กาง 3 แนวปฎิบัติจริยธรรมเอไอ รับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ประเทศไทยตื่นตัวรับเทคโนโลยีเอไอ ที่กำลังจะเข้ามาเป็น อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เดินหน้าสร้าง 3 แนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการใช้งานเอไออย่างมีจริยธรรม พร้อมทั้งเตรียมกำหนดมาตรฐานการนำเอไอมาประยุกต์ใช้งานในประเทศไทย คาดเสร็จภายในปลายปีนี้
จุดเริ่มต้นการกำหนดจริยธรรมเอไอ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสนอ โดยให้ดีอีเอส เร่งสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในประเด็นของหลักคิด นิยาม และแนวทางการแปลงแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ไปสู่การปฏิบัติ โดยให้พิจารณากำหนดหน่วยงานที่มีความพร้อมเพื่อเป็นหน่วยงานนำร่อง ในการดำเนินการในระยะแรก และประเมินผลการดำเนินการก่อนขยายผลในระยะต่อไป
ต่อมาในปี 2565 ดีอีเอส โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสร้างความตระหนักรู้ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบมีจริยธรรม เพื่อรองรับการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Understanding Artificial Intelligence ethics in The New S-Curve Industries) เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ดังกล่าว โดยได้มีการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Roadmap) เพื่อขยายผลในระยะต่อไป จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ (Online Course) พัฒนาสื่อและคู่มือสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ พัฒนาเครื่องมือ (Tools) ที่ช่วยในการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพระบบปัญญาประดิษฐ์
รวมถึงมีการฝึกอบรมหลักสูตรการเรียนรู้และการใช้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้น ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป โดยได้ดำเนินการฝึกอบรมในภาคทฤษฎีผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 4,112 คน และอบรมในภาคปฏิบัติ (Workshop) ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จำนวน 1,229 คน
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการ สดช. กล่าวว่า เอไอ เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วโลก โดยมีนักพัฒนาจัดทำปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎ ระเบียบ และจริยธรรม จึงต้องมีการจัดทำเอกสารแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) ขึ้น เพื่อให้ผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของตนเอง และให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิ และตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการใช้บริการปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงานรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์
ทั้งระดับประเทศและระดับองค์กรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย ได้รับการพัฒนาและใช้งาน ก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยความโปร่งใส ครอบคลุมและเป็นธรรม สอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และสิทธิมนุษยชน
รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2562 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่ได้กล่าวถึง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ และยุทธศาสตร์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2563 – 2567 ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ซึ่งมีกลยุทธ์ที่จะพัฒนาและส่งเสริมการลงทุน และการใช้ประโยชน์จากไอโอทีและเอไอ
กาง 3 แนวปฏิบัติจริยธรรมเอไอ
สำหรับแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ดังนี้
1.หลักการทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Principles) มีองค์ประกอบทั้งหมด 6 ด้าน คือ
(1) ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(2) ความสอดคล้องกับกฎหมายจริยธรรมและมาตรฐานสากล
(3) ความโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ
(4) ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
(5) ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม
(6) ความน่าเชื่อถือ
2. แนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Ethics Principle & Guidelines) สำหรับ 3 กลุ่ม คือ
(1) Regulator/Policy ผู้กำหนดกฎระเบียบ กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติจริยธรรม ปัญญาประดิษฐ์
(2) Researcher/Developer/Service Provider องค์กรวิจัยหรือนักวิจัย/บริษัทที่ออกแบบและพัฒนาระบบ/ผู้ให้บริการระบบปัญญาประดิษฐ์กับผู้ใช้งาน
(3) Users ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบปัญญาประดิษฐ์
3. วิธีการปฏิบัติตามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 กำหนดเป้าหมายตามหลักการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั้ง 6 ด้าน กำหนดกลุ่มคน ที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และกำหนดระดับการปฏิบัติตามแนวจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ โดยมีระดับการปฏิบัติตั้งแต่ระดับ 0-5
ขั้นตอนที่ 2 พิจารณากิจกรรมเพื่อปฏิบัติตามแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ผู้ที่จะปฏิบัติตามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ จะต้องนำข้อมูลที่กำหนดเป็นเป้าหมายการดำเนินการตามแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์มาพิจารณา ซึ่งกิจกรรมตามแนวปฏิบัติที่เสนอให้ปฏิบัติตามควรพิจารณาจากความเหมาะสมขององค์กรและกำหนดลำดับตามแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์
ขั้นตอนที่ 3 ปฏิบัติและติดตามตัวชี้วัด ผู้ที่จะปฏิบัติตามจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ เมื่อกำหนดกิจกรรมที่ปฏิบัติแล้ว ให้ดำเนินการปฏิบัติตามแนวทางกิจกรรมตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ และดำเนินการติดตามตามตัวชี้วัดเพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินการปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 สดช. มีแผนงานที่จะดำเนินโครงการสร้างความตระหนักรู้การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบมีจริยธรรม โดยได้กำหนดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ไปสู่การปฏิบัติให้กับหน่วยงานนำร่อง จำนวนไม่น้อยกว่า 4 หน่วยงาน ไว้ในแผนการดำเนินงานโครงการดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สดช.ได้ประกาศแนวทางปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) ไปแล้ว ขณะนี้ สดช.กำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เรื่องมาตรฐานการนำเอไอมาใช้ในประเทศไทย คาดว่าจะเสร็จภายในปลายปีนี้
การใช้เอไอยังมีการถกเถียงกันทั้ง 2 ฝ่าย อีกฝ่ายคือขอให้เปิดเสรี สามารถทดลองกับมนุษย์ได้ แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เทคโนโลยีเอไอที่จะเข้ามาใช้ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น ไอโอที หรือ Chat GPT ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลขนาดใหญ่ ต้องถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม