ดีเดย์ 1 ธ.ค. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย เฉพาะผู้ถือบัตร EMV
บอร์ด รฟม. มีมติเห็นชอบอัตราค่าโดยสาร "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" 20 บาทตลอดสาย เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม 29 ก.ย.นี้ คาดเริ่มวันแรก 1 ธ.ค.66 นำร่องใช้เฉพาะผู้ถือบัตร EMV เท่านั้น
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีมติเห็นชอบให้รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย หรือเริ่มต้น 14 บาท สูงสุด 20 บาท เบื้องต้นจะใช้กับผู้ถือบัตรโดยสาร EMV เท่านั้น เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม วันที่ 29 ก.ย. 2566 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการกำหนดส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต โดยจะเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน และจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน
ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้บริการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รฟม.จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งด้านตัวเลขผู้โดยสาร รายได้ รวมถึงจุดคุ้มทุนที่ รฟม.ไม่ต้องชดเชยรายได้ในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าว คาดว่าจะทำให้รายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ รฟม. ลดลงประมาณ 60% หรือวงเงินปีละ 190 ล้านบาท แต่คาดว่า จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจากเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 10,000 คน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 56,000 คน เพิ่มเป็นวันละ 66,000 คน
นายภคพงศ์ กล่าวว่า การเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสารนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ขณะที่การเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ที่สถานีบางซ่อน ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน
สำหรับเรื่องการแบ่งรายได้ จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง คือ หากผู้โดยสารขึ้นใช้บริการเริ่มต้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง รฟม. จะเป็นผู้รับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเป็นผู้นับรายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือการใช้บริการผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน
ในส่วนของรายได้ที่ รฟม.จะนำมาชดเชยนั้น จะเป็นรายได้จากเงินที่เคยนำส่งกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรายได้ส่วนแบ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยสถิติที่ผ่านมา รฟม.นำรายได้ส่งกระทรวงการคลัง อยู่ที่ประมาณ 20-25% ต่อปี ของกำไรสุทธิ แบ่งเป็น ปี 2563 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 300 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 467 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 311 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 223 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่าในปี 2567 รฟม.จะนำเงินส่งกระทรวงการคลังลดลง เพราะต้องนำเงินมาบริหารสายสีม่วง
เปิดรายละเอียดค่าโดยสาร
1. กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (จากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน สูงสุด 42 บาท) ตลอดระยะเวลาเปิดให้บริการ (05.30 น. – 24.00 น.) ทั้งนี้ เด็ก/ผู้สูงอายุ จะได้รับส่วนลด 50% และนักเรียน/นักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่
2. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ผู้โดยสารยังคงได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบในอัตราปัจจุบัน
3. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) (ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.) กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน
4. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ผู้โดยสารจะได้รับส่วนลด เมื่อเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน รฟม. ยังอยู่ระหว่างติดตามตรวจสอบความพร้อมและความเหมาะสมในภาพรวมทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ก่อนกำหนดวันเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองโดยสารฟรี และกำหนดวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่ง รฟม. จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ชัดเจนให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป