ฉายภาพ Family Office ผ่านมุมมองผู้ให้บริการ Private Bank

05 เมษายน 2566

2 ผู้บริหารด้าน Private Bank จากกสิกรไทย และ SCB ฉายภาพ Family Office (FO) กลไกดูแลความมั่งคั่ง ที่ตระกูลมหาเศรษฐีเลือกใช้ หลังเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19

ก่อนหน้านี้ที่มีรายงานข่าวว่าตระกูลเจียรวนนท์สนในลงหลักปักฐาน Family Office (FO) ในฮ่องกง สืบเนื่องจากที่ประชุมผู้นำ “Wealth for Good Summit ” ที่กำลังผลักดันนโยบายดึงดูดครอบครัวเศรษฐีทั่วโลกมาตั้ง Family Office ในฮ่องกง โดยให้ชาวต่างชาติเข้าไปตั้ง FO ที่ครอบคลุมด้านบริหารจัดการทรัพย์สิน รักษาความมั่งคั่ง ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และดูแลบุคคลในครอบครัวนั้น

เชื่อว่าคงเกิดคำถามว่า แล้ว Family Office คืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมตระกูลเศรษฐีหลายต้องสนใจเรื่องนี้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Family Office คืออะไร

สำนักงานครอบครัว หรือ Family Office คือ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการดูแลสมาชิกในครอบครัวรวมไปถึงธุรกิจครอบครัว (Family Business) ในการบริหารความมั่งคั่งของสินทรัพย์ ทั้งในระดับส่วนบุคคลของสมาชิกในครอบครัวและในระดับธุรกิจครอบครัว มีการจัดวางแผนจัดการโครงสร้างภาษีตลอดจนการส่งต่อความมั่งคั่ง การจัดการภาษีมรดก

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการวางแผนการศึกษาของสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในด้านการเงิน การบัญชี เพื่อให้การสืบทอดธุรกิจของครอบครัวเป็นไปตามเจตนารมณ์ อาทิ

  • จัดทำทะเบียนทรัพย์สินต่าง ๆ ของครอบครัว ซึ่งอาจมีหลากหลายประเภท เช่น เงินฝาก การลงทุน อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ ของสะสม งานศิลปะ ให้เป็นระบบ
  • ดูแลและจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ 
  • จัดการและจัดเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ ของครอบครัว 
  • ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่ธรรมนูญครอบครัวกำหนดไว้ เช่น การจัดการประชุมของครอบครัว  
  • จัดทำบัญชี ทำเรื่องเบิกจ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นระบบสวัสดิการของครอบครัว
  • ดำเนินการระบบสวัสดิการของครอบครัว เช่น ครอบครัวอาจมีการกำหนดให้ สมาชิกในครอบครัวได้รับสวัสดิการเป็นค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล
  • นำเงินของกงสีครอบครัวไปลงทุนเพื่อนำเอาดอกผลมาใช้ในระบบสวัสดิการของครอบครัว
  • ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากครอบครัว 

สำหรับบทบาทและหน้าที่ของ  Family Office มีหลายด้าน ได้แก่

  • ให้คำปรึกษาและการลงทุนของสินทรัพย์ของบริษัทโดยอาจพิจารณาการลงทุนเองหรือผ่านสถาบันการเงิน
  • ให้บริการด้านภาษีแก่สมาชิกในครอบครัวและธุรกิจครอบครัว เช่น จัดโครงสร้างธุรกิจ การวางแผนภาษี การยื่นภาษี ฯลฯ
  • จัดทำเอกสารทางกฎหมายของธุรกิจครอบครัว เช่น พินัยกรรม ข้อบังคับบริษัท สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ธรรมนูญครอบครัว
  • จัดการธุรกิจหรือเรื่องส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว เช่น วางแผนการศึกษาให้บุตรหลาน การจัดตั้งกิจการสาธารณกุศล ฯลฯ
  • วางแผนการสืบทอดธุรกิจและวางแผนภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินของเจ้าของธุรกิจและสมาชิกในครอบครัว

ทั้งนี้ เพื่อให้การสืบทอดธุรกิจของครอบครัวเป็นไปตามเจตนารมณ์จึงอาจต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ เช่น นักกฎหมาย สำนักบัญชี นักการเงินนักบริหารธุรกิจ ร่วมพิจารณาด้วยกันกับสมาชิกในครอบครัว

แต่ใช่ว่าทุกครอบครัวมหาเศรษฐี จำเป็นต้องจัด FO ดังนั้นจึงมีหลักเกณฑ์ง่าย ๆ ที่สามารถนำไปพิจารณาว่า ครอบครัวใดควรมีหรือไม่มี  

  • จำนวนสมาชิกในครอบครัว มีจำนวนมากพอที่ควรแยกตั้ง FO ของตนเองหรือใช้บริการจากบุคคลภายนอกหรือไม่
  • มูลค่าของสินทรัพย์ของสมาชิก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่
  • สมาชิกในครอบครัวตกลงร่วมกันและมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรวมการบริหารจัดการทรัพย์สินของธุรกิจครอบครัวไว้ที่เดียวกัน
  • ต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่โปร่งใส เป็นธรรม ลดข้อพิพาทขัดแย้ง
  • ต้องการเตรียมการในการโอนความมั่งคั่งไปยังธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป
  • ต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าว่าจ้างที่ปรึกษาต่างๆ ผู้ทำบัญชี ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาการลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีตระกูลเศรษฐีมากมาย นิยมเลือกตั้ง Family Office ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์และฮ่องกง เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน

จากความเห็นของ ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์

โดยเฉพาะล่าสุดที่มีรายงานข่าวว่าตระกูลเจียรวนนท์สนในลงหลักปักฐาน ตั้ง FO ในฮ่องกง จากที่ประชุมผู้นำ “Wealth for Good Summit” ผลักดันนโยบายดึงดูดครอบครัวเศรษฐีทั่วโลกมาตั้ง Family Office ในฮ่องกง โดยให้ชาวต่างชาติเข้าไปตั้ง FO ที่ครอบคลุมด้านบริหารจัดการทรัพย์สิน รักษาความมั่งคั่ง ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และดูแลบุคคลในครอบครัว

สำหรับฮ่องกง ถือเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่มีระบบภาษีต่ำและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) และบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) อีกทั้งกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax) โดยทั่วไปไว้ที่ 16.5% โดยไม่มีกำรเรียกเก็บ Capital Gains Tax ตลอดจนไม่มีกำรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีสินค้าและบริการ (GST)

เช่นเดียวกับการจัดตั้ง FO ในประเทศสิงคโปร์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น หน่วยงานกำกับดูแลทางด้านการเงินหรือ MAS ให้การสนับสนุนเพื่อให้สิงคโปร์เป็น Smart Financial Centre ของโลก ที่สำคัญคือบรรดาสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ได้แก่ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทร้อยละ 17 ของรายได้ที่เกิดขึ้น และไม่มีการจัดเก็บ Capital Gains Tax ในประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ การกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสาหรับผู้มีรายได้ในระดับสูงสุดจะเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยผู้มีรายได้พึงประเมินที่เกิน 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จะถูกเก็บภาษี 23% (ในปัจจุบัน คือ 22% ซึ่งเป็นอัตราที่เรียกเก็บจากเงินได้พึงประเมินที่เกิน 320,000ดอลลำร์สิงคโปร์) ขณะที่ผู้มีรายได้พึงประเมินที่เกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ คิดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดำจะเพิ่มขึ้นเป็น 24% (ปัจจุบัน 22%)

อีกทั้งในส่วน Property Tax ที่่ปัจจุบันอัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการลงทุนอยู่ที่ 10-20% จากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 12-36% ในปี 2567 ด้านอัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์เพื่อกำรอยู่อาศัยที่เจ้าของครอบครอง มีอัตราภาษีอยู่ระหว่าง 4-16% สำหรับมูลค่าประจำปีของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เกินกว่า 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ แต่อัตราภาษีใหม่จะเก็บ 5-23% จาก 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์แรก ภายในปี 2566 จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 6-32% ในปี 2567

สำหรับมุมมองต่อความตื่นตัวของกลุ่มครอบครัวผู้มั่งคั่งไทย ในแง่การให้ความสำคัญกับการจัดตั้งสำนักงานครอบครัวนั้น ดร.สาธิต ให้ความเห็นว่า ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบว่าธุรกิจครอบครัวมักจะจัดตั้ง FO ผ่านการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) หรือเรียกว่าเป็น Family Holding Company

เพื่อทำหน้าที่ให้กับเจ้าของกิจการและสมาชิกในครอบครัว และมักจะใช้สถาบันกำรเงินเข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษากกรบริหารความมั่งคั่ง (Private Wealth Management) ในกาลงทุนในสินทรัพย์ เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับครอบครัว

เนื่องจากจะเช่วยเอื้อประโยชน์หลาย ๆ แง่มุม ไม่ว่าเป็น ช่วยคุ้มครองทรัพย์สินของครอบครัวด้านความเสี่ยงจากการถูกฟ้องล้มละลำยฟ้องทางแพ่งหรือทางอาญา ช่วยในการบริหารจัดการและส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัว โดยการจัดสรรหุ้น (หุ้นสามัญ/หุ้นบุริมสิทธิ) ผ่านโครงสร้างการถือหุ้นใน Holding Company การสร้างระบบการจัดการสภาพคล่องทางการเงินโดยกำหนดให้ Holding Company เป็นศูนย์กลาง

ตลอดจนช่วยในการบริหารภาษีอากรทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล (บริษัท) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (สมาชิกครอบครัว) ที่สำคัญคือลดต้นทุนค่าดำเนินการโดยรวมของบริษัทโดยสามารถนำระบบการจัดกำรบริษัทมารวมกันที่ Holding company และให้บริการแก่บริษัทในเครืออื่น ๆ (สิทธิประโยชน์ทำงภาษี เช่น IBC, Sharing services)

ฉายภาพ Family Office ผ่านมุมมองผู้ให้บริการ Private Bank

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านช่วงแพร่ระบาดของโควิด -19 มา ก็พบว่าแนวโน้มการจัดตั้ง FO ก็เติบโตมากขึ้นทั้งในต่างประเทศและในไทย เมื่อต้องเผชิญกับการจากไปของสมาชิกครอบครัวจากโรคระบาดแบบไม่ทันได้เตรียมใจหรือไม่ทันได้ตั้งตัว ทำให้คนเริ่มมองว่าควรเตรียมการหรือเตรียมตัวให้มากขึ้น หากต่อไปต้องเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่คาดคิด

โดยเฉพาะเศรษฐีในสิงคโปร์ จะคิดเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังและลงมือทำเลย ขณะที่ลูกค้าคนไทยแม้จะแสดงความสนใจเรื่อง FO ไม่น้อย แต่พอบางทีไปคุยกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ก็ปล่อยผ่านไปก่อน ตลอดจนพบว่าคนวัย 50 ปีขึ้นไปมักมีความตื่นตัวในการตั้ง FO มากกว่าคนวัยอื่น ๆ เพราะมองว่าอยากจัดการในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ดีกว่าปล่อยให้มีปัญหาแล้วลูกหลานทะเลาะกันหลังจากตัวเขาเสียชีวิตไปแล้ว

ครอบครัวคนรวยส่วนใหญ่ที่ไปตั้ง  Family Office ในต่างประเทศ ก็เพื่อต้องการให้ดูแลบริหารจัดการทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้สะดวกและยังได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายในแต่ละประเทศกำหนด ขณะที่ทรัพย์สินในไทย ก็จัดตั้ง Family Office ในไทยดูแล แต่ที่ผ่านมายังไม่ค่อยเห็นลูกค้าจะเลือกตั้ง  Family Office ในไทย แต่จะนิยมตั้ง Family Holding Company มากกว่า

ขณะที่ พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ได้ให้ความเห็น ถึงแนวโน้มการเติบโตของการใช้บริการด้าน Family Office เพิ่มเติมว่า

เนื่องจาก KBank Private Banking ได้ให้บริการลูกค้ากลุ่มบุคคลสินทรัพย์สูง โดยครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน บริการให้คำปรึกษาในเรื่องการบริหารทรัพย์สินครอบครัวและอสังหาริมทรัพย์ มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงได้ทราบว่าในหลายครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวขนาดใหญ่หรือครอบครัวที่มีทรัพย์สินมาก หรือมีกิจธุระที่จะต้องจัดการจำนวนมาก จะมีความต้องการในการจัดตั้งสำนักงานครอบครัวของตนเองมากขึ้นตามไปด้วย

รวมถึง ลูกค้าผู้มั่งคั่งสูงยังต้องการมีผู้ช่วยครอบครัวให้ดำเนินการตามแผนที่ได้รับคำปรึกษาไปใช้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ทำให้ทาง KBank Private Banking เล็งเห็นถึงความต้องการของครอบครัวในการมีผู้ช่วยในการจัดการกิจธุระต่าง  ๆ ของทุกครอบครัว

จากเดิมที่เคยให้คำปรึกษา ให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดตั้งและดำเนินการของสำนักงานครอบครัวตามที่ลูกค้าต้องการจัดตั้งขึ้น  จึงได้ขยายขอบเขตบริการให้ครอบคลุมไปถึงการทำหน้าที่เสมือนเป็นสำนักงานครอบครัวในการช่วยจัดการกิจธุระบางอย่างให้กับลูกค้าด้วย

ส่วนกลุ่มลูกค้าที่ไม่จำเป็นต้องมี FO เป็นของตนเองนั้น ทาง KBank Private Banking ก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือ สำนักงานกฎหมาย ทองเอกแอนด์ทราทิต เพื่อให้บริการเช่นเดียวกับการเป็นสำนักงานครอบครัว โดยปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 

(1) งานติดต่อหน่วยงานราชการ ยื่นเอกสาร และทำนิติกรรมต่าง ๆ เช่น งานติดต่อและจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดิน งานติดต่อและจดทะเบียนบริษัท งานยื่นเสียภาษีที่ดินฯ
(2) งานติดตามทรัพย์ เช่น การสืบทรัพย์มรดก การติดตามทวงหนี้
(3) งานเอกสาร เช่น ทำทะเบียนทรัพย์สิน ร่างพินัยกรรม แปลเอกสารทางกฎหมาย การรับรองเอกสารโดยโนตารีพับลิค
(4) งานจัดเก็บเอกสารสำคัญ เช่น โฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิต่าง ๆ พินัยกรรม

พีระพัฒน์ให้มุมมองอีกว่า เนื่องจากกลุ่มลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงมีแนวโน้มที่จะวางแผนการบริหารจัดการทรัพย์สินของทั้งตนเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบมากขึ้น ทำให้ครอบครัวมีภาระในการดำเนินการตามแผนต่าง ๆ ของครอบครัว เช่น การจัดทำธรรมนูญครอบครัว การจัดประชุมครอบครัว การจัดระบบสวัสดิการ เป็นต้น

ดังนั้น ครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมาก หรือมีกิจธุระหรือทรัพย์สินที่ต้องดูแลเป็นจำนวนมาก จึงมีความสนใจในการจัดตั้ง FO เป็นของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจธุระต่าง ๆ เหล่านั้นของครอบครัวมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี ครอบครัวที่มีสินทรัพย์สูงจำนวนหนึ่ง อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้ง FO เป็นของตนเอง เนื่องจากมีกิจธุระที่ต้องจัดการเป็นครั้งคราว จึงสนใจในทางเลือกของการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับครอบครัวอื่น การให้บริการ FO โดย KBank Private Banking จึงถือกำเนิดมา เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง 

ในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ลูกค้าจำนวนมากได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการจัดการทรัพย์สินและธุรกิจของครอบครัว และเพื่อให้ครอบครัวดำเนินการตามแผนที่วางไว้ จึงต้องการผู้ช่วยในการดำเนินกิจธุระต่าง ๆ ของครอบครัวมากขึ้น

Thailand Web Stat