AIS หนุนเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล ชูนวัตกรรมยกระดับ “SEA COVERAGE” 3 กลุ่มสำคัญ
กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมง และ ชุมชนตามแนวชายฝั่งและบนเกาะ หนุนการเติบโตเศรษฐกิจชายฝัง หลังพบสร้างเม็ดเงินให้ประเทศมากถึง 1.21 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่เป็นหัวใจ AIS คือ การส่งมอบบริการที่ต่อเนื่อง ด้วยคุณภาพสัญญาณและนวัตกรรมที่พร้อมให้เชื่อมต่อได้เสมอ ไม่มีข้อจำกัด ดังนั้นจึงไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาเครือข่ายให้รองรับความต้องการได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หมายรวมถึงพื้นที่เดิมที่เคยครอบคลุมอยู่แล้ว ก็ต้องดียิ่งขึ้น จากความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สำหรับบริเวณชายหาดทะเลของไทย ที่มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ติดอันดับโลก นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมากถึง 1.21 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจชายฝั่ง จากอุตสาหกรรมประมงทั้งชายฝั่งและประมงน้ำลึก, อุตสาหกรรมพัฒนาที่ดิน, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวข้อง
ตั้งแต่ การทำงานของภาครัฐในการให้บริการประชาชน รวมถึง นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค ผู้ให้บริการท่าเรือ และการเดินเรือต่างๆ อาทิ เรือเฟอร์รี่ เรือยอร์ช เรือสปีดโบ๊ท รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และบริการทัวร์ทุกรูปแบบ
ดังนั้นที่ผ่านมาการบริหารจัดการคุณภาพเครือข่ายบริเวณชายฝั่งและกลางทะเล หรือ SEA COVERAGE จึงเป็นภารกิจหลักที่เราทุ่มเท เพื่อให้สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจชายฝั่งดังกล่าวได้อย่างดีที่สุด
หนุนผู้ใช้งาน 3 กลุ่มสำคัญ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในพื้นที่ทางทะเลว่า หรือ SEA COVERAGE มีความท้าทายในการทำงานอย่างมาก เพราะลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ชายฝั่ง เกาะ ไปจนถึงพื้นที่กลางทะเล รวมไปถึงแหล่งพลังงาน ทำให้ทีมวิศวกรต้องใช้ทักษะ และประสบการณ์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมโครงข่าย การผสมผสานระบบสื่อสัญญาณ (Transmission) พร้อมเลือกใช้นวัตกรรม โซลูชัน รูปแบบของพลังงานทดแทนจากธรรมชาติอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับภูมิประเทศและพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้โครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G มีความพร้อมมากกว่าระบบสื่อสาร แต่สามารถตอบโจทย์ทุกประสบการณ์ดิจิทัลของลูกค้าและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานตามพฤติกรรมและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ดังนี้
กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Sector) ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานมากกว่า 95% ที่นอกเหนือจากกลุ่มนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ดิจิทัลบนโครงข่าย AIS 5G แล้ว หน่วยงานภาครัฐ อาทิ หน่วยงานอุทยานแห่งชาติ กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ ยังสามารถเชื่อมต่อการใช้งานระบบสื่อสาร และบริการดิจิทัล อาทิ IoT, e-Ticket และการจัดเก็บฐานข้อมูล (Tourism Smart Data) เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการอย่างผู้ให้บริการเรือยอร์ช (Yacht Route) เรือเฟอร์รี่ (Ferry Line) ที่โครงข่ายสื่อสารของ AIS มีความครอบคลุม ใช้งานได้ต่อเนื่องทุกเส้นทางการเดินทาง พร้อมนำนวัตกรรมอย่าง Super Cell มาทดลองทดสอบให้บริการจริงแล้ววันนี้ โดยสามารถส่งสัญญาณเชื่อมโยงระหว่างจุดต่อจุดได้สูงสุดกว่า 70 กิโลเมตร
นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวต้องการเช็คอินจุดท่องเที่ยวที่สำคัญในทันที เราต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน เราใส่ใจทุกจุดเช็คอิน สัญญาณต้องดี ทั้งอ่าวมาหยา ที่มีสัญญาณ AIS อยู่เจ้าเดียว หรือ อ่าวปิเละ ที่หลายคนต้องถ่ายรูปเช็คอิน
กลุ่มอุตสาหกรรมประมง (Fisheries Sector) และความปลอดภัย ในพื้นที่สองชายฝั่งทะเลของประเทศทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน โดยอุตสาหกรรมประมงมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล หรือ Ocean Economy เป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง ที่ใช้เรือขนาดเล็กทำการประมงในระยะทางประมาณตั้งแต่ 3-12 ไมล์ทะเล และกลุ่มประมงเพื่อการพาณิชย์ หรือ ประมงน้ำลึก ที่ออกไปจับปลานอกเขตประมงชายฝั่ง แน่นอนว่ากลุ่มนี้ต้องการการติดต่อสื่อสาร ทั้งในด้านธุรกิจกับแพรับซื้อปลา การดูแลความปลอดภัย หรือการติดต่อครอบครัวบนฝั่ง และยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งทหารและตำรวจที่ดูแลความมั่นคงทางทะเล ซึ่ง AIS สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน
กลุ่มชุมชนตามแนวชายฝั่งและบนเกาะ (Local Community Sector) ที่พัฒนาเครือข่ายครอบคลุมจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 98% แล้ว ทั้งมือถือ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ตอบสนองเรื่องการทำธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภคที่ใช้ดิจิทัลเข้ามายกระดับ
นายวสิษฐ์ กล่าวว่า พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป จากเดิมใช้งานแค่โทรศัพท์ แต่ปัจจุบันต้องการอัพโหลด ไม่ได้ต้องการแค่ดาวน์โหลด AIS จึงต้องมีการออกแบบเน็ตเวิร์กให้เหมาะสมกับการใช้งาน มีการนำ AI เข้าใช้บริหารจัดการเน็ตเวิร์กให้สามารถขยายเพื่อรองรับความหนาแน่นที่เกิดในแต่ละพื้นที่ได้โดยอัตโนมัติ
การทำเน็ตเวิร์กในทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราปักเสากลางทะเลไม่ได้ ไฟสำรองเพื่อเลี้ยงสถานีฐานต้องเป็นพลังงานที่มาจากโซลาร์เซล นอกจากนี้ยังต้องหมั่นดูแลอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะลมทะเลกัดอุปกรณ์ให้เป็นสนิมได้ง่าย ที่สำคัญคือการออกแบบคลื่นความถี่ที่ต้องผสมผสานระหว่างคลื่น 5G ความถี่ 2600 MHz และ คลื่น 700 MHz ในการกระจายสัญญาณ การวางเส้นทางเน็ตเวิร์กไปยังเกาะ และกลางทะเลตามเส้นทางเดินเรือ นอกจากนี้ยังต้องใช้ไฟเบอร์ รวมถึงคลื่นไมโครเวฟในการเชื่อมต่อสัญญาณไปยังเกาะที่ไม่สามารถติดตั้งสถานีฐานหรือลากสายไฟเบอร์ไปได้ เช่น เกาะที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
ด้านนายไพบูลย์ รินทร์สกุล หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค (ภาคใต้) กล่าวว่า ภาคใต้มีเกาะอยู่นอกชายฝั่งกว่า 700 เกาะ เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมาพักมากที่สุด โดยในช่วงปี 2561 ก่อนเกิดโควิด มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเฉพาะที่เกาะพีพี จ.กระบี่ ถึง 8 แสนคนต่อปี ขณะที่ท่องเที่ยวภาคใต้ทั้งหมด 26 ล้านคนต่อปี เป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศอยู่ที่ 26% ต่อปี ขณะที่ห้องพักต่างๆมีรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 2 แสนห้อง และมีพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้มหาศาล ทำให้การพัฒนาโครงข่ายไม่ได้เพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงประชากรที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมดด้วย
ขณะที่กลุ่มชาวประมง ก็สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคได้ประมาณ 10 % มีเรือประมงอยู่ในภาคใต้ 50,000 ลำ แต่ละลำมีคนทำงานลำละ 40 คน ดังนั้นเน็ตเวิร์กที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการสื่อสารหากัน แจ้งเหตุ หรือ เตือนภัยได้ดีและรวดเร็ว
นายวีรภัสร์ จันทโร ผู้บริหาร Phi Phi Hotel Group และ รองประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบนเกาะพีพี ส่วนใหญ่ 90 % เป็นต่างชาติ อาทิ รัสเซีย จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และอังกฤษ ส่วนใหญ่เดินทางมาจากภูเก็ต 70 % โดย จ.กระบี่ มีอยู่ 6 เกาะ ซึ่งเกาะพีพี ถือเป็นเกาะที่อยู่ตรงกลาง เหมาะในการเข้ามาพักและท่องเที่ยวไปยังเกาะต่างๆ สัญญาณโทรศัพท์ เป็นสิ่งสำคัญของคนที่นี่อย่างมาก ไม่เพียงแค่การถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียล แต่สำคัญในการโทรหาแจ้งเตือนภัย หรือเหตุฉุกเฉินซึ่งกันและกันได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ก็ยอมรับว่าเทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เน็ตเวิร์กสำคัญมากในการแชร์รูปภาพลงโซเชียลมีเดีย
นายอนุรักษ์ มีล่าม เจ้าของร้านบ้านมะหญิง เกาะกลาง จ.กระบี่ กล่าวว่า จ.กระบี่ มี 644 ชุมชน เกาะกลางเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เมื่อก่อนไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่ระบบการสื่อสารสำคัญมาก ย้อนไปเมื่อสมัยที่หน้าอำเภอมีตู้โทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว พบว่ามีคนต่อแถวรอใช้บริการจำนวนมาก ต่อมาเมื่อบ้านตนเองมีโทรศัพท์เครื่องแรกของชุมชน ก็สามารถบอกข่าว แจ้งเหตุได้สะดวกขึ้น ปัจจุบันเป็นโทรศัพท์มือถือ ยิ่งมีความสำคัญมาก เมื่อชาวบ้านออกเรือทำประมง หากเจอปลาฝูงใหญ่ เรือประมงลำเดียวไม่สามารถจับได้หมด ก็สามารถโทรหาเพื่อนให้มาช่วยกันได้ ช่วยลดต้นทุนการเดินทาง และประหยัดเวลาได้อย่างมาก
สำหรับชาวบ้านที่เกาะกลาง ส่วนใหญ่ทำงานหลักเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น อาชีพรับจ้าง เปิดรีสอร์ท และร้านอาหาร เมื่อว่างเว้นจากงานหลักก็จะมีอาชีพทำประมง และเป็นช่างซ่อมเรือ ส่วนใหญ่จะมีการเพาะเลี้ยงปลาเก๋า และปลากะพง นอกจากนี้ยังมีการทำนาข้าวสังข์หยดกลางเกาะด้วย
นายวสิษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญในการพัฒนาเมืองของ AIS คือการสร้างเน็ตเวิร์กที่ดีที่สุด สัญญาณโทรศัพท์ก็เหมือนไฟฟ้า ประปา ที่ต้องเข้าถึง ไม่จำเป็นต้องแจกแท็บเลต โน้ตบุ๊ก เหมือนไฟฟ้า ประปา ที่ไม่ต้องแจกทีวี หรือ ตู้เย็น