สำเร็จ! ซีพี-โตโยต้า-CJPT ผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากมูลไก่ เตรียมใช้งานจริง
เครือซีพี, โตโยต้า และ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) ประกาศความคืบหน้าโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพแห่งแรกของประเทศไทย ในการประชุม COP28 โดยซีพีวางแผนการใช้พลังงานไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพในการขนส่งระยะไกล
ภายในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี), โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) และ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) ประกาศความคืบหน้าโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มต้นผลิตได้ 2 กิโลกรัม/วัน
โดยความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น กับความสำเร็จในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนชีวภาพ (Bio-Hydrogen) ซึ่งได้มาจากของเสียของสัตว์ปีก ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคขนส่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของการประชุม COP28 ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์สำคัญ 4 ด้าน และหนึ่งในนั้นคือเร่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
การนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการพัฒนาก๊าซชีวภาพที่ได้จากของเสียจากฟาร์มสัตว์ปีกของเครือซีพี ในการผลิตก๊าชไฮโดรเจนชีวภาพ ความร่วมมือครั้งนี้ของเครือซีพี โตโยต้า และ CJPT ได้ร่วมกันนำนวัตกรรมผสานความมุ่งมั่นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ โตโยต้ายังได้จัดแสดงอุปกรณ์การผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพแห่งแรกของประเทศไทย ที่สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไฮโดรเจนชีวภาพ ในฐานะแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการทดลองใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวสำหรับการขนส่งระยะไกลและมีการทดสอบประสิทธิภาพของไฮโดรเจนชีวภาพ พลังงานทดแทนสำหรับภาคการขนส่ง โดยเครือซีพีหวังว่าจะนำไฮโดรเจนชีวภาพมาใช้กับการขนส่งระยะไกลของเครือ รวมถึงสำหรับการดำเนินงานบางส่วนในประเทศไทย
ภายใน Thailand Pavilion ในงาน COP28 ณ เมืองดูไบ นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “พวกเราทุกคนต้องแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุม COP28 ครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเราทุกคนที่จะรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด และสร้างสรรค์นวัตกรรม จากความร่วมมือกับ โตโยต้า และ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) เพื่อค้นหาวิธีปฏิวัติการใช้พลังงานทดแทนและแนวทางใหม่เพื่อนำไปสู่อนาคต จากความร่วมมือนี้เราจะสร้างโลกที่ความยั่งยืน และเป็นวิถีของการดำรงชีวิต”
ไฮโดรเจนชีวภาพจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย นอกเหนือจากการนำของเสียจากสัตว์ปีกไปผลิตก๊าซชีวภาพแล้ว ความร่วมมือครั้งนี้ยังขยายไปสู่ภาคยานยนต์ อีกความสำเร็จของการทดลอง ในการใช้โดรนยานยนต์ไร้คนขับ สนับสนุนภาคการเกษตรของประเทศไทย โตโยต้าได้นำโดรนที่ใช้ไฮโดรเจนชีวภาพ นำมาใช้งานในฟาร์มซีพีหลายแห่ง ตั้งแต่การเพาะเมล็ด การใส่ปุ๋ย ตลอดจน งานเกษตรกรรมอื่นๆ
นายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อสังคมร่วมกับทาง ซีพี ซึ่งบรรลุผลด้วยดีในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และมีส่วนในการสร้างความสุขให้กับคนไทย 67 ล้านคน ภายใต้แนวคิด “doing what can be done now” ร่วมกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน
ด้วยทรัพยากรทางการเกษตรของประเทศรวมกับความแข็งแกร่งตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของซีพี ผนวกกับความเชี่ยวชาญทางธุรกิจยานยนต์ ของโตโยต้าและ CJPT การทดลองครั้งแรกในประเทศไทย ในการผลิตไฮโดรเจนจากการใช้ก๊าซชีวภาพ จากฟาร์มสัตว์ปีกสามารถนำไปใช้เพื่อการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเราต้องการขยายขอบเขตความร่วมมือริเริ่มโครงการเพื่อสนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ พลังงาน ข้อมูล และยานยนต์”
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการดำเนินธุรกิจยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ผ่านบริษัทในเครือฯ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ยังมีการศึกษายานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เพิ่มเติม ทั้ง HEV (ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด), BEV (ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่) และ FCEV (ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการโดยสารขนส่งในเมืองและการขนส่งของภาคการเกษตร
รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการคำนวณน้ำหนักบรรทุกที่เหมาะสม อีกทั้งวางแผนเส้นทางเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง
นายขจร เจียรวนนท์ กรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ โตโยต้า มีความสนใจ ในการสนับสนุนการลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นเป็นพันธมิตรมากว่า 25 ปี เรามีความยินดีที่ได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งหาแนวทางใหม่เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสำหรับประเทศไทย เป้าหมายของเราคือศึกษาศักยภาพในการผลิต การขนส่ง และการใช้ไฮโดรเจนชีวภาพทุกธุรกิจของเครือฯ โดยเริ่มทดลองจากเขตเศรษฐกิจพิเศษในบางพื้นที่ หลังจากนั้นจะมีการขยายให้ครอบคลุม เราขอเชิญชวนพันธมิตรและชุมชนต่างๆ ในการมีเป็นพันธกิจและร่วมในการเดินทางของเราครั้งนี้”