posttoday

SMART CITY ใน EEC บทบาท ความคืบหน้า โครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรพัฒนา

23 ตุลาคม 2566

อนาคตเมืองใหม่ Smart City ใน EEC จะเป็นอย่างไร หลังบอร์ด กพอ. มีมติเดินหน้าแผน EEC ทําทันที “99 วัน 8 ด้าน” หวังดึงเงินลงทุนเข้าประเทศ อนาคตของ EEC ก็เริ่มชัดเจนขึ้น ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายในฝัน สู่การเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก

หลังผลประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ) ชุดใหม่ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 17 ตุลาคม 2566) มีมติเดินหน้า "แผน EEC ทําทันที 99 วัน 8 ด้าน" หวังดึงเงินลงทุนเข้าประเทศ อนาคตของ EEC ก็เริ่มชัดเจนขึ้น ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายในฝัน สู่การเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก 

 

โดยเฉพาะพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี และระยอง ที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนผลักดันให้เป็นพื้นที่นำร่องในเฟสแรกเป็นต้นแบบ “สมาร์ท ซิตี้”

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมผลักดัน "สมาร์ท ซิตี้" ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดสมาร์ทซิตี้ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 100 แห่งภายในปี 2565

 

 

ตราสัญลักษณ์ เมืองอัจฉริยะ Smart City Thailand (เครดิตภาพ DEPA Thailand)

 

ถึงวันนี้ในช่วงปี 2564-2565 ที่ผ่านมา มีเมืองอัจฉริยะ 30 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อุบลราชธานี พิษณุโลก ยะลา สงขลา รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

ส่วนในปี 2566 ตั้งเป้าขึ้นทะเบียนเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นอีก 15 แห่ง เช่น ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ชลบุรี และ พื้นที่เทศบาลในพื้นที่จ.เชียงใหม่ รวมถึงบางพื้นที่ในกรุงเทพฯ ทำให้ภายในปี 2566 จะมีเมืองอัจฉริยะ เพิ่มขึ้นเป็น 45 แห่ง...

 

บทบาท ความคืบหน้าของโครงการ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรพัฒนาของ Smart City ใน EEC

 

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

 

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ถึง การแบ่งโซน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายใน Smart City บนพื้นที่ EEC ที่จะเป็นเมืองใหม่เริ่มต้นจากศูนย์ทั้งหมด โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตามเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน เน้นการลงมือทําจริง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก คือ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ 

ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทพัฒนาโครงการได้จัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแบ่งโซนตามกลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1) ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และ Green Bond  

2) สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทยที่มีธุรกิจในอีอีซี และสถานที่ราชการที่สำคัญ 

3) การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์อนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย 

4) การศึกษา วิจัย และพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้านการวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน 

5) ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitization และ 5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา

 

จุดเด่นของ Smart City EEC

ดร.จุฬา ได้เปิดเผยว่า เมืองใหม่ทั้งหมดในพื้นที่แปลงใหญ่กว่า 10,000 ไร่ เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงการออกแบบซึ่งจะใช้เวลาราว 2-3 ปี โดยเฟสแรกมีพื้นที่ 5,000 ไร่ การออกแบบจะใช้เวลาค่อนข้างมากเพราะต้องการเน้นตอบโจทย์การใช้สอยของกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาลงทุนเป็นหลัก ตนมองว่า ส่วนยากที่สุดของเมืองใหม่ Smart City คือ ระบบสาธารณูปโภค

 

ระบบน้ำ พลังงาน พื้นที่ออกแแบบสำหรับกลุ่มคนสูงวัยในอนาคต

ในส่วนของระบบน้ำจะเป็นระบบรีไซเคิล นำน้ำที่ใช้แล้วในเมืองกลับมาใช้ได้อีก  จากการเริ่มไปศึกษาดูงานที่ซิดนีย์และเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และหากมีการบริหารจัดการน้ำได้ดี อาจได้น้ำที่ผ่านการรีไซเคิลถึง 70% จากระบบและสามารถนำไปใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรมได้ต่อไป นับเป็นการแก้ปัญหา painpoint ในเรื่องน้ำของพื้นที่ EEC ได้เป็นอันดับแรก และอาจมีค่าบำบัดน้ำเพิ่มเข้ามาสำหรับผู้อาศัย

 

ส่วนในเรื่องของพลังงานก็มีการวางเป้าจะใช้ Renewable Energy (RE) หรือพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100% ตอบโจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

มีการลงทุนเองในพื้นที่ส่วนกลาง โดยเฟสแรกมีการพัฒนาพื้นที่ 5,000 ไร่จาก 12,000 ไร่ในส่วนของเมืองใหม่ โดยตั้งใจออกแบบให้เมืองใหม่ "พื้นที่สีเขียว" 30% และอีก 70% เป็นพื้นที่ในส่วนที่นำไปพัฒนาในโซนต่างๆ

 

ยิ่งกว่านั้นยังตั้งใจให้การออกแบบพื้นที่ของเมืองใหม่ตอบโจทย์กิจกรรมของคนสูงวัย เพราะในอนาคต ประชากรจะมีอายุยืนขึ้น ประชากรคนสูงวัยในเมืองจะมากขึ้น ดังนั้น พื้นที่ใช้สอยจะต้องได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับกิจกรรมของคนกลุ่มนี้

 

โดยในอนาคตตนมองว่า เมืองใหม่อาจมีมหาลัยนานาชาติด้วย โดยเฉพาะจีนที่อาจขยายสาขาสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่มาที่นี่เพราะจำนวนประชากรที่หนาแน่นขึ้น

 

เครดิต DEPA


ที่มาที่ไป มีอะไรใน Smart City EEC ที่เราควรรู้

Smart City  ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล  8 ปี ต้องอยู่ในกรอบของ 3 กิจการนี้:

1.กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือจะต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม(Smart Environment) และจะต้องลงทุนจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน(Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก 

หากผู้ลงทุนสามารถจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้านข้างต้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี(จำกัดวงเงิน)

2.กิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ 

3.กิจการพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ กำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะภายในพื้นที่ครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy และ Smart Environmentโดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี (จำกัดวงเงิน) และจะต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมาก 

(ข้อมูลจาก DEPA อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก)

 

เครดิต DEPA
รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกระตุ้นเมืองอัจฉริยะ

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน คือการรถไฟแห่งประเทศไทบย (ร.ฟ.ท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จภายใน5 ปีข้างหน้า หรือเปิดให้ใช้บริการช่วงปี 2566-2567 ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลองวิ่ง

 

โครงการนำร่องพัฒนา 4 เมืองเก่า "แหลมฉบัง-พัทยา-บางแสน-ระยอง" สู่ “สมาร์ท ซิตี้” ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งการวางผังเมืองการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่สามารถตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันอย่างชาญฉลาด รวมทั้งการหยิบเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างความสะดวกสบาย และปลอดภัยให้กับประชาชนสูงสุด

 

สำหรับโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรีเพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 


ซึ่ง มติ กพอ. เห็นชอบให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 15,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 4,000 ล้านบาท รวม 19,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าชดเชยที่ดิน 10,000 ล้านบาทโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียดและจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) 1,000 ล้านบาทโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 200 ล้านบาท และโครงการปรับพื้นที่และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง 7,800 ล้านบาท โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่ โครงการมีที่ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม. มีระยะการพัฒนา 10 ปี ระหว่างปี 2565-2575

 

ติดตามผลลัพธ์จาก Market Sounding จากภาคเอกชนไทย เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ครั้งที่ 1 ที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการ ฯ อาทิ

 

  • กลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในเครือ BDMS สนใจในด้านการลงทุนธุรกิจการแพทย์ 
  • บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (SCG) สนใจในด้านเทคโนโลยีการเชื่อมโยงระบบอินเตอร์เน็ต (IOT)
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและ MUFG ให้ความสนใจในธุรกิจด้านเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ในพื้นที่โครงการ
  • บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) สนใจในด้านการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน 
  • บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT พร้อมจะสนับสนุนการลงทุนด้านโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่โครงการ

 

โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน อาทิ ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบจัดการของเสีย ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบดิจิทัล และระบบอุโมงค์สาธารณูปโภค รวมทั้งมีการออกแบบวางผังระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะต่างๆ ครบตามเกณฑ์ชี้วัดการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะทั้ง 7 องค์ประกอบ ได้แก่ Smart Environment, Smart Energy, Smart Mobility, Smart Living, Smart People, Smart Economy, Smart Governance ส่งผลให้มีระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวก เอื้อต่อการดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย