Shopee - Lazada เดินหน้าตามกฎหมายจดแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล

05 กรกฎาคม 2566

“ดีอีเอส” จับมือ อี-มาร์เก็ตเพลส รายใหญ่ Shopee - Lazada เดินหน้าตามกฎหมายจดแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล ป้องกันภัยมิจฉาชีพ แนะยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัลไอดี ยืนยันผู้ค้าออนไลน์ไม่กระทบ ค้าขายออนไลน์ได้ปกติ

นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (5 ก.ค.2566) ได้หารือกับผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล  อี-มาร์เก็ตเพลส ได้แก่ Lazada, AirAsia Super App, Noc Noc, , Shopee ,เทพSHOP และ สมาคมเว็บไซต์ไทยประชุมทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ ถึงความสำคัญของ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสมีการทำงานและร่วมพูดคุยกันมาโดยตลอดก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะแล้วเสร็จ โดยเรื่องหลักที่เป็นห่วงคือ การต้องมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชนเพื่อให้การซื้อขายของออนไลน์เป็นไปด้วยความปลอดภัย เป็นธรรม เพื่อสร้างให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ขายของบนแพลตฟอร์ม E-Marketplace เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มคือผู้ต้องจดแจ้งตามกฎหมาย เจ้าของแพลตฟอร์มอาจกำหนดรูปแบบการยืนยันตัวตนตามไกด์ไลน์ที่กระทรวงกำหนดเพื่อความปลอดภัยและป้องกันมิจฉาชีพปลอมแปลงตัวตนเข้ามาหลอกลวง จากเดิมที่ใช้บัตรประชาชน ก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลไอดี ซึ่งจะปลอดภัยกว่า ไม่สามารถขโมยของใครมาใช้งานได้ เนื่องจากต้องยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า

ด้านผู้ประกอบการ Lazada, AirAsia Super App, Noc Noc, , Shopee ,เทพSHOP และ สมาคมเว็บไซต์ไทย มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยินดีให้ความร่วมมือและที่ผ่านมาทำงานร่วมกับกระทรวงดีอีเอสมาอย่างต่อเนื่อง และต่างมีช่องทางร้องเรียนให้ผู้ใช้งานอยู่แล้ว

ขณะที่ Lazada และ Shopee กล่าวว่า ปกติการยืนยันตัวตนร้านค้าของแพลตฟอร์มคือการขอสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาสมุดบัญชีที่ต้องมีชื่อตรงกัน แต่เมื่อกฎหมายใหม่ออกมา ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการยืนยันตัวตนว่าจะไปในทิศทางเดิมหรือทิศทางใหม่ตามไกด์ไลน์ของกระทรวงดีอีเอส ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและตัดสินใจของผู้บริหาร

นายชัยวุฒิ  กล่าวว่า  หลังจากกฎหมายดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 ส.ค. 2566 ผู้ประกอบธุรกิจบริการ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม มีหน้าที่แจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักร จะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักรด้วย โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะการให้บริการ และผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ 

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ ETDA จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best-practice) หรือมีกลไกการกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation) ที่เหมาะสม อีกทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ กฎหมายนี้ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วย   สำหรับแผนการรองรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ให้บริการ Digital Platform อยู่ก่อนแล้ว ให้แจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA ภายใน 90 วันนับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 18 พ.ย. 2566

อย่างไรก็ตาม ทาง ETDA อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดกลไก self-regulate ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะเน้นสำหรับบริการ Social Media และ e-Commerce ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ลดการฉ้อโกงออนไลน์) และการดำเนินคดี (ระบุตัวผู้กระทำความผิด) และอยู่ในระหว่างการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากขึ้น  

โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 ETDA ได้จัดงานรับฟังความคิดเห็นต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ และเปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมายจนถึงวันที่ 26 ก.ค. 2566   ที่ผ่านมา ETDA ในฐานะ Co-Creation Regulator ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่อ กฎหมายลําดับรอง ภายใต้ พ.ร.ฎ. Digital Platform มาอย่างต่อเนื่อง การรับความความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย

จากนั้น ETDA จะเปิดเวทีชี้แจ้งและสรุปภาพรวมของกฎหมายลําดับรองทั้ง 9 ฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นในระยะแรกนี้ต่อสาธารณะอีกครั้ง ในวันที่ 20 ก.ค.2566 ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ที่สนใจได้ทําความเข้าใจภาพรวมของกฎหมายร่วมกันอีกครั้ง  

นายชัยวุฒิ   กล่าวว่า เพื่อเป็นการปิดข้อสงสัยและให้เกิดความชัดเจนในข้อปฏิบัติภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ETDA จึงเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อช่วยประเมินเบื้องต้นว่าเป็นบริการที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมก่อนดําเนินการแจ้งให้ ETDA ทราบ ผ่าน Checklist ออนไลน์ ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ และรายเล็กเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง 

และในเร็วๆ นี้เตรียมขยายผลสู่การจัดกิจกรรม Pre- Consultation Checklist ที่จะมีทีมงานคอยให้คําปรึกษา แก่ผู้ให้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจด แจ้งข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมาย ผ่านทางระบบ e-Meeting โดยจะเริ่มเปิดระบบให้จองนัดประชุม ทางเว็บไซต์ของ ETDA ก่อนเปิดให้บริการให้คําปรึกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ก.ค. 2566

นอกจากนี้ยังเตรียมยกระดับบทบาทของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA สู่การเป็นช่องทางกลางในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยผู้ประกอบการ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่อไป

Thailand Web Stat