posttoday

“เอเวอร์แกรนด์” ล้มละลาย ไม่กระทบอสังหาฯ ไทย

19 สิงหาคม 2566

มุมมองโบรกฯ ต่อกรณี “เอเวอร์แกรนด์” ล้มละลาย ลุกลามอสังหาฯ จีน แต่ไม่กระทบอสังหาฯ ไทย เหตุไม่ได้เร่งลงทุนตั้งแต่มีมาตรการ LTV-สงครามการค้า-โควิด 19 ประกอบกับฐานะการเงินแกร่ง Net Gearing ไตรมาส 2/66 ค่าเฉลี่ยแค่ 1 เท่า

บริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศจีน ประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนักถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ในปี 2564 จนกลายเป็นวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ในจีน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2566 เอเวอร์แกรนด์ ยื่นคำร้องขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายในสหรัฐ หมวดที่ 15 เพื่อเปิดโอกาสให้ศาลล้มละลายของสหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในคดีล้มละลายที่ข้องเกี่ยวกับประเทศอื่นได้ โดยหมวดที่ 15 จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาลสหรัฐ, ลูกหนี้ กับศาลของประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการล้มละลายข้ามประเทศ

โดย เอเวอร์แกรนด์ ประสบปัญหาอย่างหนักในการจ่ายหนี้เงินกู้ ที่พุ่งขึ้นแตะ 2.437 ล้านล้านหยวน ( ราว 11.69 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2565 หรือคิดเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ประเทศจีน

ทำความรู้จัก “เอเวอร์แกรนด์” 

เอเวอร์แกรนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2562 โครงสร้างธุรกิจหลักๆคือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่มีการขยายไปในหลายธุรกิจ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า, ธุรกิจอินเทอร์เน็ต, สื่อ, สโมสรฟุตบอล, ธุรกิจน้ำแร่ อาหาร

สำหรับที่มาของปัญหา เกิดจากการเร่งลงทุนเกินตัว (Over Investment) ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ D/E พุ่งสูง 205 เท่า

ลามอสังหาฯ จีน ไม่กระทบอสังหาฯ ไทย

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า ปัญหา Evergrande เป็นปัญหาเฉพาะตัว การชำระหนี้เฉพาะ 93% ของทั้งหมด เจาะจงไปที่เจ้าหนี้หุ้นกู้และกองทรัสต์ ส่วนสัดส่วนเงินกู้จากธนาคารต่อหนี้สินรวมต่ำราว 7% 

ผลกระทบหลักอยู่ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน โดยทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอนับตั้งแต่เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในช่วง ธ.ค.2564 จนมาถึงช่วงปัจจุบัน

ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี พัฒนสิน มองปัญหานี้จะไม่กระทบ Property ในไทย ประเมินบริษัท Property ในไทยไม่ได้ Aggressive  เร่งลงทุนตั้งแต่ปี 2561 หลังจากมีมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงสงครามการค้า และ Covid-19  ขณะที่ในด้านฐานะการเงิน บริษัท Property แข็งแกร่ง เห็นได้จาก Net Gearing งวดไตรมาส2/2566 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1 เท่า เทียบกับปี 2540 สูงถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ตาม คาดมาตรการจากรัฐบาลจีนที่ได้คุมเข้มบริษัท Property มาถึงปลายทางแล้ว และจะเริ่มผ่อนคลายลงโดยเริ่มเห็น Stimulus จากส่วนปกครองแต่ละท้องถิ่นเหมือนเขตฉงชิ่งที่ได้เริ่มดำเนินการไปในช่วงก่อนหน้าตามแนวนโยบายของรัฐบาลจีน คือ ยกเลิกการซื้อบ้านใหม่และต้องถือครอง 3 ปีก่อนขาย และสนับสนุนเงินให้กับครอบครัวใหญ่ (ลูกมากกว่า 2 คนขึ้นไป) ซื้ออสังหาฯ และลดภาษีที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากนี้คาดจะเริ่มมาตรการดังกล่าวทยอยปรับใช้ในเมืองอื่นๆ

สำหรับมุมมองต่อภาคอสังหาจีน ฝ่ายวิจัยมองภาพรวม Downside จำกัด แต่หากจะฟื้นตัวจนถึงระดับที่มีผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียได้จะต้องมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาโดยตรงมากกว่านี้ ซึ่งยังไม่เห็นสัญญานดังกล่าว 

ในขณะที่ภาพรวมบริษัท เชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยจากการประเมินความเสี่ยงของ Bloomberg Credit Risk Model พบว่าเป็นระดับ Investment Grade และ High Yield ไม่เกิน (HY4) เกือบทั้งหมด (เลขยิ่งสูงยิ่งสะท้อนความเสี่ยงสูง) มีเป็นระดับ Default เพียงแค่ Country Garden เท่านั้น