:2 เรื่องควบรวมกิจการ
12 ม.ค. 2566 แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนชื่อ หลังควบรวมเป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
24 ม.ค.2566 ทรูรับซื้อหุ้นคืน 51.5 บาทต่อหุ้น,ดีแทครับซื้อหุ้นคืน 50.50 บาทต่อหุ้น
15 ก.พ. 2566 แจ้งเปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์เดิมจาก “TRUE” เป็น “TRUEE”
22 ก.พ. 2566 เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นรับทราบความคืบหน้าอนุมัติควบรวมกิจการ
อย่างไรก็ตาม หลังการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท แม้จะเสร็จสิ้นแล้ว ก็ยังคงถูกจับตาจากวงการโทรคมนาคมอยู่ถึงเงื่อนไข หรือ มาตรการที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ทั้ง ทรู และ ดีแทค ยังต้องทำตลาดแยกกันในระยะเวลา 3 ปี
ที่สำคัญคือ ห้ามมีการรวมคลื่น ส่วนทั้ง 2 บริษัทจะมีการใช้คลื่นร่วมกันได้อย่างไรนั้น ต้องรอดูกันต่อไป