posttoday

ศุภวุฒิ สายเชื้อ เจาะนโยบายก้าวไกล ติงระวังสกัดเศรษฐกิจฟื้น

31 พฤษภาคม 2566

สะท้อนมุมมอง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เจาะนโยบายพรรคก้าวไกล ติงอาจส่งผลสกัดเศรษฐกิจฟื้น ทั้งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการเก็บภาษีต่าง ๆ เตือนทำรัฐสวัสดิการอย่างระมัดระวัง

ด้วยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจทั้งไทยและโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำและมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสำคัญหลาย ๆ ด้าน ซึ่งอาจต้องทบทวนหรือระวังว่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากมุมมองของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ได้เผยแพร่ทาง FM 96.5 ที่ผ่านมา

ติงอย่าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที

โดยดร.ศุภวุฒิเริ่มจาก ฝากให้รัฐบาลใหม่ต้องระวังการดำเนินนโยบายที่ต้องไม่เป็นการสกัดเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะนโยบายที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญและนักธุรกิจเริ่มออกมาเตือนกันแล้ว ดังเช่นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท/วันทันที ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาต่อกลุ่ม SME

โดยพบว่าเมื่อไปเจาะลึกตัวเลขต่าง ๆ ก็พบว่า SME ของไทยมีปัญหาจริง ๆ ดังเช่นตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งระบุว่าภาระหนี้ของกลุ่ม SME ยังคงอยู่ในระดับสูง ยิ่งเมื่อรวมตัวเลขหนี้ NPL และหนี้ที่กล่าวถึงพิเศษ (2-3 เดือนเริ่มจ่ายดอกเบี้ยผิดปกติ) อยู่ที่ 20% ของสินเชื่อกลุ่ม SME ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่ามี SME อยู่ราว 20% ที่มีปัญหา 

ไม่เท่านั้นยอดการปล่อยสินเชื่อให้แก่ SME แทบจะไม่เพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นั่นคือสะท้อนว่าธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้แก่ SME รวมไปถึงยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มให้กลุ่มธุรกิจในภาพรวมด้วย แต่ยังเก็บดอกเบี้ยอยู่ตลอดเวลา นั่นคือเม็ดเงินหรือสภาพคล่องอยู่ในมือเจ้าของธุรกิจน้อยลง แล้วแบงก์ชาติยังจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก

ดังนั้นด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ที่ภาคธุรกิจในประเทศยังมีอุปสรรคในการเติบโต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีปัจจัยมาสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ขณะที่ทางออกที่จะเป็นไปได้คือการดึงเงินทุนใหม่เข้ามา โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI แต่ด้วยนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็อาจจะไปเพิ่มภาระหรือส่งผลกระทบต่อค่าจ้างแรงงานของกลุ่มนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เตือนเก็บภาษีนิติบุคคล

อีกนโยบายที่น่าเป็นห่วงในมุมมองของดร.ศุภวุฒิ ว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนเพิ่ม คือการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขนาดใหญ่ ที่คาดหวังว่าจะสร้างรายได้ให้ภาครัฐราว 9.2 หมื่นล้านบาทต่อปีจากนิติบุคคลขนาดใหญ่ที่มีกำไรสุทธิ 300 ล้านบาทขึ้นไป เพราะหากจะชวนให้มา FDI เพิ่มขึ้น แต่มีประเด็นเรื่องจัดเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มจาก 20% เป็น 23% ก็ยิ่งทำให้แรงจูงใจที่จะมาลงทุนในเมืองไทยลดลง

ขณะที่เมื่อมองในแง่ผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ที่ดูเหมือนนักลงทุนจะโดนเก็บภาษี 3 เด้ง คือทั้งจากภาษีนิติบุคคลขนาดใหญ่ (บริษัทใหญ่ที่อยู่ในตลาดหุ้นต่างเป็นนิติบุคคลที่มีกำไรสุทธิเกิน 300 ล้านแทบทั้งนั้น) การจัดเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้น (Capital Gains Tax) และภาษีจากการทำธุรกรรมการเงิน (Financial Transaction Tax) หรือภาษีขายหุ้น จึงอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าภาษีเหล่านี้ จะส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนในตลาดหุ้นมากน้อยเพียงใด

ดังนั้นจึงอยากฝากพรรคก้าวไกลหรือรัฐบาลใหม่ว่า ให้คำนึงถึงประเด็นที่นโยบายต่าง ๆ จะส่งผลต่อการลงทุนและการจ้างงาน ที่จะมีผลไปสกัดเศรษฐกิจฟื้นตัวนั่นคือ อย่าไปทำให้นโยบายด้านรัฐสวัสดิการไปส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไปทำให้ขนาดเค้กเล็กลงหรือไม่ใหญ่ขึ้น สุดท้ายก็จะแบ่งเค้กลำบาก 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง นโยบายการภาษีความมั่งคั่งสุทธิ (Net Wealth Tax) หรือภาษีคนรวย ที่จะเก็บภาษีที่ 0.5% ของผู้ที่มีความมั่งคั่งสุทธิ 300 ล้านบาทขึ้นไปที่น่าจะมี 100,000 รายทั่วประเทศนั้น แม้ดร.ศุภวุฒิมองว่าดี ในแง่นำเงินภาษีที่เก็บได้ไปต่อยอดเป็นสวัสดิการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น เงินเดือนผู้สูงอายุ 3,000 บาท เป็นต้น

แต่ผลกระทบที่ตามมาจาก Wealth Tax คือแทนที่คนรวยคิดอยากจะลงทุนเพิ่มก็อาจเปลี่ยนใจหรือชะลอ เพราะไม่อยากโดนเก็บภาษีเพิ่ม ก็ยิ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงอาจทำให้ผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องหรือไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มในอนาคตขายออกไป หรือย้ายไปลงทุนหรือซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศแทน อีกทั้งหากรัฐบาลยังมีแนวทางว่าจะตามไปเรียกเก็บภาษีจากความมั่งคั่งในต่างประเทศอีก 

นอกจากนี้ยังเปรียบเทียบอีกว่า การเก็บภาษีเหมือนการยึดทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่สุดท้ายก็คงไม่มีใครต้องการ นอกเสียจากยืนยันว่านำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนั้นการยึดทรัพย์ย่อมต้องมีข้อจำกัดและมีหลักการที่ชัดเจน จึงต้องไปดูภาพรวมให้ดี 

ดร.ศุภวุฒิยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้วส่วนใหญ่ นักการเมืองจะไม่ค่อยหยิบยกประเด็นเรื่องเก็บภาษีเพิ่มมาพูด เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวและไม่มีใครชอบ

สุดท้าย ดร.ศุภวุฒิให้มุมมองต่อปัจจัยที่จะทำให้ตลาดหุ้นกลับมาฟื้นดีขึ้นจากตอนนี้ได้ว่า ควรเริ่มจากให้พรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นแกนนนำทำข้อตกลงต่าง ๆ กันให้เสร็จเรียบร้อย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลงคะแนนให้ตั้งรัฐบาลสำเร็จ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้อีก 

นโยบายทุกอันจะมีผลกระทบในกว้างและภาพใหญ่ที่จะพาประเทศเดินไปทางไหนก็ควรถูกต้องด้วย เพราะเรื่องรัฐสวัสดิการก็มีประเด็นที่ต้องระวัง เพราะทุกอย่างมี  Trade-off