posttoday

เทรนด์ธุรกิจประกันชีวิต มุ่งพัฒนาแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

17 มีนาคม 2566

ธุรกิจประกันชีวิตปี 66 เผยทิศทางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจประกันชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตฐานกฎหมายสากล พร้อมมุ่งต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิม และขยายไปยังฐานลูกค้าใหม่ พร้อมมั่นใจสิ้นปีผลงานเข้าเป้า

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกคนล้วนได้รับผลไม่ว่าจะภาคส่วนใด ซึ่งสังคมเกิดความตื่นตระหนกทั้งความปลอดภัยในชีวิตและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แม้ประกันสุขภาพแบบเดิมที่เคยมีอยู่จะสามารถคุ้มครองกรณีโควิด-19 ได้ก็จริงอยู่ แต่ปัญหาคือการเข้าถึงการประกันสุขภาพไม่ใช่สิ่งซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพราะเบี้ยประกันสุขภาพค่อนข้างสูง ทำให้เกิดแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการประกันภัยโควิด-19 ที่จะทำให้เบี้ยประกันมีความเหมาะสม 

และในปี 2566 นี้ ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตหลายคนอาจมองว่าจะเป็นเช่นไร มาดูมุมมองของนายกสมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) โดย นายสาระ ล่ำซำ ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นว่า ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตาม สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย แต่ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการปรับพอร์ตทั้งในส่วนของการลงทุนและ Product mix และทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตฐานกฎหมายสากล  

ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน เช่น การส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ ผลักดันกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติ รวมถึงการผ่อนคลายการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม  สนับสนุนการพัฒนากระบวนการขายให้ครบถ้วนทุกช่องทาง สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างครอบคลุม

อีกทั้งการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนถึงการป้องกันและรู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกในการขอปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน ผลักดันระบบการจัดสอบความรู้ ระบบออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้บริษัทสมาชิกและบุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 

ส่วนทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร สำหรับปี 2566 สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,500 – 623,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่าง 0 – 2% มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์  81 – 82% 

เทรนด์ธุรกิจประกันชีวิต มุ่งพัฒนาแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

ในส่วนของผู้ประกอบการภาคธุรกิจประกันชีวิต ได้ออกมาเดินหน้าประกาศผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ผ่านมา และ แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 เริ่มกันที่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (TLI) โดยนายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า แม้ว่าในปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมประกันชีวิตต้องเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับช่วงครึ่งปีแรกจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

แต่บริษัทยังคงมีผลประกอบการที่เข้มแข็ง โดยบริษัท มีกำไรสุทธิ 9,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2564 มีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี ที่ 12,819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% ขณะที่ผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญา อยู่ที่ 7,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% โดยอัตรากำไรของ VONB หรือ VONB Margin ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าปัจจุบันของกรมธรรม์ ที่ 145,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2% ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของ APE และ VONB ในทุกช่องทางการขาย

สำหรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ บริษัทฯ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าแบบเฉพาะบุคคล ตามนโยบายยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างกำไรที่ดี และไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Participating Product ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปีที่ผ่านมาอัตราการเรียกร้องสินไหมค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 จะสูงขึ้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เนื่องจากไทยประกันชีวิตไม่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 ประเภทเจอจ่ายจบ และการเรียกร้องสินไหมค่ารักษาพยาบาลจากโควิด-19 เริ่มลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 นอกจากนี้อัตราส่วนเงินกองทุน (CAR Ratio) ของบริษัทฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 420% ณ เดือนธันวาคม 2565 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้มาก

และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของไทยประกันชีวิตเป็นไปอย่างยั่งยืน สอดรับกับวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน บริษัทฯ จึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยครอบคลุมเป้าหมาย ESG ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ผ่านการกำหนดเป็นกลยุทธ์และแนวทางการปฏิบัติครอบคลุมทุกหน่วยงานภายในบริษัทฯ ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) อีกด้วย

เทรนด์ธุรกิจประกันชีวิต มุ่งพัฒนาแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

ด้าน บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (MTL) โดยนายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจมีความผันผวน ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุน ตลอดจนดอกเบี้ย ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น มีผลต่อธุรกิจประกันชีวิต ที่สำคัญดอกเบี้ยเป็นต้นทุนหลักของประกันชีวิต เนื่องจากบริษัทต้องลงทุนในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนลงทุนในระยะยาวของลูกค้า อย่างไรก็ตามในนี้บริษัทเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวได้ในทิศทางที่ดี

ในส่วนของแผนการดำเนินงานในปี 2566 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการส่งมอบความสุขให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านกลยุทธ์ “Happiness Reinvented” เพราะความสุขคือทุกอย่าง…ร่วมสร้างควาสุขสไตล์คุณไปกับเมืองไทยประกันชีวิต โดยตั้งเป้าเป็นอันดับหนึ่งในฐานะ “คู่คิดด้านชีวิตและสุขภาพที่ลูกค้าวางใจ ด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมที่ตรงต่อความการของผู้บริโภค โดยบริษัทมุ่งดำเนินงานผ่าน 4 แกนสำคัญ ได้แก่ บุคลากร พาร์ทเนอร์ ลูกค้า และนอกเหนือจากลูกค้า 
 
อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนในการสร้างความความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านกาย ทางใจและทางการเงินให้กับลูกค้า โดยบริษัทยังดำเนินงานในการยึดหลักการมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้บริษัทยังประกาศความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามนโยบายและเป้าหมายด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ในทุกมิติ ทั้งในด้านของสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และ เศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืนกับบริษัทและสังคมโดยรวมต่อไป 

เทรนด์ธุรกิจประกันชีวิต มุ่งพัฒนาแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

ทางด้าน บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (BLA) โดยนายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ในปี 2565 กรุงเทพประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกทั้งสิ้นจำนวน 6,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยเบี้ยประกันภัยรับปีแรกในช่องทางธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เป็นผลจากผลิตภัณฑ์ในช่องทางธนาคารที่ได้รับผลตอบรับที่ดี  ขณะที่ช่องทางตัวแทนมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกลดลงร้อยละ 10 และช่องทางอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 สำหรับเบี้ยประกันภัยสุทธิในปี 2565 มีจำนวน 35,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากปีก่อนหน้า 

บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2565 จำนวน 342,611 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่ร้อยละ 1 จากการลดลงของมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ลงทุน ทั้งนี้สินทรัพย์ลงทุนและเงินสดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97 ของสินทรัพย์รวม ในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 3,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากปี 2564 ทางด้านความมั่นคงของฐานะทางการเงิน บริษัทมีระดับความเพียงพอของเงินกองทุน ณ สิ้น ปี 2565 ที่ระดับร้อยละ 377 เพิ่มขึ้นจาก ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ร้อยละ 363 และเพิ่มขึ้นจากเมื่อสิ้นปี 2564 ที่ร้อยละ 301

เทรนด์ธุรกิจประกันชีวิต มุ่งพัฒนาแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

ในส่วนของบริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) (TQMalpha) โดยนนาย อัญชลิน  พรรณนิภา ประธาน กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจ ของ TQMalpha ในปี 2565 สามารถสร้างผลการดำเนินงานออกมาได้ดี ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย ส่งผลให้ผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 3,726.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 % โดยเป็นรายได้จากการให้บริการ 3,589.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6%  ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1,898.6 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 885.5 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่บริษัทได้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่จากธุรกิจนายหน้าประกันภัยขยายสู่ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยีแพลตฟอร์มนั้น ธุรกิจของบริษัทในกลุ่มต่างมีการเติบโตโดยรวมไปในทิศทางที่ดี มีความร่วมมือและต่อยอดธุรกิจระหว่างกัน  ทั้งนี้ธุรกิจในกลุ่มการเงิน ธุรกิจสินเชื่อโดยบริษัท อีซี่ เลนดิ้ง จำกัด แม้จะเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจแต่ก็มีการเติบโตที่ดีได้รับความสนใจและสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้เพิ่มขึ้น 

ด้วยการต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิมของกลุ่ม และขยายไปยังฐานลูกค้าใหม่ ๆ อีกทั้ง อีซี่ เลนดิ้ง ยังมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ มีการบริหารความเสี่ยงและบริหารลูกหนี้ได้ดี  ในส่วนของธุรกิจเทคโนโลยีแพลตฟอร์มนั้น ถึงแม้นจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่สำหรับธุรกิจประกัน นับเป็นการเติบโตตามแนวทางที่วางไว้ตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ

เทรนด์ธุรกิจประกันชีวิต มุ่งพัฒนาแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

ปิดท้ายกันที่บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (OceanLife) โดยนางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ว่า บริษัทยังคงเดินหน้าโฟกัส Love Your Health ให้คนไทยรักสุขภาพ ภายใต้แนวคิด LOVE MINDSET ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยดูแลสุขภาพครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความตระหนักรู้ ก่อให้เกิดนวัตกรรม และกิจกรรมที่ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องง่าย โดยผสานความร่วมมือกับพันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำให้คำปรึกษา เพื่อวางแผนให้ใช้ชีวิตโดยไม่ป่วย 

ทั้งนี้บริษัทยังคงยืนยันถึงความมั่นคงของบริษัทในการดำเนินธุรกิจด้านประกันชีวิตด้วยสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 98,167 ล้านบาท เงินสำรองประกันชีวิต จำนวน 78,785 ล้านบาท และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน Capital Adequacy Ratio (CAR) อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 435.28% นับว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของธุรกิจประกันชีวิต และสูงกว่าเงินกองทุนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดที่ 120% ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และคนไทยที่มองประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพื่อให้ความคุ้มครองที่คุ้มค่า

ในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายมีเบี้ยรับรวมเติบโตที่ 5% ช่องทางตัวแทนตั้งเป้าเพิ่มจำนวนแทน 4,000 คน จากปัจจุบันมีอยู่ 16,000 คน  สำหรับผลการดำนเนิงานในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 15,008 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 2% โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ จำนวน 2,857 ล้านบาท เติบโต 4% และมีเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปที่ 12,151 ล้านบาท เติบโต 2% มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ 86% ช่องทางดิจิทัลที่มีอัตราการเติบโต 22% และช่องทางธนาคารเติบโต 18% 

อย่างไรก็ตาม“ธุรกิจประกันชีวิต” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญต่อประชาชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือบริหารความเสี่ยง และภายในปีนี้เชื่อมั่นว่าด้วยแผนงานของต่ละบริษัทจะสามารถสร้างผลงานที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน