posttoday

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

13 กรกฎาคม 2566

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” หลัง ครม.เห็นชอบแผน เมื่อเดือน ส.ค.2565 เกือบ 1 ปี ภาครัฐได้ขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมตามแผนปี 2565-2570 โดยเฉพาะการใช้งานอย่างมีจริยธรรมและการส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพด้าน AI ของไทย อย่างไรบ้าง

แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปี 2565-2570 หรือ แผน AI แห่งชาติ มีหน่วยงานรัฐ 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) กับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ร่วมกันร่างแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด ทำให้แผนนี้ได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 

5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติ

ผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว ขณะนี้ชีพจรของแผน AI แห่งชาติ คืบหน้าอย่างไรบ้าง นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวง อว. กล่าวในฐานะผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติ ว่า ในแผนดังกล่าวมี 5 ยุทธศาสตร์ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ได้แก่ 

1.ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักและให้มีศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้าน AI ซึ่งก่อนที่ครม.จะรับทราบแผนดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดีอีเอส ได้ประกาศแนวทางจริยธรรม AI มาแล้ว 2 ปี เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางของภาครัฐในการเลือกใช้เทคโนโลยี AI แบบมีจริยธรรม

ในส่วนของมาตรฐาน AI สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA อยู่ระหว่างการพูดคุยกับ เนคเทค และ ผู้ประกอบการ เพื่อให้มีมาตรฐานในการใช้ AI ร่วมกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยเน้นการสร้างมาตรฐานแบบกว้าง ไม่เน้นการกำกับ เน้นการแนะนำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะกำหนดรูปแบบของมาตรฐานในแง่มุมใดบ้าง คาดว่าจะเสร็จเร็วๆนี้

ทว่า เมื่อการศึกษาถึงมาตรฐาน AI นั้น ต้องเป็นแนวทางแบบกว้าง การพัฒนามาตรฐานอาจจะกังวงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ พีดีพีเอ ดังนั้นการทดลองต้องทำบนพื้นที่แซนบอกซ์ เช่น การทดลองทำมาตรฐาน AI ในอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยง อย่างด้านการแพทย์ หากต้องมี จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลในอนาคตหรือไม่

การกำกับสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การลงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับ ยกตัวอย่างการใช้ AI กับอุตสาหกรรมยา ต้องมาลงทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้อย.ตรวจสอบ เป็นต้น 

ดังนั้นการกำกับดูแลมาตรฐาน AI เพื่อให้มีการใช้งานอย่างมีจริยธรรม กฎหมายที่ออกมาอาจจะเป็นแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังวลในการขวางกั้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลสำหรับ AI ที่เน้นพัฒนา AI Service Platform บนโครงข่าย GDCC หรือ คลาวด์ภาครัฐ ที่จะสนับสนุนภาครัฐและภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมการไว้แล้ว เนื่องจากในแผน AI แห่งชาติ ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเอง ดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีดาต้า เซ็นเตอร์ และซุปเปอร์ คอมพิวเตอร์ ขนาดใหญ่ในการประมวลผลที่รวดเร็ว

3.ด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรด้าน AI ให้เพียงพอต่อการเติบโต ตามแผนกำหนดไว้ 30,000 คน ซึ่งขณะนี้มีบุคลากรในตลาดเพียงประมาณ 100 กว่าคน เป็นนักวิจัย 50 คน และ 50 คน เป็นบุคลากรด้านบิ๊ก ดาต้า

4.ด้านวิจัยและพัฒนา ด้วยการกำหนด Flagship Project เช่น Thai Large Language Model (LLM) เพื่อสนับสนุนการใช้ Generative AI ในธุรกิจไทย และขึ้นทะเบียนผลงานนวัตกรรม AI  100 นวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4.8 หมื่นล้านบาท 

5.ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งาน AI ได้แก่ การร่วมขับเคลื่อน Tech. Startup เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์งานบริการด้าน AI ในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น

นายชัย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีดีพเทคเป็นของตนเอง ที่ผ่านมาคนไทยเป็นนักใช้งานดิจิทัลตัวยง ใช้เทคโนโลยีต่างชาติเกือบ 100% งานวิจัยด้าน AI เกิดขึ้นยาก สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นก็ทำป้อนแบรนด์ยักษ์ใหญ่หรือต่างชาติ การสร้างสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต และเป็นที่รู้จักในตลาดเป็นเรื่องยาก แม้ว่านักวิจัยไทยเก่ง ก็ตาม 

ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพด้าน AI ที่มาจากการขับเคลื่อนของเนคเทค คือ บริษัท มอเตอร์ เอไอ เรคอกนิชั่น โซลูชั่น จำกัด (MARS) ในการวิเคราะห์ชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อประเมินราคาในการเคลม ก็ยังมีปัญหาเรื่องระบบนิเวศน์ เนื่องจากอู่ซ่อมรถส่วนใหญ่ใช้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ทำให้การส่งเสริมให้มีการใช้งานจำนวนมากหลักล้านคนยาก

หากประเทศไทยไม่สนับสนุนให้เกิด สุดท้ายประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ใช้งานชั้นดี เหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ บุคลากรที่สร้างขึ้นก็จะเป็นเพียงบุคลากรที่เก่งในการใช้เทคโนโลยีต่างชาติ ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ AI ของไทย ประเทศไทยต้องพัฒนาเอง เพราะข้อมูลในการพัฒนา AI เป็นข้อมูลของประเทศไทยและเป็นข้อมูลเฉพาะด้าน เช่น ข้อมูลทางการแพทย์ของคนไทย เป็นต้น 

ถ้าเราเป็นผู้ใช้อย่างเดียว เราจะพัฒนาเพิ่มทีหลังไม่ได้ เพราะการทำ AI ต้องเทรนด์ตั้งแต่แรกในการเริ่มสร้าง ข้อมูลที่ป้อนมีขนาดใหญ่ และต้องใช้เวลา เช่น การใช้ ChatGPT ในการตอบคำถามเรื่องกฎหมายไทย นอกจากข้อมูลกฎหมายแล้ว ต้องมีการทดลองถามและตอบคำถามหลายๆแบบเพื่อให้มั่นใจว่าคำตอบที่ได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ 

ศูนย์ AIGC มอนิเตอร์ความเสี่ยง AI

นายศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA กล่าวว่า ในมุมการออกกฎหมายเพื่อกำกับและดูแลการใช้ AI อย่างมีจริยธรรมนั้น ต้องเป็นแนวทางการส่งเสริมให้เกิด AI  มากกว่าการป้องกันไม่ให้เกิด ซึ่งต้องยอมรับว่านอกจากประเทศในสหภาพยุโรปที่ออกกฎหมายเรื่องนี้แล้ว ก็ยังไม่มีประเทศไหนมีกฎหมายดังกล่าวออกมา การศึกษาในการออกแนวทางกฎหมายของประเทศไทย ต้องมีความรอบคอบ ไม่ให้กฎหมายออกมาเพื่อควบคุม

เมื่อ AI กิน “ข้อมูล” เป็น “อาหาร” ข้อมูลที่จะนำมาเทรนด์ AI จึงสำคัญ ข้อมูลที่นำมาใช้จะใช้ได้แค่ไหน ไม่ให้ผิดกฎหมายพีดีพีเอ และหน่วยงานกำกับจะเข้ามาดูแลอย่างไร

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

ปัจจุบันมีองค์กรไทย 15% ที่มีการนำ AI มาใช้งานในองค์กรแล้ว และอีก 56.65% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต ขณะที่อีก 28.15% ที่ยังไม่มีแผนที่จะใช้ AI จึงคาดการณ์ได้ว่าในอีก 2-3 ปี องค์กรในประเทศไทยจะมีนำ มาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน 

ทั้งนี้ ETDA มีศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance Clinic by ETDA (AIGC) ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางในการใช้งาน AI ที่ถูกต้อง โปร่งใส เกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อผู้ใช้งานน้อยที่สุด 

สำหรับศูนย์ AIGC มุ่งขับเคลื่อนงานใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของไทยและสอดคล้องกับแนวนโยบายในระดับสากล 

มิติที่ 2 การให้คำปรึกษาด้านนโยบาย ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ การประยุกต์ใช้งาน AI สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ทุกภาคส่วน 

มิติที่ 3 การพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้ ผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล 

มิติที่ 4 สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance

แผนการทำงานในระยะแรก AIGC จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มทางการแพทย์และสาธารณสุขก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้งานและช่วยในกระบวนวินิจฉัย คัดกรองและการรักษาผู้ป่วยของแพทย์อย่างแพร่หลายมากขึ้น และเพื่อป้องกันผลกระทบ ตลอดจนความเสี่ยงจากการใช้งานเทคโนโลยีที่อาจจะเกิดขึ้น ETDA 

โดยทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ได้แก่ เนคเทค, กรมการแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการเดินหน้าพัฒนากรอบธรรมาภิบาลด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศร่วมกัน เพื่อให้ได้ Thailand AI Governance Framework และ AI Governance Policy Guide สำหรับวงการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งยังร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI ระหว่างกันด้วย 

นอกจากนี้ ศูนย์ AIGC ยังมุ่งให้บริการในการให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการที่สนใจ และเดินหน้าสำรวจความพร้อมประเทศด้าน AI Governance เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงที่จะใช้ในการดำเนินงานและวางแผนในการพัฒนากฎหมาย มาตรฐาน ตลอดจนแนวทางการดูแล AI ของไทยในอนาคตด้วย

จุดแข็งของ AIGC คือการมีเครือข่ายคณะทำงานที่ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญซึ่งมาจากหน่วยงานในหลากหลายมิติ ทั้ง สถาบันการศึกษาและวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดมาตรฐาน AI ในระดับสากล ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม จากหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก

นายศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งอย่างมากในด้านการแพทย์ หากประเทศไทยมีเทคโนโลยี AI ในด้านนี้ของตนเอง จะช่วยให้อุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทยเติบโตแบบได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สตาร์ทอัพ AI เร่งสู้ศึกต่างชาติ

นายเฉลิมพล สายประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง สตาร์ทอัพ MARS กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาได้ 2 ปีแล้ว ในการใช้ AI กับชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่มประกันภัยและอู่ซ่อมรถ โดยรูปแบบการให้บริการมี 2 รูปแบบ คือ ระบบการถ่ายรูปรถยนต์แทนการสำรวจด้วยคน ก่อนสมัครทำประกันรถยนต์ มีลูกค้าเป็นบริษัทประกัน ซึ่งระบบออกแบบมาให้มีความแม่นยำด้วยการถ่ายรูปผ่านแอพพลิเคชัน MARS ทำให้บริษัทประกันสามารถลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการสำรวจสภาพรถก่อนทำประกันได้

อีกบริการคือ บริการเคลม สำหรับลูกค้าอู่ซ่อมรถ เพื่อให้สามารถพิจารณาค่าใช้จ่ายการซ่อมรถ รับรู้ราคาของชิ้นส่วนรถยนต์ได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลน่าเชื่อถือ โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งบริการนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูลชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกชิ้นส่วน ซึ่งบริษัทต้องทำหน้าที่รวบรวมเอง และหาจากกูเกิ้ลไม่ได้ เนื่องจากชิ้นส่วนที่มาจากต่างประเทศ ไม่เหมือนกับชิ้นส่วนในประเทศไทย และบริษัทก็มีเพียงข้อมูลชิ้นส่วนของรถยนต์และกระบะ ยังไม่มีข้อมูลชิ้นส่วนรถบรรทุก

ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมในด้านข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้ AI เรียนรู้ข้อมูล มีแพลตฟอร์มกลางในการให้ข้อมูล ที่สำคัญคือการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเข้ามาในตลาดนี้ มีลูกค้า มีรายได้ และไม่ตาย เนื่องจากอู่ซ่อมรถส่วนใหญ่ใช้ซอฟต์แวร์ต่างชาติ 70-80% ทำให้สตาร์ทอัพไทยแข่งขันได้ยาก

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

ด้านนางสาวกษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า หน้าที่ของดีป้าในการส่งเสริมด้าน AI ที่ผ่านมาได้มีการทำในหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้าน AI ตั้งแต่ระดับโรงเรียน เน้นการพัฒนาบุคลากรครู ,สถาบันอาชีวะ มีการตั้งศูนย์พัฒนาเอไอในพื้นที่ อีอีซี และการให้ความรู้ในมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่อง AI แต่รวมถึงการให้ความรู้เรื่อง บิ๊ก ดาต้า ด้วย ซึ่งดีอีเอส มีสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ขับเคลื่อนนโยบายบิ๊ก ดาต้า โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ดีป้ายังมีการร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน AI เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการด้านนี้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด หรือ VISAI ดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ครบวงจรสำหรับภาคธุรกิจ โดยความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นต้น รวมถึงเป็นตัวกลางในการให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน มาพบปะกัน

ขณะที่ในด้านของพื้นที่ในการขับเคลื่อนดิจิทัล ดีป้า ก็มี ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเล่ย์ ที่ ศรีราชา เพื่อเป็นพื้นที่ดิจิทัล อินโนเวชัน ฮับ เปิดโอกาสให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ สร้างดีพเทค ซึ่ง AI ถือเป็น ดีพเทค ที่สำคัญมาก 

ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าใจและเข้าถึงการใช้ AI ประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการด้านนี้น้อย ในตลาดมีแต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และต่างชาติ จะทำอย่างไรให้เราสามารถเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านนี้ให้เกิดขึ้นจำนวนมากพอ และต้องทำให้เทคโนโลยีต่างชาติและไทยอยู่ร่วมกัน มีการสร้างองค์ความรู้ให้เติบโตร่วมกัน ที่สำคัญคือการหาตลาดด้วยว่า อยู่ตรงไหน

เปิดความพร้อมการใช้งาน AI ของ 10 อุตสาหกรรม

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

นางสาวกัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า ผลการศึกษาความพร้อมในการใช้ AI สำหรับบริการดิจิทัล อย่างมีธรรมาภิบาล ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พบว่าองค์กร/หน่วยงานในประเทศไทย ได้เริ่มมีการใช้งาน AI แล้ว และมีแนวโน้มใช้งานมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น ในกลุ่มการเงินและการค้า มีการนำ AI มาช่วยตรวจสอบข้อมูล ยืนยันตัวตน แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การอนุมัติสินเชื่อ และประเมินความเสี่ยง ในกลุ่มการแพทย์และสุขภาวะ ใช้ AI มาช่วยตรวจสอบความครบถ้วนของเครื่องมือผ่าตัด และช่วยในการวินิจฉัยและตัดสินใจของแพทย์ เป็นต้น

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้ดัชนีการวัด 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านยุทธศาสตร์และความสามารถขององค์กร (2) ด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านบุคลากร (4) ด้านเทคโนโลยี และ (5) ด้านธรรมาภิบาล ดำเนินการสำรวจหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 10 กลุ่ม ตามที่ระบุในแผนปฏิบัติการ AI ได้แก่

เกษตรและอาหาร การใช้งานและบริการภาครัฐ การแพทย์และสุขภาวะ อุตสาหกรรมการผลิต พลังงานและสิ่งแวดล้อม การศึกษา ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความมั่นคงและปลอดภัย โลจิสติกส์และการขนส่ง และการเงินและการค้า 

ผลที่ได้จากการประเมินตามด้านต่างๆ จะนำไปสู่การแบ่งความพร้อมขององค์กรได้เป็น 4 ระดับ คือ ระดับ Unaware = ยังไม่มีความตระหนัก/ อยู่ในช่วงเริ่มต้นเรียนรู้, Aware = มีความตระหนักและเริ่มนำ AI ไปใช้งานแล้ว, Ready = มีความพร้อมในการนำ AI ไปใช้งาน และ Competent = มีความเข้มแข็งในการใช้งาน AI

สรุปผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่ส่งแบบสอบถามทั้งสิ้น 3,529 ราย ในช่วงเวลา 60 วัน (เดือน พ.ค.- มิ.ย. 2566) ได้.ข้อมูลกลับมาทั้งสิ้น 565 ราย พบว่า 15.2% มีการนำ AI มาใช้งานแล้วในองค์กรแล้ว 56.65% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต และ 28.15% ที่ยังไม่มีแผนที่จะใช้ AI  

ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตองค์กรในประเทศไทยจะมีนำ AI มาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน  ทั้งนี้ องค์กรที่มีการประยุกต์ใช้งาน AI มีเป้าหมายสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการขององค์กร  เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กร และ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กร ตามลำดับ

ผลการสำรวจยังพบว่า องค์กรที่มีการนำ AI มาใช้งานแล้ว มีความพร้อมเฉลี่ยอยู่ที่ 45.3% หรืออยู่ในระดับ “Aware” ซึ่งหมายถึง องค์กรมีความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI  และเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยเมื่อพิจารณาแยกลงไปในแต่ละด้าน (Pillar) พบว่า ด้านที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด คือ ด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน (ประกอบด้วย รูปแบบและคุณภาพของข้อมูล และ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการใช้งาน AI)

โดยมีคะแนนเฉลี่ยความพร้อมในด้านนี้อยู่ที่ 61.8% ซึ่งจัดอยู่ในระดับ “Aware” โดยกลุ่มที่มีความพร้อมอยู่ในระดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มการเงินและการค้า กลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ และ กลุ่มการศึกษา 

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน
ทั้งนี้ การที่หน่วยงานมีความพร้อมโดยเฉพาะในด้านข้อมูลสูง สาเหตุหนึ่งมาจากในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของ บิ๊ก ดาต้า และเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในมุมมองต่างๆ ตามที่องค์กรให้ความสนใจ  สำหรับด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับรองลงมาได้แก่ ด้านยุทธศาสตร์และความสามารถขององค์กร ด้านธรรมาภิบาล ด้านบุคลากร และด้านเทคโนโลยี ตามลำดับ

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

สำหรับองค์กรที่ปัจจุบันยังไม่มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างไร  (2) คิดว่าอาจยังไม่มีความจำเป็นในการนำ AI มาใช้ และ (3) องค์กรยังขาดความพร้อมและต้องการการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และงบประมาณ เป็นต้น

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

จากผลการสำรวจดังกล่าว นำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ  ได้แก่

1.AI PEOPLE หรือ การพัฒนาทักษะ AI ในทุกระดับ เช่น ผลิต AI Talent, ให้มี AI Academy, พัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพด้าน AI รวมถึงความตระหนักรู้ AI Governance เป็นต้น

2.AI DATA & INFRASTRUCTURE หรือ การเตรียมความพร้อมข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งาน AI เช่น การสนับสนุนการทำ Data Governance สำหรับ AI การพัฒนา Foundation AI Model การพัฒนาแนวทางการแบ่งปันข้อมูล Data Sharing เป็นต้น

3.AI GOVERNANCE หรือ ธรรมาภิบาล AI เช่น แนวปฏิบัติ AI Governance และ การพัฒนา AI Risk Management Framework เป็นต้น

4.AI INCLUSIVE หรือ การสร้างความตระหนักและสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่รองรับการขยายตัวของ AI  เช่น มีศูนย์บริการเฉพาะด้านเพื่อให้คำปรึกษา (AI Consulting Clinic), ศูนย์ทดสอบและขึ้นทะเบียนนวัตกรรม AI และ การทำ AI Readiness Measurement เป็นต้น

จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน จับชีพจร “แผน AI แห่งชาติ” ความพร้อมและจริยธรรมการใช้งาน

 

Thailand Web Stat