posttoday

ชูเกียรติ ห่วงหนักอินเดียขายข้าวให้ ฟิลิปปินส์ อินโด ทำไทยเสียตลาดส่งออก

12 สิงหาคม 2566

ส.ผู้ส่งออกข้าวไทย ชี้ อินเดียระงับส่งออกข้าว ทำตลาดโลกป่วนหนัก หลังราคาพุ่งสูง และไม่มีแนวโน้มจะหยุด ฉุดการซื้อขายหยุดงัก เหตุกำหนดราคาขายยาก กังวลอินเดียขายข้าวราคาถูกให้รัฐบาล ฟิลิปปินส์ อินโด จีน ทำไทยเสียตลาดสำคัญ ส่งสัญญาณราคาข้าวถุงขยับขึ้น 10 บาท ก.ย.นี้

ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา สำหรับทิศทางการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2566 หลังทางการอินเดีย สั่งห้ามส่งออกข้าวทุกชนิด ยกเว้นข้าวบาสมาติ(Basmati Rice) ตั้งแต่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดราคาอาหารในประเทศที่กำลังพุ่งสูงขึ้น และต้องการรักษาเสถียรภาพตลาดข้าวในประเทศ เนื่องจากกังวลว่า ปริมาณผลผลิตข้าวโลกในปีนี้อาจลดลงจากภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายจำนวนมาก กดดันให้ราคาข้าวในอินเดียเพิ่มสูงขึ้น 11.5% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา 

 

อินเดีย ถือเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ครองสัดส่วนการส่งออกข้าวอยู่ที่ประมาณ 40% ของตลาดข้าวทั่วโลก ทำให้การระงับส่งออกข้าวครั้งนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวขาวทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 10 ปี ขณะที่หลายประเทศกังวลว่า นโยบายดังกล่าว อาจเป็นการซ้ำเติมเข้าขั้นวิกฤตอาหารโลก และกดดันให้เงินเฟ้อโลกทยานขึ้นไปอีก ประกอบกับกังวลปรากฎการณ์เอลนีโญ อาจกลับมาอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้บรรดาประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน เร่งกักตุนข้าวเพื่อสำรองในอัตราสูงขึ้น

 

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวในระยะสั้นอย่างรุนแรง เนื่องจากปริมาณข้าวในตลาดหายไปมาก ทำให้ราคาในตลาดโลก รวมทั้งข้าวไทยปรับสูงขึ้น โดยก่อนที่อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าว ราคาข้าวขาว 5% เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 17,000 บาท ปัจจุบันราคาซื้อขายพุ่งขึ้นเป็นเฉลี่ยตันละ 21,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าตันละ 4,000 บาท และยังมีแนวโน้มราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้การกำหนดราคาข้าวแต่ละชนิดที่อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายยากมากขึ้น 

 

ทำให้ขณะนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่หยุดคำสั่งซื้อทั้งหมดไปก่อน ขณะที่ผู้ส่งออกก็หยุดส่งออกเพื่อรอดูสถานการณ์ เพราะในคำสั่งแบนของอินเดียได้เปิดช่องไว้ว่า หากมีกรณีรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องการขอซื้อข้าวจากอินเดียด้วยเหตุผล เพื่อ Food Security ก็สามารถร้องขอมาทางรัฐบาลได้ โดยจะพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจุดนี้ได้สร้างความไม่ชัดเจน ที่ส่งผลต่อทิศทางราคาข้าวอย่างมาก 


ดังนั้น การตัดสินใจขายข้าวหรือไม่ หากขายจริงจะขายในปริมาณ และราคาเท่าใดของอินเดีย เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ที่ผู้ส่งออกทั่วโลกจับตาอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะการขายให้กับลูกค้ารายใหญ่ของโลก เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน ในจำนวนหลายล้านตัน จะมีผลต่อทิศทางราคาข้าวโลก คือ เมื่อข้าวอินเดียออกสู่ตลาดจะทำให้ราคาข้าวลดลง แต่หากไม่ขายให้ เป็นไปได้ว่า สถานการณ์ราคาข้าวขาว 5% ในตลาดจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ใกล้เคียงกับปี 2008  นอกจากนี้หากประเทศที่ส่งออกสำคัญ เช่น เวียดนาม สั่งงดส่งออกบ้าง ตลาดข้าวจะยิ่งปั่นป่วนมากขึ้น 

 

“ราคาข้าวตอนนี้ปรับขึ้นรวดเร็วมาก จนตั้งตัวกันแทบไม่ทัน ทำให้การค้าขายค่อนข้างชะงักงัน เพราะขายไปสักพักราคาก็เพิ่มขึ้นตลอด ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีกับการส่งออกไทย ตอนแรกก็คิดว่าอินเดียแบนส่งออก จะส่งผลดีต่อการข้าวไทย-เวียดนามในช่วงครึ่งปีหลัง แต่มาติดตรงที่ หากอินเดียขายให้กับ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย  หรือ จีน ในจำนวนมากๆตามคำร้องขอ ตลาดสำคัญของไทยก็จะหายไป กลายเป็นเราจะขายข้าวไม่ได้ เพราะราคาขายเขาถูกกว่าเรา ” นายชูเกียรติ กล่าว

 

ทั้งนี้ นายชูเกียรติเชื่อว่า อีกไม่นาน อินเดียจะเปิดขายข้าวให้กับรัฐบาลของประเทศที่ร้องขอ เพราะอินเดียยังมีสต๊อกข้าวในประเทศเหลืออยู่ ขณะที่ตอนนี้ราคาข้าวในประเทศอินเดียปรับลดลงมากแล้ว น่าจะอยู่ในระดับที่ทางการพอใจ ประกอบกับ มีแรงกดดันจากผู้ส่งออกในประเทศ ที่ต้องการขาย เพราะมีลูกค้าเปิด LC ไว้แล้ว อาจจะสร้างความเสียหายได้

 

สำหรับ ไทยจากการพูดคุยกันในวงการส่งออกข้าว เห็นว่า ไทยไม่มีความจำเป็นต้องงดส่งออกข้าว เพราะไทยปลูกข้าวได้ปีละ 20 ล้านตันข้าวสาร มีการบริโภคภายในประเทศไม่เกิน 12 ล้านตัน ดังนั้นไทยยังมีข้าวเหลือเพื่อการส่งออกประมาณ 8 ล้านตันต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ข้าวในตลาดโลก ย่อมส่งผลให้ราคาข้าวถุงในประเทศขยับขึ้นแน่นอน ประเมินว่า ผู้ผลิตข้าวสารถุงมีโอกาสปรับราคาขึ้น ประมาณ 10 บาท ต่อถุง 5 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนกันยายน นี้


ส่วน สถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ยอมรับว่า คาดการณ์ได้ลำบาก เนื่องจากต้องรอต้องรอความชัดเจนจากอินเดียว่า จะมีมาตรการอื่นๆออกมาอีกหรือไม่ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า อินเดียน่าจะงดส่งออกไปถึงกลางปีหน้า หรือ เม.ย.2567 ถ้าไปถึงจุดนั้น ตลาดข้าวโลกคงปั่นป่วนไปอีก และส่งผลถึงตลาดในไทย เพราะตลาดข้าวเป็นแบบ ฟรีมาร์เก็ต ไม่สามารถควบคุมราคาได้ 

 

ทั้งนี้ ปริมาณการซื้อขายข้าวในตลาดโลก มีอยู่ราว 55 ล้านตันต่อปี ปัจจุบัน อินเดียยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก โดยปี 2565 อินเดียส่งออกข้าว อยู่ที่ประมาณ 22.5 ล้านตัน หรือ 40% ของตลาดโลก แบ่งเป็นการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติ (Non – Basmati) 65% และข้าวบาสมาติ (Basmati) 35% ส่วนไทยเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ประมาณ 7.7 ล้านตัน ตามด้วย เวียนนามประมาณ 7.2 ล้านตัน