ย้อนเส้นทางเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ของเศรษฐา ทวีสินภายใต้อาณาจักรแสนสิริ
พาย้อนเส้นทางเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ของเศรษฐา ทวีสิน ภายใต้อาณาจักรบมจ.แสนสิริ ภายหลังชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์จับโยงกับการเลี่ยงภาษีเซื้อขายที่ดิน
แม้เศรษฐา ทวีสินจะเลือกเดินหน้าสู่การเมืองและกำลังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนล่าสุด ของพรรคเพื่อไทย แต่ชื่อของเขาได้ถูกโยงกับบริษัทพัฒนาอสังริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) อีกครั้ง จากกรณีเปิดโปงเรื่องเลี่ยงภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า 521 ล้านบาท จากการซื้อขายที่ดินในอดีต โดยจอมแฉอย่างชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
โดยชูวิทย์เปิดข้อมูลว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย มีเจตนาเลี่ยงภาษีซื้อที่ดินเมื่อครั้งที่ดํารงตําแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของ SIRI เมื่อปี 2562 ซึ่งแบ่งการจ่ายเงินค่าซื้อขายที่ดินย่านสารสิน เนื้อที่ 1 ไร่ หรือ 399.7 ตารางวา เป็นที่ดินโฉนดเดียวเลขที่ 16515 โดยแยกการทำสัญญาและแยกโอนเงินให้กับผู้ขาย12 คน โอนทีละวันใช้เวลา12 วัน
ขณะที่ในเช้าวันเดียวกันนั้นทางบมจ.แสนสิริ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง ว่าบริษัทไม่ได้รับรู้ หรือ เกี่ยวข้องใด ๆ ในวิธีการ หรือ การดำเนินการใด ๆ ทางภาษีอากรของผู้ขายและไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการประหยัดภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย เช่นเดียวกับที่เศรษฐา ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของ SIRI ในขณะนั้น จะมีส่วนร่วมเฉพาะในขั้นตอนการอนุมัติจัดซื้อที่ดิน โดยพิจารณาจากตัวเลข และข้อมูลที่ทีมสรรหาที่ดินของแสนสิริได้จัดทำ และนำเสนอให้ที่ประชุมผู้บริหารเพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการของบริษัทเพื่ออนุมัติการซื้อที่ดินและการลงทุนตามลำดับ
ดังนั้น จึงมีบทบาทเพียงอนุมัติแค่ราคาและมูลค่าเงินลงทุนเท่านั้น ส่วนการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน การชำระราคา และการโอนกรรมสิทธิ์จะเป็นหน้าที่ของทีมสรรหาที่ดินที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการและประสานงานทั้งหมด
มาถึงตรงนี้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ คงต้องรอการพิสูจน์เป็นลำดับต่อไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐาและบมจ. แสนสิริ ต่างมีสายสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเหนียวแน่น ไม่ว่าจะในแง่มุมของความเป็นเครือญาติฝั่งแม่ (ชดช้อย จูตระกูล) ของเศรษฐา กับหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง อภิชาติ จูตระกูล ที่ปัจจุบันเป็นทั้งประธานกรรมการ และรักษาการประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่
เช่นเดียวกับในบทบาทผู้บริหารระดับสูงและอดีตหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้น ๆ ของ SIRI มายาวนานกว่า 30 ปี นับแต่เริ่มทำงานที่ บจก. แสนสำราญ ที่ก่อตั้งโดย อภิชาติ จูตระกูล ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็น บมจ. แสนสิริ และต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหลังบริษัท ที.เอส.สตาร์ จำกัด ที่ขณะนั้นมีเศรษฐาเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นทั้งหมด ได้ซื้อหุ้นจากกองทุนต่างชาติ กว่า 300 ล้านหุ้น จึงทำให้เศรษฐากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ SIRI ที่ 24.10% แต่ภายหลังได้ลดลงเหลือที่ 5% และได้ยกให้ลูกสาวคือ ชนัญดา ทวีสิน หลังมุ่งสู่วิถีนักการเมืองอย่างเต็มตัว
ย้อนไปตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการก่อตั้ง ทั้งอภิชาติ และ เศรษฐา ต่างร่วมเผชิญความท้าทายหนักหน่วงทั้งหลายมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อคภาระหนี้ 3 พันล้านบาท หรือแม้แต่สารพัดการเปลี่ยนแปลงที่มาเขย่าสถานะของบริษัท ดังนั้น "แสนสิริ" จึงถือว่าก่อเกิดจากความร่วมมือของลูกพี่ลูกน้องสองคน คือ อภิชาติ และ เศรษฐา ที่แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน
นั่นคืออภิชาติรับผิดชอบหลักในการดูแลด้าน Financial Performance ของบริษัท เนื่องจากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่นเดียวกับให้ความสำคัญด้านการตลาด และ Branding ของแสนสิริอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดูแลบริษัทลูกอื่น ๆ เช่น บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจ Property Management อีกด้วย
ส่วน เศรษฐา ขณะที่ยังเป็นซีอีโอนั้น เขารับผิดชอบโดยตรงทางด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การบริหาร และการขับเคลื่อนบริษัทฯ ไปสู่ความเจริญเติบโตตามแนวทางที่กำหนดโดยประธานอำนวยการและคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ ทั้งนี้ภายใต้การบริหารของเศรษฐาในช่วงนั้น บมจ. แสนสิริ ได้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยมาแล้วกว่า 320 โครงการ
อย่างไรก็ตามก่อนที่เศรษฐาจะเดินออกจากบมจ.แสนสิริอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2566 เพื่อเป็นนักการเมืองเต็มตัว หากย้อนหลังกลับไป 5 ปีก่อนหน้า เขาครองตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของทั้ง SIRI และบริษัทในเครือรวมแล้วกว่า 37 บริษัท จากข้อมูลที่ปรากฎในรายงานประจำปีของบริษัท
ท้ายที่สุดไม่ว่าข้อเท็จจริงของเรื่องที่ถูกชูวิทย์เปิดโปงจะออกมาหน้าไหน แต่คงไม่อาจแยกสายสัมพันธ์อันชัดเจนและแน่นแฟ้นระหว่าง "เศรษฐา ทวีสิน" และ "แสนสิริ" ได้