posttoday

กยศ. ชี้แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวดไม่กระทบ

19 กันยายน 2566

ผู้จัดการ กยศ.ยันแบ่งจ่ายเงินเดือนราชการ 2 งวดไม่กระทบ แต่พักหนี้ กระทบเงินหมุนเวียน ชี้ทำคนรุ่นใหม่เสียโอกาสทางการศึกษา แย้มปีงบประมาณ 67 เตรียมของบเพิ่ม 1 หมื่นล้าน เพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับปล่อยกู้เพิ่มขึ้น

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณี รัฐบาลมีนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการออกเป็นเดือนละ 2 งวด ว่า นโยบายดังกล่าวไม่กระทบต่อต่อการชำระหนี้กยศ. เนื่องจากกฏหมาย กยศ.กำหนดให้นายจ้างต้องหักเงินเดือนส่งกรมสรรพากร ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ยังต้องรอความชัดเจนจากกรมบัญชีกลางอีกครั้ง ว่าสุดท้ายแล้ววิธีใดจะเหมาะสมที่สุด 

 

“การจ่ายเงินเดือน 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งต่อเดือน ไม่มีผลกระทบต่อกยศ. เพราะนายจ้างต้องหักเงินเดือนทุกวันที่ 15 ของเดือนอยู่แล้ว ขณะที่นโยบายดังกล่าวไม่ได้ทำให้กยศ.ต้องลงทุนระบบอะไรเพิ่มเติม” นายชัยณรงค์ กล่าว


ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะมีการพักชำระหนี้ กยศ.นั้น ขอชี้แจงว่ากองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่ธนาคาร แต่ดำเนินงานในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร ไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้  หากพักหนี้กยศ.จะทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนเข้ามา ส่งผลให้เด็กไทยรุ่นใหม่ขาดโอกาศทางการศึกษา โดยที่ผ่านมาดอกเบี้ยการกู้ยืมของกยศ.ก็อยู่ในระดับต่ำ เพียง 1% ต่อปี มีระยะเวลาผ่านชำระนานถึง 15 ปี ดังนั้นการยกเลิกหนี้กยศ.จึงไม่ใช่ทางออกการแก้ปัญหาทางการศึกษา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่องบประมาณประเทศด้วย

 

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกองทุนได้มีมติอนุมติขยายกรอบการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ 40,790 ล้านบาท เป็นจำนวนเงิน 46,168 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจากเดิม 643,256 ราย เนื่องจากมีจำนวนผู้อื่นขอกู้ยืมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 117,000 ราย รวมจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 760,256 ราย และเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ 

 

ที่ผ่านมา กองทุนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของผู้กู้ยืมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมาย
ที่ได้แก้ไขใหม่ได้กำหนดให้กองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่โดยหักจากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ รวมถึงผู้กู้ยืมสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด 

 

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.บ. กยศ. ใหม่ กองทุนคาดว่าจะเปิดทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้อง และสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้องและหลังฟ้องทุกกลุ่มเข้ามาดำเนินการได้ในช่วงปลายปีนี้ และจะปลดภาระผู้ค้ำประกันเมื่อผู้กู้ยืมเงินได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ 

ปัจจุบัน กองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 734,127 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 1,138, 102 ราย ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,819,051 ราย ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,548,923 ราย และผู้กู้ยืมเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,518 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566) สำหรับภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กองทุนได้รับชำระเงินคืน จำนวน 25,719 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กยศ.อยู่ระหว่างการของงบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับความต้องการการกู้ยืมในอนาคต อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากยศ.มีกระแสเงินสดยันมีเพียงพอ 

 

“มีเงินในระบบระดับหมื่นล้าน รับชำระหนี้คืนปีที่ผ่านมา 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปล่อยกู้ 4.6 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินหนี้เสียอยู่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ยอดหนี้คงค้าง 4.3 แสนล้านตัวเลขเห็นได้ว่า รายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่เราอยู่ได้ด้วยเงินหมุนเวียน” นายชัยณรงค์