เปิดแล้ว Net zero energy building อาคารต้นแบบลดพลังงาน งบ 81.6 ล้านบาท
“พีระพันธุ์” ปลื้ม เปิดอาคารใหม่ใหญ่ที่สุดในไทย เน้นออกแบบประหยัดพลังงานและนำพลังงานทดแทนมาใช้ ชูเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบอาคารสำนักงานที่มีการใช้พลังงานต่ำหรือเป็นศูนย์ วางเป้าปี 2579 ไทยมีอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ “Net Zero Energy Building” (อาคาร 70 ปี พพ. ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสร้างอาคารใหม่ ๆ ของไทยได้นำแนวคิดด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน โดยการทำให้การใช้พลังงานสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero Energy Building: NZEB) เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอาคารและที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาอาคารที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงให้ได้ 45% ในปี พ.ศ. 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593
ในขณะที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ถึง 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในแผนธุรกิจและแผนการบริหารจัดการองค์กรมากขึ้น
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้เห็นความสำคัญที่จะต้องวางแผนและเริ่มการศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งมีการดำเนินการในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศยังไม่มีตัวอย่างที่สมบูรณ์ให้ศึกษาเรียนรู้ โดยในปี 2562 พพ. ได้เริ่มศึกษาและได้จัดสรรงบประมาณกว่า 81,600,000 บาท เพื่อสร้าง อาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ “Net Zero Energy Building” หรือ อาคาร 70 ปี พพ. แห่งนี้
โดยมีการออกแบบภายใต้หลักการการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานในอาคารผ่านการออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อม และการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง พร้อมการใช้พลังงานทดแทนจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เกิด อาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB) ตลอดจนมีการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวภาครัฐ G–GOODs ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เข้ารับการประเมินการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES-NC) ให้การรับรองโดยสถาบันอาคารเขียวไทย ระดับ Platinum และยังเป็นอาคารสำนักงาน Zero Energy Building ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกด้วย
ด้าน นายโสภณ มณีโชติ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เนื่องจาก พพ. มีอาคารสำนักงานที่ใช้งานมานานมากกว่า 50 ปี สภาพทรุดโทรม จึงมีความจำเป็นที่จะก่อสร้างอาคารสำนักงานประหยัดพลังงานดังกล่าวเพื่อทดแทนอาคารสำนักงานเดิม และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานแก่หน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักและใส่ใจประหยัดพลังงานต่อไป
สอดคล้องกับภารกิจตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561 – 2580 (Energy Efficiency Plan : EEP2018) ทั้งนี้ อาคาร 70 ปี พพ. แห่งนี้ เป็นอาคารสำนักงานสูง 6 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 2,650 ตารางเมตร โดยมีการออกแบบ ตามแนวคิด “ลดพลังงาน เสริมคุณภาพชีวิต” ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบที่สำคัญ ได้แก่ “Passive Design” ซึ่งเป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และ “Active Design” ที่มีการออกแบบโครงสร้างอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ทันสมัยเข้ามาช่วยควบคุมการใช้พลังงาน เช่น การใช้ระบบปรับอากาศประสิทธภาพสูงทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ต่างๆ หรือการนำระบบบริหารจัดการอาคารอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำมาเป็นแบบอย่างและต่อยอดเพื่อให้ Net Zero Energy Building เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาคารแห่งนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร เช่น การออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยใช้หลอด LED ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเข้มแสงและจำนวนผู้ใช้อาคาร เพื่อควบคุมการเปิด-ปิด หลอดไฟอยู่ริมหน้าต่างอัตโนมัติเมื่อแสงธรรมชาติเพียงพอ และปรับปริมาณแสงสว่างให้เพียงพอต่อการใช้งาน
อีกทั้ง ใช้ระบบปรับอากาศ ประเภท Variable Refrigerant Flow ที่ทำงานร่วมกับเครื่องตรวจจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 Sensor เพื่อเติมอาการบริสุทธิ์ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดภาวะอยู่สบาย และยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับฝุ่น PM 2.5 ที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคารได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังติดตั้งพลังงานหมุนเวียน ด้วยแผงโซล่าร์เซลส์บนหลังคากว่า 100 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ประมาณ 145,157 kWh/yr (กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี) (92.9% ของความต้องการ) พร้อมแบตเตอรี่ลิเธี่ยม-อิออนเพื่อกักเก็บพลังงานสำหรับใช้ในอาคาร ขนาด 5kWh (กิโลวัตต์ชั่วโมง) 12V จำนวน 2 ชุด รวม 10 kWh (กิโลวัตต์ชั่วโมง) เป็นต้น
พพ. เชื่อมั่นว่า อาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์“Net Zero Energy Building” หรือ อาคาร 70 ปี พพ. แห่งนี้ จะเป็นอาคารต้นแบบ ให้กับอาคารอื่นทั่วทั้งประเทศต่อการออกแบบก่อสร้างอาคารให้การใช้พลังงานเกิดประโยชน์สูงสุด ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล โดย พพ. จะเป็นศูนย์กลางในการกระจายความรู้ออกไปในวงกว้าง
คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะมีอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร แม้ต้นทุนในการพัฒนาอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์จะสูงกว่าอาคารทั่วไป แต่ก็มีความคุ้มค่าในระยะยาว อย่างไรก็ตามไม่เพียงอาคารใหม่ที่สามารถพัฒนาเพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ อาคารเก่าที่เปิดใช้งานไปแล้ว ก็ยังสามารถปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ได้เช่นเดียวกัน