posttoday

สุธิดา มงคลสุธี ทายาทกิจการหมื่นล้าน รับไม้ยืนหนึ่ง IT ecosystem

18 เมษายน 2566

สุธิดา มงคลสุธี ทายาทกิจการหมื่นล้าน แห่ง บมจ. ซินเน็ค รับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ สุพันธุ์ มงคลสุธี ผู้ผันสู่เส้นทางนักการเมืองแบบเต็มตัว เพื่อสานต่อภารกิจเดินหน้านำพา SYNNEX สู่เป้าหมาย IT ecosystem

กิจการวัย 34 ปี อย่าง บมจ. ซินเน็ค ประเทศไทย (SYNEX) หรือ SYNNEX เริ่มก้าวแรกจากธุรกิจร้านเครื่องเขียนชื่อ "แต้ เกียง เซ้ง” สมัยรุ่นอากง (ปู่) จนเติบโตและต่อยอดมาเป็นผลิตและจำหน่ายแบบพิมพ์ธุรกิจ แบบพิมพ์ซิเคียวริตี้ บริการพิมพ์ระบบดิจิตอลกระดาษพิมพ์ต่อเนื่องสำหรับคอมพิวเตอร์ และบริการคลังสินค้าแบบพิมพ์ ที่ปัจจุบันคือบมจ. ที.เค.เอส. เทคโนโลยี (TKS)

กระทั่งผู้พ่ออย่างสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ปัจจุบันเลือกเส้นทางสายการเมืองในฐานะรองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของ พรรคไทยสร้างไทย  เล็งเห็นโอกาสในธุรกิจจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์และไอทีหลังได้มีประสบการณ์จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษต่อเนื่อง จึงได้แจ้งเกิดกิจการในเครืออย่าง บริษัท คอมเพ็ค (ประเทศไทย) จํากัด เมื่อปี 2531 จนเป็น SYNEX กิจการที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Caps.) กว่า 1 หมื่นล้านในวันนี้

โดยปัจจุบัน SYNNEX ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ ระบบสารสนเทศ วัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ โดยครอบคลุมสินค้ากว่า 70 แบรนด์ชั้นนำ มีช่องทางการจัดจำหน่ายกว่า 6,000 ราย และมีศูนย์บริการและพันธมิตรกว่า 75 แห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำองค์กรคือ สุธิดา มงคลสุธี กับบทบาทประธานเจ้าหน้าที่บริหาร   

ทุกวันนี้ ใครก็ตามถ้าใช้สินค้า IT Gadget ต้องมีชิ้นหนึ่งที่น่าจะเป็นสินค้าของเรา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ Wi-Fi มือถือ โน้ตบุ๊ก หมึก เช่นเดียวกับที่วันนี้เราเริ่มทำ Garmin แล้ว 

ย้อนไปกว่า 13 ปี ก่อนที่ทายาทผู้เป็นลูกสาวคนโตของของครอบครัว อย่าง สุธิดา จะกลับมาช่วยงานในธุรกิจครอบครัวนั้น เธอเคยผ่านประสบการณ์ด้านการเป็นนักวิเคราะห์จาก บล. ในตำแหน่งผู้จัดการฝึกหัด (นักวิเคราะห์หลักทรัพย์) บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ราว 1 ปี และตามมาด้วยบทบาทใหม่ที่ฝ่ายการลงทุนระหว่างประเทศ ก่อนไปศึกษาต่อ

กระทั่งตัดสินใจมาช่วยงานในตำแหน่งเลขานุการที่ SYNNEX แล้วค่อย ๆ เก็บประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จนได้รับภารกิจที่เข้มข้นในฐานะของประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน หรือ CFO จนได้รับความไว้วางใจ แล้วขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างเต็มตัวเมื่อราว 9 ปีก่อน 

สุธิดาเล่าย้อนถึงวิธีการทำงานในฐานะทายาทอีกว่า บริษัทเติบโตและขยาย portfolio มาเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานมากมายที่ไม่รู้ว่า SYNNEX อยู่เบื้องหลังการนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งส่วนตัวและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนยี่ห้อต่าง ๆ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือพรินท์เตอร์

หลังจากคุณพ่อส่งไม้ เพื่อให้รับช่วงบริหารกิจการต่อให้ ก็เหมือนกับเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ขยายพอร์ตให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน จาก Generation สู่ Generation

ปัจจุบันธุรกิจภาพรวมของ SYNNEX แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1) Commercial ที่จะมีสินค้าหลัก ๆ ได้แก่ อุปกรณ์เครือข่าย เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ ซอฟท์แวร์ เป็นต้น ที่ล่าสุดมีส่วนแบ่งรายได้ถึง 42% ของรายได้รวมในปีที่ผ่านมา 2) Communication ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และพวกอุปกรณ์ Gadget ต่าง ๆ ซึ่งทำรายได้ 31% และ 3) Consumer ได้แก่ Personal Computer อุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เครื่องพิมพ์ เก็บรายได้ที่ 21% 

อย่างไรก็ตาม สุธิดาเปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากสินค้ากลุ่มเกมมิ่ง แบรนด์ Nintendo ที่เป็นสินค้าใหม่ที่เริ่มเป็นผู้จัดจำหน่ายเมื่อปีก่อน ที่ช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการเป็นผู้นำในตลาดสินค้าเกมมิ่ง

ขณะที่กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารยังเติบโตได้จากการเติบโตของยอดขายแบรนด์ Apple แม้จะเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าจากโรงงานผลิตสินค้าในจีนในช่วงไตรมาส 4/2565 ก็ตาม 

พิสูจน์ฝีมือรับความท้าทาย

แม้สุธิดาจะได้รับโอกาสในฐานะทายาทสายตรงของผู้สร้างกิจการก็ตาม แต่เส้นทางพิสูจน์ฝีมือของเธอ ก็ถือว่าต้องเผชิญกับความท้าทายมาไม่น้อยเช่นเดียวกับผู้นำองค์กรคนอื่น ๆ จนทำให้ค้นพบว่า "การปรับตัว" คือกุญแจสำคัญที่เปิดประตูสู่การเป็นผู้อยู่รอดในธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งมีสารพัดการเปลี่ยนแปลงมาให้ต้องรับมืออย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการขยายธุรกิจ เพื่อให้มี  portfolio ที่หลากหลายดังปัจจุบัน

นับเป็นข้อดีของการอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพราะทำให้ต้อง active และติดตามการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับที่ต้องมีระบบการจัดการหลังบ้านที่ดีมาก เพื่อให้สามารถปรับตัวกับความท้าทายต่าง ๆ ได้

หนึ่งความท้าทายที่สุธิดาบอกเล่าคือ เมื่อครั้งที่เธอขึ้นมานั่งเก้าอี้ CEO ได้ไม่นาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แท็บเล็ตเข้ามาตีตลาด ทำให้ลูกค้าในกลุ่มผู้จัดจำหน่ายโน๊ตบุ๊ค เริ่มตื่นตระหนกว่า แท็บเลตจะเข้ามาแทนที่โน๊ตบุ๊ค จึงเริ่มหยุดสั่งสินค้า นับเป็นโจทย์ที่เธอต้องหาทางออก สำหรับสต็อกสินค้าจำนวนมากที่ได้สั่งเข้ามารอไว้แล้ว

จากสถานการณ์ครั้งนั้น ทำให้เธอต้องใส่ศักยภาพเต็มที่ในการพูดคุยเจรจากับทั้งผู้ผลิตและลูกค้า เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น แม้ว่าตอนนั้นเธอยังเป็น CEO ที่อายุน้อยมากในแวดวงธุรกิจขายสินค้าเทคโนโลยีก็ตาม 

อีกหนึ่งเหตุการณ์ท้าทายที่สุธิดาได้วัดฝีมือ คือ มาตรการต่อต้านสินค้าแบรนด์จีนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งกีดกันไม่ให้มีการใช้ Google ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Huawei ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งใน portfolio ที่สำคัญของบริษัท เพราะสร้างรายได้มหาศาลถึงราวหมื่นล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา สุดท้ายเมื่อแบรนด์ได้รับผลกระทบ ก็ต้องเริ่มขยายไปเปิดตลาดกับแบรนด์ใหม่ ๆ ด้วยการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากค่าย Apple มาทดแทนรายได้จาก Huawei ที่หายไป 

วันนี้เรากับ Huawei ก็ยังเป็นพาร์ทเนอร์กัน แต่ก็มองว่าต้องบาลานซ์ ต้องขายได้หมด อยากให้ทุกคนมองแค่ว่า เราดูแลอย่างดีที่สุด มาอยู่กับ Synnex ไว้ใจได้เลย  เพราะเราเป็นพาร์ทเนอร์กับทุกค่าย

สานต่อยืนหนึ่ง IT Ecosystem

สำหรับช่วงที่ผ่านมา ที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้ในปี 2565 ที่ทำ All time high กว่า 3.9 หมื่นล้านบาท บริษัทเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ และจุดเปลี่ยนต่าง ๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น Lifestyle การเข้าถึง Digital Platform & Connected devices การทำงานแบบ Hybrid Security & Privacy การเข้าถึงความบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยว จึงเป็นปัจจัยให้วิสัยทัศน์ของบริษัท จึงมุ่งเน้นเพื่อตอบสนองและคว้าโอกาสเหล่านั้นไว้ 

สำหรับภารกิจหลักในปีนี้ คือการนำพาให้ SYNNEX เดินหน้าสู่การเป็น No.1 IT Ecosystem ทั้งด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า Commercial จากการขายแบบเดิม ไปสู่การนำเสนอแบบ Solution-Based

โดยเป็นการนำเสนอ Solution เพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น และเพื่อให้บริษัทสามารถพลักดันกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทจึงเลือกจับมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อเข้ามาเติมเต็มระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะ จากความร่วมมือของกลุ่มบริษัท ระหว่าง TKS และ บมจ. แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) เป็นอีกดีลที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ SYNNEX ขยายบริการไปยังกลุ่มธุรกิจผู้รับเหมาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร (SI) ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสบุกตลาดใหม่ ๆ ที่มีการเติบโต ตอบโจทย์ลูกค้าในยุค Digital Transformation

จากก่อนหน้านี้ ที่บริษัทได้ขยายเข้าไปในกลุ่มสินค้าระบบเครือข่ายและความปลอดภัย (Network & Security) ที่ร่วมมือกับบริษัท ไซเบอร์ตรอน จำกัด (Cybertron) เพื่อสร้างการเติบโตด้าน Cybersecurity และล่าสุดจับมือ Alibaba could ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับโซลูชั่นฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ให้บริการของซินเน็คฯ ได้อย่างครอบคลุมทุกมิติขึ้น

ทั้งนี้ Cybertron คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเป็นศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางระบบออนไลน์ Security Operation center (SOC) อีกทั้งให้บริการนวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับสากล ที่มีการตรวจสอบแบบเรียลไทม์และการตอบสนองต่อเหตุการณ์ เพื่อควบคุมและลดผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัล (Digital Forensics) เพื่อระบุสาเหตุ แรงจูงใจและที่มาของเหตุการณ์

สำหรับการเข้ามาร่วมลงทุนดังกล่าว เพื่อต้องการขยายตลาดร่วมกัน ด้วยมองว่าจะช่วยสร้างความพร้อมให้องค์กรธุรกิจและประชาชน ในการให้ความสำคัญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ พร้อมสนับสนุนการขาย แผนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นจุดแข็งของ SYNNEX ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้แก่ลูกค้าของไซเบอร์ตรอนมากขึ้น พร้อมกับการสร้างมูลค่าการเติบโตให้ธุรกิจ 

เราอยากจะเป็นเบอร์หนึ่งด้าน IT Ecosystem ในเมืองไทย โดยที่ล่าสุดคือการต่อภาพด้าน cyber security เพื่อให้ Ecosystem ของเราครบถ้วนขึ้น นั่นคือจะโตทั้ง organic growth และ inorganic growth โดยจะยังคงเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุม ทั้งในแง่แข็งแรงมากขึ้นจากสินค้าและแบรนด์หลากหลาย แล้วยังมี Ecosystem ที่กว้างมาก ซึ่งย่อมทำให้แกร่งและเติบโตมากขึ้น