posttoday

เปิดเทอมใหม่ พบค่าใช้จ่ายการศึกษาเพิ่ม 5% ผู้ปกครองเกือบ 70% ห่วงเงินไม่พอ

09 พฤษภาคม 2566

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจ พบว่าเปิดเทอมปี 2566 มีการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น 5% หรือราว 28,500 ล้านบาท โดยผู้ปกครองเกือบ 70% กังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจการเตรียมความพร้อม พฤติกรรมในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเปิดเทอมใหญ่ปี 2566 ของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียน (ในปี 2566 คาดว่าจะมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนประมาณ 10.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 0.9% จากปี 2565)

โดยในช่วงการเปิดภาคการศึกษาใหม่ของทุกปี ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่สูงทั้งค่าธรรมเนียมการศึกษา (เช่น ค่าเทอม ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าบำรุง และค่ากิจกรรม เป็นต้น) ค่าเรียนกวดวิชา ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนใหม่ 

รวมถึงปัญหาของระบบการศึกษา และมุมมองที่อยากเห็นระบบการศึกษาไทยพัฒนาต่อไปในระยะข้างหน้า โดยแบบสำรวจครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากกลุ่มตัวอย่าง 550 คน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ  

ไม่ว่าจะเป็น การที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีความกังวลภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน แต่ดีขึ้นเล็กน้อยกว่าในช่วงการระบาดโควิด-19 ผู้ปกครองรับมือกับปัญหาด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 

ผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นมากนัก รายได้ยังไม่เหมือนเดิม ขณะที่ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันปรับตัวสูงขึ้น และผลสำรวจยังพบว่า ผู้ปกครองกว่า 68.5% แสดงความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 2566 นี้ (ดีขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา เนื่องจากกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนปกติ ภาคธุรกิจบริการอย่างการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ทำให้รายได้ของประชาชนในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวดีขึ้น)

โดยกลุ่มที่มีความกังวลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง (กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน) และมีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คน เนื่องจากการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุตรหลาน โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกที่จะรับมือกับปัญหาด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษา

สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครอง ที่มีรายได้และเงินออมไม่เพียงพอเพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมเพื่อการศึกษา รวมถึงใช้จ่ายในการซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากการยืมญาติ/เพื่อน สินเชื่อจากสถาบันการเงิน โรงรับจำนำ รวมถึงการขอผ่อนผันหรือผ่อนชำระกับทางโรงเรียน

การใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาใหม่ปี 2566 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นี้ ผลสำรวจ พบว่า งบประมาณของผู้ปกครองเพื่อการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2566 นี้ ส่วนใหญ่มองว่า เพิ่มขึ้น”เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเปิดเทอมใหญ่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมาจากหลายปัจจัย 

  • การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา จากผลสำรวจ พบว่า โรงเรียนเอกชนบางแห่งมีการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าเทอม รวมไปถึงค่ากิจกรรมพิเศษ ค่าสมาคมผู้ปกครอง และค่าอาหาร เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการทำธุรกิจอย่างค่าแรงบุคลากร และค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่ายังมีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่ยังคงค่าเทอม  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ค่าธรรมเนียมเพื่อการศึกษา (คำนวณในส่วนของโรงเรียนรัฐและเอกชน ไม่รวมโรงเรียนนานาชาติ) เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4.8% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 23,800 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน เนื่องจากราคาสินค้าปรับขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ผู้ปกครองมีการปรับพฤติกรรมในการซื้อสินค้า ส่วนใหญ่ซึ้อสินค้าในช่วงที่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคา ซื้อสินค้าที่มีราคาไม่สูง และบางกลุ่มเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับผู้จัดจำหน่ายสินค้า และผู้ประกอบการในกลุ่มโมเดิร์นเทรดมีการจัดโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษ และการนำสินค้าที่มีราคาไม่สูงมาทำตลาดเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและภาระรายจ่ายที่สูง และในปีนี้ รัฐบาลได้มีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงเงินอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ปกครองในระดับหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8.0% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 2,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อกาศึกษาที่เพิ่มขึ้น มาจากในส่วนของการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ อาทิ ค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชา และเสริมทักษะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการมีงานทำและรายได้ทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้ปกครองบางกลุ่มกลับมาส่งบุตรหลานไปเรียนกวดวิชา แต่ผู้ปกครองในกลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องเลือกที่ปรับลดวิชาเรียน หรือบางกลุ่มงดการเรียนพิเศษและเสริมทักษะ

รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับบุตรหลานไปโรงเรียน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาใหม่ปี 2566 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีมูลค่าประมาณ 28,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5.0% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน 

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการเห็นนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้เป็นรูปธรรม  พร้อมกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนและเนื้อหาของบทเรียนให้ทันสมัย หรือสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต 

รวมถึงจากผลสำรวจ การรับรู้/คาดหวังที่จะเห็นนโยบายในการพัฒนาการศึกษาของไทยของพรรคการเมืองต่าง ๆ พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่รับรู้ถึงนโยบายด้านการศึกษาแต่มองว่านโยบายยังไม่ชัดเจนและอยากให้ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาได้ตรงจุด 

ทั้งนี้ นอกจากนโยบายการเรียนฟรี หรือการเพิ่มงบประมาณอุดหนุนค่าอาหาร อุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียน เพื่อแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ปกครองแล้ว จากผลสำรวจ สะท้อนมุมมองของผู้ปกครองที่อยากเห็นการพัฒนาการศึกษาในอนาคต ส่วนใหญ่มองไปในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนและเนื้อหาของบทเรียนให้ทันสมัย หรือสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต พัฒนาทักษะเพื่อการประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์ การช่วยเหลือตนเอง วิชาเรียนที่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง 

รวมถึง ภาครัฐควรมีการลงทุน/พัฒนาระบบการศึกษาให้มีความเท่าเทียมระหว่างในเมืองและชนบท รวมถึงการลงทุนในเครื่องมือการเรียนการสอน/เครื่องคอมพิวเตอร์/ห้องปฏิบัติการ ให้เพียงพอและทันสมัย  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาระหว่างในเมืองและชนบทที่ยังสูง และให้นักเรียนในชนบทได้เรียนรู้เท่ากับนักเรียนในเมือง

เนื่องจากการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุตรหลาน ผู้ปกครองบางรายต้องประหยัดค่าใช้จ่ายหรือเป็นหนี้เพื่อที่จะส่งบุตรหลานให้ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้ได้งานทำและมีรายได้สูงในอนาคต 

ท้ายสุด การให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูผู้สอนและเพิ่มบุคลากรครูผู้สอนในโรงเรียน เพื่อให้คุณภาพการสอนสามารถทำได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น