posttoday

ทำความรู้จัก False Base Station ปลอมเอสเอ็มเอส ไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ

04 พฤษภาคม 2566

กลโกงมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย สามารถปลอมเอสเอ็มเอสส่งไปหาเหยื่อโดยตรงไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ ด้านกสทช.ตื่นตัวตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือปัญหาดังกล่าว หลังพบมีลูกค้าธนาคารได้รับเอสเอ็มเอสปลอมแล้วกว่า 50 ราย

พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.) กล่าวว่า ปัจจุบันพบเทคนิคการส่งเอสเอ็มเอสปลอมของมิจฉาชีพไปยังประชาชนรูปแบบใหม่โดยไม่ผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ที่เรียกว่า False Base Station (FBS) หรือ Fake Base Station เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับข้อความหลงเชื่อว่าเป็นเอสเอ็มเอสจากหน่วยงานจริง สามารถปลอมชื่อ และหลอกให้คลิกลิงก์หรือแอดไลน์เพื่อหลอกลวงเงินจากประชาชน ปัจจุบันมีลูกค้าของธนาคารแห่งนี้ประสบปัญหานี้แล้วกว่า 40-50 ราย แต่ยังไม่สามารถบอกตัวเลขความเสียหายได้

ทำความรู้จัก False Base Station ปลอมเอสเอ็มเอส ไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ

สำหรับอุปกรณ์นี้จะมีลักษณะเป็นกล่อง มีเทคโนโลยีสามารถจำลองตนเองเป็นเครือข่ายหนึ่ง เมื่อมีเป้าหมายเข้ามาใกล้อุปกรณ์ดังกล่าวโทรศัพท์มือถือจะหลุดจากเครือข่ายโอเปอเรเตอร์เพียงเสี้ยววินาที และไปจับสัญญาณกับ FBS แทน เพื่อส่งเอสเอ็มเอสปลอมไปยังเป้าหมายโดยไม่ทันได้สังเกต หากหลงเชื่อก็จะตกเป็นเหยื่อและขอย้ำว่าธนาคารได้ยกเลิกการส่งเอสเอ็มเอสแนบลิงก์ไปยังประชาชนแล้ว

ทำความรู้จัก False Base Station ปลอมเอสเอ็มเอส ไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ

ทั้งนี้ FBS เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้ในกลุ่มเอฟบีไอ ซึ่งใช้ในการดักฟัง ดักสัญญาณเอสเอ็มเอส เนื่องจากเทคโนโลยีเอสเอ็มเอสเป็นระบบเก่าแก่ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นอุปกรณ์ดังกล่าวจึงสามารถทำงานส่งเอสเอ็มเอสได้ แต่ไม่สามารถดักฟังได้เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีก้าวกระโดดไปถึง 4G และ 5G แล้ว หากต้องการดักฟังระบบต้องถูกลดเครือข่ายเหลือ 2G ซึ่งทำได้ยากและผู้ใช้งานหรือโอเปอเรเตอร์จะรู้ทันที

ทำความรู้จัก False Base Station ปลอมเอสเอ็มเอส ไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ

แต่การส่งเอสเอ็มเอสนั้นรวดเร็วมาก และโอเปอเรเตอร์ไม่สามารถรู้ได้ เพราะใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นจึงต้องมีกรณีการร้องเรียนเกิดขึ้น แต่การจับกุมก็เป็นไปได้ยาก เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วเพราะเป็นอุปกรณ์พกพา ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สกมช.,ธนาคาร,สำนักงานตำรวจ และโอเปอเรเตอร์ ต้องร่วมมือกันหาทางป้องกันร่วมกัน

ทำความรู้จัก False Base Station ปลอมเอสเอ็มเอส ไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ

โดยกสทช.ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงปัญหาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในการตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยมีกสทช.เป็นประธานคณะทำงาน

พล.อ.ต.อมร กล่าวว่า กลโกงและเทคนิค FBS ของมิจฉาชีพเคยระบาดและเกิดขึ้นแล้วที่จีนเมื่อปี 2557 มีการพบอุปกรณ์ดังกล่าวจำนวน 1,500 สถานี ซึ่งขณะนั้นมีผู้ต้องสงสัย 3,540 คน และจับดำเนินคดีได้ 1,330 คน

ทำความรู้จัก False Base Station ปลอมเอสเอ็มเอส ไม่ผ่านเครือข่ายมือถือ

“FBS เริ่มเข้ามาแพร่ระบาดในไทยเมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่ามีการจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวของคนจีนอย่างแพร่หลาย และสามารถหาซื้อได้ง่ายอีกด้วย”

ด้านนายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ 2-3 แห่ง ที่ถูกเอสเอ็มเอสปลอมชื่อของธนาคาร โดยมิจฉาชีพที่ใช้วิธี FBS ซึ่งขณะนี้ทางภาคธนาคารไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการหารือเพื่อป้องกันปัญหานี้กับทาง สำนักงาน กสทช. โอปอเรเตอร์ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทาง กสทช.จะมี การตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งการใช้เครื่อง FBS ถือว่าผิดกฎหมาย และขอเตือนประชาชนว่า ปัจจุบันธนาคารทุกแห่ง ได้ยกเลิกการส่ง เอสเอ็มเอสที่แนบลิงค์แล้ว หากได้รับขอให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพอย่าคลิก และให้ตรวจสอบกับทางธนาคารก่อน