posttoday

เปิดกลเกมรัฐบาลประยุทธ์เขียนเงื่อนไขแบตอีวีเอื้อพวกพ้อง

11 พฤษภาคม 2566

ระบุเขียนเงื่อนไขเพื่อรอใคร แม้จะมีบริษัทไทยแสดงความสนใจลงทุน แต่กลับไม่เสนอครม.หวั่นสร้างความไม่เชื่อมั่นการลงทุน หนีซบประเทศเพื่อนบ้าน กระทบแผนฮับอีวีอาเซียน ขวางความเจริญของไทย ด้านบอร์ดอีวี มั่นใจรัฐบาลใหม่สานต่อ เหตุเป็นเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ประเทศ

การนำวาระการประชุมมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ก่อนยุบสภาและกลายเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการนั้น ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ฮับการผลิตรถอีวีในอาเซียนแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะย้ายกำลังการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีความพร้อมไม่ต่างกัน

หวั่นนักลงทุนย้ายฐานการผลิต
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการย่อมทำให้ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณต่างๆได้ก็จริง แต่หากเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศแล้ว รัฐบาลสามารถทำเรื่องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ ไม่เช่นนั้นหากต้องรอรัฐบาลใหม่จัดตั้งเสร็จอาจกินเวลาล่วงเลยไปถึงเดือน ก.ย.2566 ส่งผลให้ต่างชาติไม่เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอีวีไม่น้อยกว่าประเทศไทย สุดท้ายประเทศไทยจะกลายเป็นเพียงผู้ส่งออก ไม่ใช่ฐานการผลิต

หากมีการย้ายฐานการผลิต คนในอุตสาหกรรม 1 ล้านคนจะตกงาน การลงทุน 1 ล้านบาท ต่อ 1 โรงงานจะหายไป นอกจากนี้ยังพบว่า มาเลเซีย และเวียดนาม คือเป้าหมายฐานการผลิตของบริษัทจีน 
 

นโยบายขับเคลื่อนไม่สมบูรณ์
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวคิดของบอร์ดอีวี ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ฮับในอาเซียนนั้น ต้องขับเคลื่อน 2 แนวคิด ไปพร้อมๆกัน นั่นคือ 1. การกระตุ้นดีมานด์ ให้มีผู้ผลิตรถอีวีมาลงทุนในประเทศไทย ผ่านนโยบายการสนับสนุนงบประมาณ 150,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนราคารถอีวีราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท มีราคาเท่ากับรถยนต์ใช้น้ำมัน ทำให้เกิดโรงงานประกอบรถอีวีในประเทศไทยหลายโรงงาน

และ 2.การสนับสนุนให้เกิดซัพพลาย เชน ในการผลิต เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นเพียงฐานการประกอบและส่งออกเพียงเท่านั้น การสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเป็นฮับผู้ผลิตรถอีวีครบวงจรและตอบโจทย์นโยบายของประเทศ

ทว่าที่ผ่านมา รัฐบาลขับเคลื่อนเพียงด้านเดียวคือการสนับสนุนให้ใช้รถอีวี แต่อีกด้านหนึ่งคือเรื่องส่งเสริมให้เกิดการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย ผ่านมาปี กว่าแล้ว ตั้งแต่มีบอร์ดอีวี กลับยังไม่ได้ดำเนินการสนับสนุนใดๆทั้งสิ้น

เงื่อนไขเอื้อพวกพ้อง
แหล่งข่าวกล่าวว่า เหตุผลที่สำคัญที่ทำให้นโยบายการสนับสนุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศเกิดขึ้น เนื่องจากมติบอร์ดอีวี มีเงื่อนไขสนับสนุนกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 8GWh/ปี 

การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว หากดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่า เป็นมาตรฐานกำลังการผลิตที่เกินจริง และยังไม่มีประเทศยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกประเทศที่กำหนดแบบให้ต่างชาติเข้ามาก่อน ที่จะนำสนับสนุนคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น แม้แต่กำลังการผลิต ก็ไม่มีใครกำหนดที่ 8GWh/ปี ญี่ปุ่นกำหนด 3GWh/ปี หรือแม้แต่ อินเดีย กำหนด 5GWh/ปี

แต่บอร์ดอีวี กลับกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ผลิตระดับโลก เช่นนี้อาจถูกตั้งคำถามว่า “เป็นการขายชาติ บ่อนทำลายชาติ” หรือไม่ ทำไม่เงื่อนไขต้องเปิดโอกาสให้ต่างชาติก่อน แล้วค่อยส่งเสริมบริษัทคนไทยทีหลัง

บอร์ดอีวีอ้างว่ามีผลการศึกษาว่าต้องมีกำลังการผลิต 8GWh/ปี ไม่เช่นนั้นจะสู่กับตลาดโลกไม่ได้ แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นผลการศึกษานั้น แม้แต่คนในบอร์ดเอง 

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับประเทศไทยพบว่ามี 2 บริษัทที่สามารถผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีได้ นั่นคือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดยมีกำลังการผลิต 1GWh/ปี 

แต่เมื่อบอร์ดอีวี ต้องการกำลังการผลิต 8GWh/ปี ก็สามารถขยายกำลังการผลิตได้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและขับเคลื่อนนโยบายประเทศ และก็มีเอกชนเสนอตัวในการขอรับเงินสนับสนุนตามาตรการของบอร์ดอีวีแล้วด้วย เพียงแต่รอให้ครม.ลงมติ ซึ่งสุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ถอดวาระออกจากที่ประชุม

เจตนาของรัฐบาลประยุทธ์และประธานบอร์ดอีวี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ต้องการให้นโยบายเกิดหรือไม่ หรือต้องการรอใคร!!!

เพราะหากดูในรายละเอียดเงื่อนไขการสนับสนุน บนหลักการ First Come- First Serve “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” นั้น ทำให้ต้องการรอคนที่ต้องการมาพร้อมๆกันหรือไม่

ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตที่ต้องการขอรับเงินสนับสนุนสามารถรับเงินสนับสนุนได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีโรงงานผลิตก่อน แต่สามารถนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปีแรก ก่อนได้ และได้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% และยกเว้นอากรนำเข้า

โดยผู้ขอรับสิทธิ์ต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 3 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 คือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชด.เชย 2 แพ็ค หรือต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 4 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 หรือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 3 แพ็ค

เช่นนี้แล้วยิ่งทำให้บริษัทคนไทยที่มีโรงงานพร้อมขยายกำลังการผลิตอยู่แล้วเสียเปรียบหรือไม่!!!

มั่นใจรัฐบาลใหม่สานต่อนโยบาย
ด้านนายยศพงษ์ ลออนวล อดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยคนแรก และนั่งเป็นบอร์ดอีวี กล่าวว่า เรื่องนี้ผ่านมติบอร์ดอีวี เรียบร้อยแล้ว ต่อไปต้องเป็นหน้าที่ของครม.ในการพิจารณาต่อไป แม้ว่าจะต้องรอรัฐบาลหน้าตัดสินใจ แต่ก็เชื่อว่านโยบายนี้จะได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้าต่อ เพราะเป็นนโยบายสร้างเงิน สร้างรายได้ และสร้างงานเข้าประเทศไทย ที่สำคัญไม่ได้กระทบต่อธุรกิจอื่น เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจใหม่

ส่วนเรื่องที่กังวลว่า จะกระทบต่อฐานการผลิต ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตหรือไม่นั้น ตนเองมองว่า การลงทุนสร้างโรงงานเป็นสิ่งที่ต้องวางแผนมาก่อนหน้านี้แล้ว การลงทุนใช้เงินเป็นระดับหมื่นล้าน หากต่างชาติสนใจจะมาลงทุนยังไงเขาก็ต้องมา แต่การสนับสนุนเงินจากรัฐบาลเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เกิดเร็วขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่า 

ตอนนี้ ผมอยู่ที่บาหลี อินโดนีเซีย มาประชุมเรื่องนี้ เขาก็บอกว่าประเทศไทยเหมาะแก่การลงทุนมากกว่า ด้วยนโยบายที่ชัดเจน ความต้องการใช้รถอีวี และภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่เหมาะสมในการตั้งสถานีชาร์จไฟ ขณะที่อินโดนีเซียมีภูเขาเยอะ และคนส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซต์ ดังนั้นจึงเป็นคนละตลาดกัน

ส่วนเรื่องกำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่ที่กำหนดไว้ที่ 8GWh/ปี นั้น อาจจะมองว่าเยอะ แต่ในระยะยาวอาจไม่เพียงพอ การศึกษาจึงเป็นการคาดการณ์ความต้องการใช้งานในอนาคต พร้อมยืนยันว่านโยบายรถไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นนโยบายเปิดเสรีและสนับสนุนคนไทยแน่นอน

สามารถอ่านย้อนหลังตอนที่ 1 เรื่อง “แผนอีวีไทยสะดุดยกแผง ครม.ประยุทธ์เตะถ่วง” https://www.posttoday.com/business/694253
และตอนที่ 2 เรื่อง “เจาะเบื้องลึก “ไอ้โม่ง” ขวางแผนแบตอีวี” https://www.posttoday.com/business/694322