ณัฐพล วิมลเฉลา ปูทาง New-S Curve ให้ SO ชู Tech-Enabled Outsourcing
ณัฐพล วิมลเฉลา ผู้นำยุคใหม่และทายาทรุ่น 3 แห่งสยามราชธานี ปูทางสู่ New-S Curve พร้อมชู Tech-Enabled Outsourcing เพื่อให้บริษัทเติบโตระดับสองหลักทุกปี คาดเก็บรายได้ราว 2.55 พันล้านบาทในปี 2566
บมจ.สยามราชธานี หรือ SO (เดิมชื่อ บริษัท สยามราชธานี จำกัด) ก่อตั้งขึ้นโดยมงคล วิมลเฉลา (ปู่ของ ณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามราชธานี ) เมื่อปี 2519 ซึ่งเริ่มต้นจากธุรกิจทางการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคใน จ.นครสวรรค์ ต่อมาถึงยุคที่ไกร วิมลเฉลา ซึ่งเป็นผู้นำรุ่น 2 และเป็นพ่อของณัฐพล เล็งเห็นถึงการแข่งขันทางธุรกิจของโลกปัจจุบันที่มีการลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ และการลดภาระงานของหน่วยงานราชการและเอกชน
ดังนั้น ต่อมาจึงได้มีการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจ "จ้างเหมาบริการ (Outsourcing Services) เมื่อปี 2524 ให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น พนักงานขับรถยนต์ พนักงานธุรการ พนักงานรับโทรศัพท์ ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมบำรุง รถเช่า ดูแลบำรุงรักษาสวนหย่อม เป็นต้น
กระทั่งปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาของ ณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามราชธานี วัย 37 ปี ในฐานะผู้นำยุคใหม่และทายาทรุ่น 3 ที่รับช่วงสานต่อกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายขยายธุรกิจให้เติบโตที่ระดับตัวเลขสองหลักในทุกปี โดยสานภารกิจสร้างรายได้จากธุรกิจในแนวทางใหม่หรือ New-S Curve หลังบริษัทกลายร่างสู่การเป็นบริษัทมหาชนและเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563 ที่ผ่านมาในชื่อหุ้น SO
สำหรับภาพรวมของ บมจ. สยามราชธานีในปัจจุบันจากคำบอกเล่าของณัฐพล มีรายได้มาจาก 4 กลุ่มธุรกิจ คือ 1) SO People (สำหรับการบริหารจัดการพนักงาน ทั้ง พนักงานขับรถยนต์ พนักงานสำนักงานพนักงานช่างเทคนิค 2) SO Next สำหรับการบริหารจัดการงานบันทึกข้อมูล 3) SO Green สำหรับบริการดูแลภูมิทัศน์ และ 4) SO Wheel สำหรับบริการรถยนต์ให้เช่า
ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานในปี 2565 ที่ทำรายได้รวมถึง 2.32 พันล้านบาทนั้น พบว่ากลุ่ม SO People ครองอัตราส่วนรายได้ถึง 77.3% ของรายได้รวม ซึ่งตามมาด้วย SO Wheel ที่ 12.6% SO Next ที่ 5.6% และ SO Green ที่ 4.5% สำหรับปีนี้คาดว่าจะเก็บรายได้ราว 2.55 พันล้านบาท
ปูทาง New S-curve
ก่อนนั่งเก้าอี้ CEO แบบเต็มตัวเมื่อปี 2564 นั้น ณัฐพลเริ่มเข้ามาช่วยบริหารกิจการของครอบครัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 ในบทบาทกรรมการบริหารและผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจดิจิทัล และเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 2563
โดยเขามีพื้นฐานการศึกษาด้านเทคโนโลยีมาก่อนหลังจบปริญญาตรี Physics จาก University of Manchester และ ปริญญาโท Technology Policy Micro and Nanotechnology Enterprise, Emmanuel College จาก University of Cambridge และเคยผ่านงานในบริษัทเอกชนและองค์กรต่าง ๆ เช่น Procter & Gamble สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจร่วมลงทุน (VC) SeaX Ventures และกิจการสตาร์ทอัพ เช่น Tenxor Inc. ด้วย
ณัฐพลเล่าว่าภารกิจหลักของเขาในฐานะผู้นำองค์กรในปัจจุบัน คือการสร้าง New S-curve เนื่องจากปัจจัยที่มองว่า Product Life Cycle ที่บริษัทให้บริการอยู่มีแนวโน้มที่จะสั้นลงเหลือไม่เกิน 10 ปี และมีคู่แข่งเข้ามาในตลาด Outsourcing Services มากขึ้นด้วย ทั้งนี้แนวทางของการสร้าง New S-curve ของบริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับลูกค้าเป็นหลัก โดยดูที่ความต้องการของลูกค้าแล้วนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีในตลาดมาก่อน
ตอนนี้ Product Life Cycle ทางด้าน Outsourcing Services สั้นลงมา ทำให้เราต้องใส่เงินทุนและลงแรงมากขึ้นในการทำ New S-curve
ส่วนอีกด้านหนึ่งของการสร้าง New S-curve คือหาโอกาสทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ในรูปแบบกลยุทธ์การควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่บริษัทยังไม่เคยทำและตลาดมีความต้องการอย่างมากในปัจจุบัน ที่ณัฐพลเปิดเผยว่าจะเน้นใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักคือ 1) Enterprise Software 2) ธุรกิจแม่บ้านและรักษาความปลอดภัย และ 3) Professional Training
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเฟ้นหาพันธมิตรหรือบริษัทที่จะมาเติมเต็มใน 3 ธุรกิจอยู่ ซึ่งมองว่าต้องใช้เวลาพอสมควรและไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงเงื่อนไขสำคัญต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงของการทำ M&A ความเสี่ยงทางการเงิน ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น
การทำ M&A มีอยู่สองกรณีที่เราพิจารณาอยู่ หนึ่งคือเป็นบริษัทที่มี skill ซึ่งเรายังไม่มี แต่ใช้ลูกค้าร่วมกัน กับสองอาจเป็นบริษัทที่เรามี skill แล้ว แต่สามารถช่วยเราขยายตลาดได้
ชู Tech-Enabled Outsourcing Solution
ด้วยจุดยืนใหม่ที่บมจ.สยามราชธานี ต้องการเป็นผู้ให้บริการเอาท์ซอร์สที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือ Tech-Enabled Outsourcing Solution โดยได้มีการทำ Digital Transform จากการเป็นบริษัทที่ส่งมอบพนักงานไปสู่บริษัทที่ส่งมอบกระบวนการและเทคโนโลยี
โดยการจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริการ Outsource เพื่อ Digitize กระบวนการต่าง ๆ เกิดเป็นข้อมูล เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนากระบวนการให้รวดเร็วขึ้น มีต้นทุนต่ำลง และวัดผลได้ด้วย เช่นเดียวกับ มีการนำเอาเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยสนับสนุนความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินใจ รวมถึงทดแทนกระบวนการทำงานซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น
ณัฐพลขยายความเพิ่มเติมถึงการสร้าง Tech-Enabled Outsourcing Solution ว่า หลักคิดสำคัญคือจะมองว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้ร่วมกับ Process Engineering และทีมงานของบริษัท เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการลดต้นทุนและช่วยให้การดำเนินงานของลูกค้ารวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ณัฐพลมองว่า ต้องประกอบด้วย 5 แนวทางที่มาสนับสนุน คือ 1)กลยุทธ์ที่ชัดเจน 2) ได้รับความร่วมคือจากคนภายในองค์กรของลูกค้า 3) มีวัฒนธรรมองค์กรเป็น Data-Driven Organization 4) มีเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูล และ 5) มีระบบและกลยุทธ์จัดเก็บเฉพาะข้อมูลสำคัญ
Tech-Enabled Outsourcing Solution เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกลยุทธ์และคนมากกว่า ซึ่งหากทั้งองค์กรเข้าใจตรงกันก็จะสนับสนุนบริษัทได้มากขึ้น
สำหรับแนวทางของ Tech-Enabled Outsourcing Solution ในระยะต่อไปนั้น ณัฐพลเปิดเผยว่า มุ่งหวังที่จะให้บริการด้าน Cyber Security มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ มาเพื่อช่วยลูกค้าของบริษัท ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ให้บริการ Cyber Security Center Officer ไปให้กับลูกค้าที่เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับเริ่มนำเสนอบริการ SAS (software as a service) อย่างจริงจังมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ด้วยผลจาก Digital Tranformation ทาง บมจ.สยามราชธานี จึงมีการพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบต่าง ๆ ของบริษัทขึ้นมาใช้งาน เพื่อความรวดเร็วและตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น ได้แก่
i-Recruit เป็นระบบการจัดเก็บประวัติของพนักงานที่สามารถส่งให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
TikTrack เป็นระบบลงเวลาเข้า-ออกงาน ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานได้ง่ายและสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงเวลาได้แบบเรียลไทม์
Digidocs หรือ Flow เป็นระบบบริหารจัดการเอกสารออนไลน์ด้วยฟังก์ชันการทำงานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการทำงานเอกสารได้อย่างครบถ้วน
Carpool เป็นระบบบริหารจัดการรถยนต์ส่วนกลางสำหรับองค์กรที่ช่วยบริหารจัดการรถยนต์ พนักงานขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับตัวให้เป็นบริษัทที่ก้าวนำเทคโนโลยี ก็จะสอดคล้องกับ Mega Trend ของธุรกิจที่น่าลงทุนในยุคอนาคต เป็นต้น
เราคาดหวังว่าด้วยการปรับเปลี่ยนเป็น Tech-Enabled Outsourcing Solution จะทำให้เรามี growth double digit ทุกปี และยิ่งด้วยเศรษฐกิจโลกก็ค่อนข้างอ่อนไหว ก็จะยิ่งเป็นโอกาส เพราะเวลาเศรษฐกิจไม่ดีจะยิ่งเป็น growth opportunity ของเรา
ถอดบทเรียนผู้นำยุคใหม่
ในฐานะเป็นผู้นำองค์กรยุคใหม่ ณัฐพลมองว่าความท้าทายสูงสุดคือ การรักษาวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะหลังเผชิญวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทต้องมีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก จากกรณีพนักงานที่ส่งไปให้บริการกับลูกค้าล้มป่วย จนทางบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกค้าและยังต้องส่งพนักงานใหม่ไปทดแทนด้วย
ดังน้้นหากบริษัทไม่ได้มีวินัยทางการเงินและไม่บริหารต้นทุนให้ดีพอ จะทำขาดทุนทันที โดยต้องมีผลกำไรไว้สำรอง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ไม่ใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็น และจัดทำงบประมาณอย่างรอบคอบ
อีกหนึ่งบทเรียนสำคัญคือ ต้องเลือกลูกค้าให้ถูกต้องด้วย เพราะหากลูกค้าทำธุรกิจที่ไม่มั่นคง ก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถชำระค่าบริการได้ จึงต้องศึกษาธุรกิจของลูกค้าให้ดีก่อนตัดสินใจรับจ้าง