posttoday

ETDA เผย 50 วัน ยอดจดแพลตฟอร์มดิจิทัล 109 ราย ไร้เงาต่างชาติ

12 ตุลาคม 2566

ETDA ประกาศรายชื่อ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่แจ้งข้อมูลตามกฎหมาย DPS พบ 109 รายเป็นผู้ให้บริการคนไทย ส่วนใหญ่เป็น อี มาร์เก็ตเพลส ยังไร้เงาต่างชาติ ย้ำแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายและยังไม่ได้แจ้ง ต้องรีบดำเนินการ ก่อน 18 พ.ย. 66 นี้

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เปิดเผยว่า หลังจากที่ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือที่เราเรียกว่า กฎหมาย DPS (Digital Platform Service) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ

ช่วงที่ผ่านมา มีบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาสอบถามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทั้ง คุณสมบัติของแพลตฟอร์มที่ต้องเข้าข่ายปฏิบัติตามกฎหมาย รายละเอียดเอกสารข้อมูลที่ต้องแจ้ง ช่องทางและขั้นตอนการแจ้งข้อมูล เป็นต้น 

ETDA ภายใต้ ทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS ได้ดำเนินการให้คำปรึกษา ตลอดจนคำแนะนำแก่ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อให้แพลตฟอร์มได้เข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติด้วยตนเองแบบง่ายๆ ผ่านทางออนไลน์ว่า เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลหรือไม่ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีธุรกิจบริการแพลตฟอร์มเข้ามาร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองจำนวนมาก 

ETDA เผย 50 วัน ยอดจดแพลตฟอร์มดิจิทัล 109 ราย ไร้เงาต่างชาติ

หลังจากได้เปิดระบบให้เข้ามาจดแจ้งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2566 จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจกับ ETDA แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 109 ราย เช่น โรบินฮู้ด , QueQ ,NDID และ บิทคับ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่มาจด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการแพลตฟอร์ม ประเภท e-Marketplace มากที่สุด รองลงมาคือ Communication Platform, News aggregators, Searching tool, Web browser, Cloud service, Virtual assistant, Advertising service เป็นต้น ซึ่งมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม 

โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นให้กลุ่มบริการแพลตฟอร์มทั่วไปเร่งเข้ามาแจ้งก่อน เพราะมีกำหนดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่จะถึงนี้ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้ามาแจ้งข้อมูลกับ ETDA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ของ ETDA หรือที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps/th/opendata/section14  การแจ้งข้อมูลจะช่วยเน้นย้ำความเชื่อมั่นสำหรับผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน และแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองจากการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ทั้งของไทยและต่างประเทศหมายถึงธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีคุณสมบัติดังนี้  1. กรณีบุคคลธรรมดา มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทย เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2. กรณีนิติบุคคล ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทย เกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือ 3. มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศ) 

ส่วนธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่ ที่กำลังจะเริ่มให้บริการ จะต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลก่อนให้บริการ โดยสามารถศึกษาขั้นตอนการแจ้งข้อมูลได้ที่ลิงก์ https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/dps_open.aspx หากธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายตามกฎหมายแล้วไม่เข้ามาแจ้งข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด จะมีโทษตามกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรายชื่อผู้จดแจ้ง ยังไม่พบแพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามาจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปี้ ลาซาด้า เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ไลน์ แกร็บ เป็นต้น