หวั่นขึ้นค่าจ้าง เร็ว -แรง ผลักเข้ายุคข้าวยากหมากแพง
เอกชน-นักวิชาการ ไม่ขัดก้าวไกลขึ้นค่าแรง แต่ปีนี้ยังไม่เหมาะเพิ่มต้นทุน หวั่นขึ้นแรง-เร็ว เสี่ยงเกิดยุคข้าวยาก หมากแพง ธุรกิจทรุด คนตกงานยาว นักลงทุนย้ายฐาน ฉุดเศรษฐกิจชะงัก ชี้แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์อื้อ จ่อขนเงินกลับบ้านแตะแสนล้านต่อปี
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี ยังประกาศเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อเนื่องทุกปี แม้ล่าสุดเป้าหมายการปรับขึ้น 450 บาทต่อวัน จะเริ่มแผ่วลง หลังจากที่ได้รับฟังเสียงภาคเอกชนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ และผลกระทบ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ
แม้กระนั้น ยังเกิดเสียงสะท้อนในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอยู่ในขณะนี้ นั่นเพราะเชื่อว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่น่าจะต้องเดินหน้าขึ้นค่าแรงแน่ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แน่นอนเสียงที่หนักไปทางไม่เห็นด้วย คือ ฝั่งภาคธุรกิจ เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ไปเต็มๆ
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้ สหภาพแรงงานมีความกังวล และตั้งคำถามว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงสูงๆ ธุรกิจจะอยู่อย่างไร เพราะเชื่อว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่น่าจะเดินหน้าขึ้นค่าแรงตามที่ได้หาเสียงไว้ ดังนั้นประเด็นที่ต้องดู คือ มาตรการเยียวยาผลกระทบ เมื่อพิจารณาแล้วมาตรการไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะเน้นเรื่องลดหย่อนภาษี ซึ่งต้องเป็นธุรกิจที่ได้กำไรสูงถึงจะได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ซึ่งเชื่อว่า หากขึ้นค่าแรงแล้วธุรกิจนั้นยังมีกำไร ก็ไม่ต้องมีมาตรการมาเยียวยา เพราะธุรกิจสามารถอยู่ได้ ดังนั้น ผู้ออกนโยบายต้องไปดูแลธุรกิจที่อยู่ไม่ได้ เช่น ธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีความเปราะบาง ปัจจุบันขาดทุน หรือไม่ได้กำไรอยู่แล้ว ถึงจะแก้ไขตรงจุดมากกว่า
“ยกตัวอย่าง หากขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน ค่าจ้างจะขึ้นเฉลี่ย 2,900 บาทต่อเดือน มีลูกจ้าง 200 คน เฉลี่ยปีหนึ่งต้องจ่ายเพิ่มเกือบ 7 ล้านบาทแล้ว ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สร้างความเสี่ยงขาดทุนให้กับผู้ประกอบการ จึงกังวลธุรกิจเล็กๆ จะอยู่ยากมากขึ้น” ดร.ธนิตกล่าว
ปีนี้ยังไม่เหมาะเพิ่มต้นทุน
หากมาดู เรื่องขีดความสามารถการแข่งขันของไทย และเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่ายังไม่ดีนัก หากเทียบกับ 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจช่วงนี้อาจแย่กว่า เพราะว่าประเทศคู่ค้าส่งออกของไทยชะลอตัวกันหมด ในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา มีจำนวนคนว่างงานมากขึ้น เศรษฐกิจจีนก็ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่โควิด-19 ก็เริ่มก่อตัวขึ้นมากอีก ในเชิงตัวเลขเศรษฐกิจขณะนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเรียล เซกเตอร์ โลจิสติกส์ เห็นเลยว่าลดลงอย่างมีนัยยะ
ดังนั้น ปีนี้เป็นปีที่ไม่ควรมาพูดเรื่องเพิ่มต้นทุน แต่เรื่องขึ้นค่าแรง นายจ้างเข้าใจดีว่า ก็ต้องดูแลผู้ใช้แรงงาน และส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่าลูกจ้างควรได้ค่าจ้างเพิ่ม แต่จะขึ้นเท่าไร ควรปล่อยให้คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีพิจารณา ผ่านกระบวนการนี้จะเหมาะสม และสวยงามกว่า อย่างปรับขึ้น 300 บาท ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สุดก็ต้องแอบทำหลังบ้านเงียบๆ กับคณะกรรมการไตรภาคีย้อนหลัง เพราะไม่ผ่านกระบวนการนี้ไม่ได้ เนื่องจากมีพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในการพิจารณาค่าจ้าง ถ้าจะไม่ผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ก็ต้องไปยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก่อน
ขึ้นในระดับไม่กระชากเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ก่อนปรับขึ้น ควรพิจารณาให้รอบครอบรอบด้านก่อน เพราะการปรับขึ้นมากเกินไป เศรษฐกิจจะดีขึ้นในระยะสั้นๆ แต่เงินเฟ้อก็จะสูงตาม สร้างผลกระทบเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งออกจะชะลอตัว สินค้าต่างประเทศจะเข้ามาตีตลาดในประเทศ นักลงทุนก็จะหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการผลิตมากขึ้น ดังนั้น มองว่าหากจะมีการปรับขึ้น ควรจะขยายเวลาออกไปอีกได้หรือไม่ และควรปรับขึ้นในระดับที่เหมาะสมไม่กระชากเศรษฐกิจ
หวั่นย้ายฐานครั้งใหญ่ซ้ำร้อย
เชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงมากๆ จะเกิดการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศครั้งใหญ่อีกรอบ จากก่อนหน้าก็มีการย้านฐานครั้งใหญ่ไปบ้างแล้ว เช่น ไปเวียดนาม ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในปี 2555-2556 ที่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่รอบนี้ก็จะมีปัจจัยอื่นๆที่ไทยสู้เวียดนามไม่ได้ คือ
1.เวียดนามได้มีการทำเอฟทีเอกับยุโรป และยังได้ทำข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) กับสหรัฐ และมีพันธมิตรมากกว่า 10 ประเทศ แต่ไทยตกขบวนไม่ได้ทำ เพราะช่วง 8-9 ปีที่แล้วไทยมีรัฐประหารเกิดขึ้น ดังนั้นสินค้าที่ส่งไปจากเวียดนามภาษีเป็นศูนย์ แต่สินค้าเดียวกันจากไทย ต้องเสียภาษีนำเข้า
2. เวียดนามยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ขณะที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษไปแล้ว
3.เวียดนามมีแรงงานหนุ่มสาวจำนวนมาก แต่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
4.ค่าจ้างยังต่ำกว่าไทย โดยค่าแรงขั้นต่ำเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 253 บาทต่อวัน ส่วนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 353 บาทต่อวัน จึงเป็นเหตุผลที่เราจะเห็นการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ของนักลงทุนไปเวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อินโดนีเชีย เป็นต้น
แรงงานต่างด้าวรอรับอานิสงส์
ทั้งนี้ แม้ค่าแรงระหว่างไทยและเวียดนามไม่ต่างกันมาก แต่เวียดนามต่างจากไทยตรงที่ไม่มีแรงงานต่างด้าว 2.7 ล้านคน ดังนั้นเชื่อว่า แรงงานต่างด้าวจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายนี้อย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานเวียดนาม และอีกกลุ่ม คือ เมียนมาร์ ที่เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่สุด
“หากเราจ้างแม่บ้านต่างด้าวอยู่ เราก็ต้องปรับขึ้นเงินให้เขาเพิ่มอีก 2,900 บาทต่อเดือน ซึ่งการปรับขึ้นรอบนี้คิดเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายในลูกจ้างในระบบเพิ่มขึ้นเกือบ 7,540 ล้านบาทต่อเดือน หรือเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี และในนี้ 70% เป็นแรงงานพม่า สุดท้ายเขาก็ส่งเงินกลับไปบ้านเขา” นายธนิตกล่าว
หนุนเพิ่มค่าแรงตามทักษะ
พร้อมกันนี้ นายธนิต ยังได้เสนอแนะให้แรงงานที่ยังขาดฝีมือ ควรไปฝึกฝนเพิ่มทักษะการทำงาน เพื่อให้ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามระดับทักษะ เช่น บริษัทนายจ้างเข้าร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือมีการทำบททดสอบ ให้เป็นแบบ เปย์ บาย สกิล และขณะเดียวกันฝั่งนายจ้างจะได้มีเวลาในการปรับตัวด้วย
ฝาก กกต.ดูแลขึ้นค่าแรงหาเสียง
ดร.ธนิต ยังกล่าวด้วยว่า ไม่แน่ใจว่า การประกาศขึ้นค่าแรงล่วงหน้าของพรรคการเมือง สามารถทำได้หรือไม่ เพราะเท่ากับการแทรกแซงกฏหมายหรือไม่ เห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ควรเข้าไปดูในเรื่องนี้ เพราะต่อไปทุกพรรคการเมืองจะนำนโยบายขึ้นเรื่องค่าแรงมาหาคะแนนเสียงกันหมด จะทำให้ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ด้าน ดร.กติกา ทิพยาลัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เห็นด้วยหากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะข้อดีของการขึ้นค่าแรงจะทำให้รายได้แรงงานเพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มอำนาจในการซื้อของแรงงาน ซึ่งทำให้เกิดการบริโภคสินค้า และบริการมากขึ้น สร้างผลดีกับเศรษฐกิจ เมื่อความต้องการสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อการลงทุน และหนุนจีดีพีให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ขึ้นค่าแรงลดความจน-เหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้ หากมองในเชิงสังคม ยังช่วยลดความยากจน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และยังช่วยหนุนให้เกิดการออมเงินของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้สูงอายุ ที่จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินออม เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อการออม
“ไม่อยากให้มองเพียงให้เขาได้มีเงินพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่อยากให้แรงงานได้มีเงินเพียงพอที่ไปใช้จ่ายส่งต่อเพื่อไปดูแลครอบครัว ตามมาตรฐานค่าครองชีพของแต่ละสังคมด้วย จึงมองว่าการขึ้นค่าแรงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ยังช่วยดูแลผู้สูงอายุให้มีเงินออม เพื่อรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย” ดร.กติกากล่าว
หวั่นเกิดการปัญหาว่างงาน
อย่างไรก็ตาม หากปรับขึ้นค่าแรงในระดับที่สูงเกินไป และขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลกระทบในเชิงลบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย หรือ เอสเอ็มอี ที่มีสายป่านสั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และยังไปเพิ่มภาระผู้ประกอบการด้านเงินเดือนที่กระทบเป็นลูกโซ่ เพราะค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นจะไปดันฐานเงินเดือนคนอื่นขยับตาม
ดังนั้นหากจะปรับขึ้น ต้องมีเวลาให้ภาคธุรกิจได้ปรับตัว เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบมากๆ ผู้ประกอบการจะลดต้นทุนระยะสั้น โดยการลดจำนวนแรงงานชั่วคราว ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานในระยะสั้น ส่วนระยะยาวผู้ประกอบการอาจนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน ซึ่งจะกลายเป็นการว่างงานถาวรได้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากนัก
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านการส่งออก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอยู่แล้ว ถ้าเราขึ้นค่าแรงมาก และเร็วเกินไป จะไปกระทบความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพราะต้นทุนการผลิตจะกระทบต่อปัจจัยความเชื่อมั่นของนักลงทุนระยะสั้น ส่งผลให้นักลงทุนเลือกไปลงทุนในประเทศค่าแรงที่ต่ำกว่าไทยทันที
“ปัญหาเงินเฟ้อก็จะเป็นอีกประเด็นที่จะเกิดขึ้น หากฐานค่าแรงเพิ่มสูง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ลูกจ้างอื่นก็จะเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงตามกัน ผู้ประกอบการก็จะผลักภาระต้นทุนนี้ไปบวกับราคาสินค้า จะเกิดภาวะข้าวยาก หมากแพง เกิดขึ้น” ดร.กติกากล่าว
แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์
นอกจากนี้ ผู้ออกนโยบายต้องพิจารณาด้วยว่า ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์จากนโยบายขึ้นค่าแรงที่แท้จริง เพราะแรงงานทั้งระบบไม่ได้มีเพียงแรงงานไทยเท่านั้น แต่ยังมีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยด้วย ปัจจุบัน พบว่า แรงงานต่างด้าวในระบบมีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน และในปี 2562 แรงงานต่างด้าวได้ส่งเงินกลับบ้านเกิดประมาณ 60-70% คิดเป็นเงินไหลออกประเทศประมาณ 2-3.5 แสนล้านบาท
“อยากให้ดูตรงนี้ด้วยว่า ปรับขึ้นค่าแรง แรงงานไทยได้ผลประโยชน์จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบ แต่ถ้าเป็นแรงงานต่างชาติ เงินจากนโยบายดังกล่าวจะไหลออกไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแรงงานประเทศนั้นๆ” ดร.กติกากล่าว
ขึ้นสูงได้แต่ต้องขยับในระดับเหมาะสม
หากรัฐบาลชุดใหม่มีความต้องการขึ้นค่าแรง 450 บาท ก็สามารถทำได้ แต่ควรกำหนดให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3-4 ปี ผ่านการรับฟังผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนดำเนินการ โดย ปีแรก ควรจะเป็นปีที่สร้างความเข้าใจให้กับภาคธุรกิจ เพื่อให้เวลาภาคธุรกิจได้ปรับตัว และเตรียมความพร้อม ปีที่สอง ปรับขึ้น 50 บาทต่อวัน ปีที่สาม ปรับขึ้นอีก 50 บาทต่อวัน และปีที่ 4 อาจปรับเพิ่มขึ้นเป็น 500 บาทต่อวันก็ยังได้ ถือว่ายังเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กับแรงงาน ให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้าน ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ คือ ออกมาตรการช่วยเหลือจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงจูงใจด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี หรือ Infrastructure ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ