posttoday

นโยบายลดค่าไฟ ครม.เศรษฐา 1 คาดใช้เงิน 1.5 หมื่นล.

06 กันยายน 2566

กกพ.ระบุหากต้องการลดค่าไฟตามนโยบาย ครม.เศรษฐา 1 คาดต้องใช้เงิน 1.5 หมื่นล.ค่าไฟ 4 เดือนสุดท้ายจะอยู่ที่ 4.25 บาท หรือขอยืดหนี้กับกฟผ.ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.10 บาท ลดลงจากที่เคยประกาศไว้ที่ 4.45 บาท

นโยบายเร่งด่วนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 ที่น่าจับตามองคือการลดค่าไฟทันที เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า การลดค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับ 2 ทางเลือก คือ

1.ภาครัฐเจรจาชะลอคืนหนี้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 อยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย จากราคาที่ได้ประกาศไว้ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย

2.การใช้งบประมาณรัฐสนับสนุนอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ค่าไฟอยู่ที่ 4.25 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากทำได้แม้จะมีการประกาศค่าไฟรอบ 4 เดือนสุดท้ายไปแล้ว ก็ยังสามารถเปลี่ยนและใช้วิธีให้ส่วนลดย้อนหลังเหมือนที่เคยทำในอดีตได้

ทั้งนี้ จากรายงานตัวเลขต้นทุนที่แท้จริง พบว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จะอยู่ที่หน่วยละ 4.07 บาท แต่มติ กกพ.เรียกเก็บค่าไฟที่หน่วยละ 4.45 บาท นั้น เพื่อคืนหนี้ให้กับ กฟผ.ประมาณ หน่วยละ 38 สตางค์ คิดเป็นเงินประมาณ 600 ล้านบาทต่อ 1 สตางค์ ในยอดรวม 1 งวด หรือจะอยู่ที่ประมาณ 22,800 ล้านบาทที่ต้องคืน กฟผ. 

นอกจากนี้ ในการแก้ปัญหาราคาค่าไฟที่สำคัญคือ ต้องรีบเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายที่น้อยลง เพราะหากเพิ่มกำลังผลิตขึ้นมาไม่ได้ ก็จะแบกค่าใช้จ่ายไว้อย่างนี้อีกต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาในเบื้องต้นแบบเร่งด่วนก็คือ รัฐบาลจะต้องดูตัวเลขเองว่าจะให้ค่าไฟอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งกฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้น 100% และรัฐบาลอยากให้รับไว้ก่อนก็ได้ แต่ต้องดูว่าสถานะรับได้เท่าไหร่ และจะดูราคาในระยะยาวมากกว่าที่จะดูราคาในงวดนี้งวดเดียว 

ปัจจุบัน กฟผ. ยังคงแบกภาระค่า FT ที่ราว 1.35 แสนล้านบาท ถ้างวดนี้ได้คืนปกติจะเหลือราว 1.1 แสนล้านบาท ถ้าไม่ได้คืนจะเหลือเท่าเดิม อาจบวกลบนิดหน่อยเพราะงวดก่อนหน้ายังไม่ได้มาคิด ซึ่งยังไม่ได้มีการบวกลบกันจริงจัง
 

ส่วนประเด็นที่ภาคเอกชนตั้งสมมติฐานว่าจะลดราคาค่าไฟลงมากกว่านี้ โดยการไปซื้อ LNG มาก่อนนั้น ในการดำเนินธุรกิจแล้วเป็นไปได้ยาก ไม่มีคนขาย เพราะการไปซื้อตอนที่ราคาถูก เพื่อให้ส่ง LNG มาในช่วงที่ราคาแพงจะไม่มีนักธุรกิจที่ไหนยอมส่งให้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีสัญญา นอกเสียจากจะซื้อมาในช่วงราคาถูกและเก็บในคลัง ซึ่งปัจจุบันคลังจัดเก็บยังมีน้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวทางการลดราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ความจริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยอยู่แล้วและตนได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการประชุมทำนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา

จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงานแต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่นๆด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดนโยบายดังกล่าวไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน และมั่นใจว่า เมื่อนโยบายตรงกันทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วยก็จะทำให้นโยบายนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

สำหรับแนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลักๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของราคาหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี เรื่องค่าการตลาด เรื่องภาระการเงินและเงินกู้ และอีกหลายเรื่องที่มาประกอบกัน

บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนเป็นราคาขายของพลังงานเหล่านี้ จะต้องมาดูว่าส่วนไหนที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้ก็จะทำทั้งหมด และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาของพลังงานต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน 

ในขณะเดียวกันยังมองถึงเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น ปัจจุบันกลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า น้ำมันเขียวในราคาพิเศษ จึงเห็นว่า น่าจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ตนเห็นว่า ควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว

และถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็มีความสนใจเรื่องของพลังงานของไทย และศึกษาหาข้อมูลเรื่องพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของประเทศไทยมีประวัติน่าสนใจและได้รับรู้เรื่องราวของพลังงานมาจากบิดาคือ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตชต์ ให้ไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย 

กระทั่งค้นพบแหล่งน้ำมันที่ อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาและสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทยขึ้นมากลั่นน้ำมันดิบนั้น จนประสบความสำเร็จโดย นอกจากจะจัดหาน้ำมันให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังสามารถขายน้ำมันราคาถูกให้กับประชาชนด้วย นำมาสู่การก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร  ซึ่งปัจจุบันองค์การเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารและปั๊มน้ำมันสามทหารได้ถูกแปรเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเป็น บริษัท ปตท.จำกัด ในปัจจุบัน 

ดังนั้นที่มาของพลังงานในประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ และ การหาน้ำมันราคาถูกให้ประชาชนใช้ ผมจึงคิดว่าภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลและของกระทรวงพลังงานวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจน้ำมันแต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและการหาพลังงานให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม

ส่วนเรื่องการทำธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของกระทรวง แต่กระทรวฃงพลังงานมีหน้าที่กำกับดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมถูกต้องแล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงการหาพลังงาน หาน้ำมัน หาเชื้อเพลิงมาใช้ได้อย่างเสรี จะต้องไม่ปิดกั้นต้องให้โอกาสเพื่อให้ราคาถูกลงให้ได้ เป็นการลดต้นทุน เพราะพลังงานเป็นต้นทุนต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าสามารถลดต้นทุนตรงนี้ลงได้ ค่าครองชีพก็จะลดลงตาม

ผมจึงคิดว่านี่คือภารกิจของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่การทำธุรกิจ