posttoday

ไทยคม เปิดบทพิสูจน์ดาวเทียม GEO ไม่ตกยุค-ปั้นกำไรยั่งยืน

15 สิงหาคม 2566

ดาวเทียม GEO ถูกมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และอาจถูกดาวเทียม LEO เข้าแทนที่ ทว่า ไทยคม ได้เปิดบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตลาดยังต้องการดาวเทียม GEO หากหาตัวจริงเจอ

แม้การลงทุนสร้างดาวเทียม GEO ต้องใช้เงินเป็นพันล้านบาท และใช้เวลาหลายปีในการยิงขึ้นสู่ท้องฟ้า ทำให้ ดาวเทียม GEO ถูกมองว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และอาจถูกดาวเทียม LEO เข้าแทนที่ ทว่า ไทยคม ได้เปิดบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตลาดยังต้องการดาวเทียม GEO เมื่อหาลูกค้าที่เป็นตัวจริงในตลาดเจอ บวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ ดาวเทียม GEO ไม่ตกยุคอย่างที่หลายคนคิด

โอกาสทองดาวเทียม GEO

ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยคมเชื่อมาโดยตลอดว่าธุรกิจดาวเทียมโดยเฉพาะดาวเทียมวงโคจรประจำที่ หรือ ดาวเทียม GEO (Geostationary Earth Orbit ) ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นดาวเทียมยุคเก่าและอาจถูกดาวเทียมยุคใหม่อย่างดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ ดาวเทียม LEO (Low Earth Orbit : LEO)  มาแทนที่ นั้น 

ขณะนี้ได้บทพิสูจน์แล้วว่า ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ยังคงเนื้อหอมและเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ เทรนด์ของธุรกิจดาวเทียมคือจะใช้ทั้ง ดาวเทียม GEO ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องการครอบคลุมพื้นที่ ขณะที่ ดาวเทียม LEO จะเน้นเรื่องของความเร็วเฉพาะจุดที่ต้องการให้บริการอย่างแม่นยำ ดาวเทียมทั้ง 2 ประเภทจึงต้องใช้งานร่วมกัน

ดังนั้น ภายหลังที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมประจำที่ ไทยคม ก็เริ่มหาพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อไทยคมชนะประมูลวงโคจร 119.5 E และ 78.5 E ทีมงานไทยคมก็รุกตลาดในการหาพันธมิตรทางธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะวงโคจร 119.5E ที่ต้องเร่งสร้างและยิงขึ้นในปี 2570

ไทยคม เปิดบทพิสูจน์ดาวเทียม GEO ไม่ตกยุค-ปั้นกำไรยั่งยืน

ไทยคมใช้เวลาอยู่ 8 เดือน ในการเข้าหาพันธมิตรระดับโลกอย่าง Eutelsat Asia PTE. LTD. บริษัทในเครือ Eutelsat SA ผู้ให้บริการดาวเทียมชั้นนำของโลกจากประเทศฝรั่งเศส ในการเช่าใช้ความจุของดาวเทียม 50% เป็นระยะเวลา 16 ปี 

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่บริษัทระดับโลกจะไว้วางใจคนอื่นให้สร้างดาวเทียมให้ ไม่ได้คุมดาวเทียมเอง แสดงว่าเขาคือตัวจริงในตลาดที่เราใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะหาเจอ ดีลนี้คือดีลใหญ่ที่ทำให้ไทยคมมีเสถียรภาพในยิงดาวเทียมดวงใหม่


สำหรับ Eutelsat เป็นบริษัท Top 3 ของโลก มีดาวเทียมให้บริการกว่า 36 ดวง ให้บริการทั้งทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยตลาดหลักอยู่ในฝรั่งเศส โดยเขาต้องการดาวเทียมไทยคมเพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการบนเรือและเครื่องบิน ทั่วโลก ไทยคมจึงเป็น 1 ในดาวเทียมหลายๆดวงที่เขามีเพื่อช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการลูกค้าของ Eutelsat ที่สำคัญ Eutelsat กำลังอยู่ในขั้นตอนการซื้อกิจการของ ONE WEB อีกด้วย

ดังนั้นการทำตลาดไม่ทับซ้อนกันแน่นอน เพราะการให้บริการในภาคพื้นดินยังเป็นสิทธิ์ในการทำตลาดของไทยคม รวมถึงหากมีบริการบนเรือหรือเครื่องบินที่เป็นลูกค้าคนไทย ก็เป็นสิทธิ์ในการทำตลาดของไทยคม เช่นกัน 

นอกจากนี้ดาวเทียมดวงใหม่นี้ เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์รุ่นใหม่ ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงแบบ Software  Defined High Throughput Satellite (HTS) โดดเด่นด้วยการส่งสัญญาณที่มีเสถียรภาพและเข้าถึงทุกพื้นที่ รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่และปริมาณช่องสัญญาณในการให้บริการได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการที่หลากหลายกับลูกค้าและพันธมิตรทั่วเอเชียแปซิฟิก ดาวเทียมแบบ Software Defined High Throughput Satellite หรือ SD-HTS จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการแบบครบวงจรและส่งมอบโซลูชันต่างๆ ให้แก่ลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การแก้ไขพื้นที่ในการให้บริการทำได้ทุกนาที ไม่ใช่ดาวเทียมสมัยเก่าที่ต้องวางแผนและไม่สามารถปรับเส้นทางการให้บริการได้ เช่น ตอนแรกให้บริการลูกค้าในเวียดนามและตอนหลังไม่มีแล้ว ต้องให้บริการที่ฟิลิปปินส์ เราก็เปลี่ยนเส้นทางไปยังพื้นที่อื่นใกล้เคียงได้ทันที ทำให้ช่วยลดต้นทุนได้เท่าตัว เราถือเป็นเจ้าแรกของเอเชียที่มีเทคโนโลยีนี้

ปรับแผนลงทุนประหยัดงบพันล้าน

ปฐมภพ กล่าวว่า ตอนนี้แผนการลงทุนวงโคจร 119.5E สามารถประหยัดงบประมาณการลงทุนได้ถึง 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติเงินลงทุนไว้ที่ 15,203 ล้านบาท ซึ่งแผนเดิมจะต้องสร้าง ดาวเทียมขนาดเล็ก (10 Gbps) จำนวน 2 ดวง คาดว่ามีมูลค่ารวม 65.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,181 ล้านบาทต่อดวง ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 มีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปี 

และเฟสที่ 2 สร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ (100 Gbps) คาดว่ามีมูลค่า 238.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,917 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2570 อายุการใช้งานประมาณ 15-16 ปี 

ทว่าแผนใหม่ตอนนี้ เหลือเพียงการสร้างดาวเทียมดวงเล็ก 1 ดวง และ ดวงใหญ่ 1 ดวง โดยดาวเทียมดวงเล็กดวงที่ 2 นั้น จะเปลี่ยนจากการลงทุนสร้างเองเป็นการใช้ดาวเทียมของพันธมิตรคู่ค้าแทน คาดว่าประหยัดงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ทำให้การลงทุนเหลือเพียงประมาณ14,000 ล้านบาท 

สำหรับความจุที่เหลือของดาวเทียมวงโคจร 119.5E อีก 50% ไทยคมเน้นหาลูกค้าในตลาดประเทศไทย,อินเดีย,ฟิลิปปินส์,อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย รวมถึงยังมีโอกาสในการทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงนี้ เหมาะในการให้บริการประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ เขา และมีประชากรจำนวนมาก โดย 5G หรือ สายไฟเบอร์ไม่สามารถให้บริการที่ครอบคลุมและทั่วถึงได้ 

การมีทั้งพันธมิตรที่เช่าความจุไปแล้ว 50% กับเป้าหมายในการหาลูกค้าของไทยคมเอง มั่นใจมากว่าดาวเทียมดวงนี้มีกำไรแน่นอน

ไม่ปิดประตูกสทช.เปิดประมูลเพิ่ม

สำหรับวงโคจร 78.5E ไทยคมยังมีเวลาตัดสินใจอีก 1 ปี จากเงื่อนไขต้องยิงดาวเทียมภายใน 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกผู้ผลิตดาวเทียม คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในไตรมาสนี้ โดยดาวเทียมดวงนี้สามารถให้บริการได้ในประเทศไทย,อินเดีย,ตะวันออกกลางและแอฟริกาตะวันออก โดยตั้งเป้ามีรายได้จากต่างประเทศ 60-70 %

เมื่อธุรกิจดาวเทียมส่อแววรุ่งและร่วงเหมือนที่คนอื่นคิด ไทยคม ยังสนใจที่จะประมูลวงโคจรที่เหลือจากกสทช.หรือไม่ หากมีการเปิดประมูลอีกครั้ง ปฐมภพ กล่าวว่า ไทยคมยังไม่ปิดประตู ต้องดูที่เงื่อนไข และ ราคาเริ่มต้นการประมูล 
สิ่งสำคัญของไทยคมตอนนี้คือ รายได้ของดาวเทียมดวงใหม่จะรับรู้รายได้ก็ต่อเมื่อมีการยิงดาวเทียมขึ้นในปี 2570

ดังนั้นในช่วงรอยต่อนี้ ไทยคมต้องพยายามทำการตลาด หาลูกค้าเกรด A ที่เป็นตัวจริงในการมาเช่าใช้ดาวเทียมเพิ่มเติม ทั้งไทยคม 7 และ 8 ซึ่งแม้จะอยู่ในข้อพิพาทอยู่ แต่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ มีการตัดสินให้ไทยคม ชนะ

ขณะที่ลูกค้าของไทยคม ก็ยังเช่าดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที อยู่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาไทยคมก็เข้าไปช่วยอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ของเอ็นทีอย่างต่อเนื่อง และหากเอ็นทีมีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างให้เจ้าหน้าที่ของไทยคมเข้าไปช่วยเหลือ ไทยคมก็ยินดี

ไทยคม เปิดบทพิสูจน์ดาวเทียม GEO ไม่ตกยุค-ปั้นกำไรยั่งยืน

คาดสิ้นปี 66 กำไรแน่นอน

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/2566 ไทยคมมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่สำหรับไตรมาส 2/2566 จำนวน 457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 409.8% จากไตรมาส 1/2566 (QoQ) ซึ่งมีกำไรที่ 90 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 47.8% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 (YoY) ที่ 309 ล้านบาท 

สาเหตุหลักเกิดจากการรับรู้รายได้อื่นซึ่งเป็นรายได้ค่าชดเชยจากข้อพิพาทกับบริษัทคู่สัญญารายหนึ่งจำนวน 301 ล้านบาทโดยบริษัทและคู่สัญญามีความเห็นที่ไม่ตรงกันในการตีความข้อสัญญาบางประการ ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2566 ศาลสูงสุดได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้การตีความข้อสัญญาความร่วมมือดังกล่าวของบริษัทถูกต้องแล้ว เป็นผลให้บริษัทรับรู้รายได้อื่นเป็นเงินค่าชดเชยดังกล่าว

ส่วนรายได้รวมในไตรมาส 2/2566 มีจำนวน 1,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับรายได้ 687 ล้านบาทในไตรมาส 1/2566 (QoQ) เนื่องจากการรับรู้รายได้อื่นซึ่งเป็นรายได้ค่าชดเชยจากข้อพิพาทกับบริษัทคู่สัญญารายหนึ่ง รวมถึงผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ โดยค่าเงินบาทไทยปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯมากกว่าหนี้สิน

และไตรมาส 1/2566 มีการรับรู้รายได้จากค่าบริหารจัดการสถานีภาคพื้นดิน (Gateway) และค่าที่ปรึกษาอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2565 (YoY) รายได้รวมเพิ่มขึ้น 15% จาก 974 ล้านบาทสาเหตุหลักเกิดจากการรับรู้รายได้อื่นซึ่งเป็นรายได้ค่าชดเชยจากข้อพิพาทกับบริษัทคู่สัญญารายหนึ่ง

กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่สำหรับไตรมาส 2/2566 จำนวน 457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 409.8% จากไตรมาส 1/2566 (QoQ) ซึ่งมีกำไรที่ 90 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 47.8% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 (YoY) ที่ 309 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากการรับรู้รายได้อื่นซึ่งเป็นรายได้ค่าชดเชยจากข้อพิพาทกับบริษัทคู่สัญญารายหนึ่งจำนวน 301 ล้านบาท

โดยบริษัทและคู่สัญญามีความเห็นที่ไม่ตรงกันในการตีความข้อสัญญาบางประการ ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน 2566 ศาลสูงสุดได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้การตีความข้อสัญญาความร่วมมือดังกล่าวของบริษัทถูกต้องแล้ว เป็นผลให้บริษัทรับรู้รายได้อื่นเป็นเงินค่าชดเชยดังกล่าว