posttoday

ส่งออกเดือนพ.ค.66 ติดลบ 4.6% น้อยกว่าตลาดคาด

27 มิถุนายน 2566

พาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออก พ.ค.66 ติดลบ 4.6% ชี้ติดลบน้อยกว่าตลาดคาด และน้อยกว่าประเทศคู่แข่งที่ส่วนใหญ่ติดลบ 2 หลัก คาดกการส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกาศคงเป้าไว้ที่ 1-2%

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค.2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัว 8-10% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 26,190.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.4% ส่งผลให้ในเดือน พ.ค. ไทยขาดดุลการค้า 1,849 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งออกเดือนพ.ค.66 ติดลบ 4.6% น้อยกว่าตลาดคาด

โดยสินค้าเกษตรในเดือนพ.ค.66 หดตัวในรอบ 4 เดือน มีมูลค่า 2,312.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 27.0% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง มีมูลค่า 2,133.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.6% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 19,012.5 ล้านเหรียญสรหัฐ เพิ่มขึ้น 1.5% 
 

 

ขณะที่การส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 116,344.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.1%  สินค้าเกษตรหดตัวอยู่ที่ 2.1% มีมูลค่า 11,308.8 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 122,709.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.5%  เป็นมาจากสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ติดลบ 0.4% มีมูลค่า 9,791.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 5.4% มูลค่า 90,872.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ 5 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้า 6,356.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออก ปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น 

 

“ตัวเลขติดลบ 4.6% ในเดือนพ.ค. ถือว่าดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ติดลบ 7.6% ถือว่าเราติดลบน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่การส่งออกเขาจะติดลบ 2 หลักทั้งนั้น เช่น เกาหลีใต้ติดลบ 15.2% ไต้หวันติดลบ 14.1% สิงคโปร์ติดลบ 12.4% อินเดีย 10.3% และเวียนนามติดลบ 9.1% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก” 


 

ส่งออกเดือนพ.ค.66 ติดลบ 4.6% น้อยกว่าตลาดคาด

สำหรับปัจจัยสนับสนุนสำคัญการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566 ได้แก่ การส่งเสริมพลังงานสะอาด ความต้องการสำรองอาหารและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการเดินทางจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัจจัยของค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่าลง ขณะที่ธนาคารโลกได้มีประเมินสภาพเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ที่คาดการเดิมจีดีพีจะเติบโตอยู่ที่ 0.5% ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 1.1% เช่นเดียวกับ กลุ่มยูโรโซน จาก 0% เพิ่มเป็น 0.4% และจีน จาก 4.3% เพิ่มเป็น 5.6% แสดงให้เป็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกน่าจะดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกในช่วงครึ่งหลัง ทำให้ภาพรวมกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าส่งออกไว้ที่ 1-2% 

 

สำหรับ กรณีสู้รบในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา และสหรัฐเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร 2 แบงก์เมียนมานั้น มองว่า มีผลกระทบต่อการค้าชายแดนไม่มาก เนื่องจากผู้ส่งออกไทย และผู้นำเข้าของเมียนมามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน จะพบว่า หลายครั้งที่มีปัญหา อุปสรรค ดังกล่าวตัวเลขการค้าก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่บางช่วงก็มีตัวเลขการค้าขายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจในเมียนมาได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และมีแผนสำรอง เช่น แผนการชำระเงิน และดำเนินธุรกิจต่างๆ