พิชัย รับคำเตือนแบงก์ชาติ ตั้งงบเพิ่ม 1.22 แสนล้าน เสี่ยงกระทบเสถียรภาพคลัง
พิชัย รมว.คลัง ชี้เป็นเรื่องดีแบงก์ชาติเตือนให้ระวังความเสี่ยงฐานะคลัง กระสุนอาจไม่เพียงพอรับมือวิกฤตในอนาคต หลังรัฐบาลไฟเขียนตั้งงบเพิ่ม 1.22 แสนล้านบาท ทำ Digital Wallet ยืนยันให้ความสำคัญเสถียรภาพการเงินการคลัง
นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนรัฐบาลหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบการปรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้จะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% และอาจไม่มีชอ่งในการรับมือหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในอนาคตว่า เป็นคำเตือนที่ดี เพราะในช่วงวิกฤต แปลว่า เราต้องมีความเพียงพอของฐานะเงินในคงคลัง แต่อย่างไรก็ตามหากเทียบระหว่างรัฐบาลไม่ดำเนินการอะไรเลย กับดำเนินการบ้าง อันไหนจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่ากัน
"แน่นอนถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเงินคงคลังก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทียบกับทำแล้วเศรษฐกิจเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามถือว่า เป็นคำเตือนที่ดีเราจะรับไปดูอย่างละเอียด เพราะในแง่ของเงินคงคลังแล้ว เราต้องนึกถึงเสถียรภาพไปด้วย และไม่ได้กังวลผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะว่า จะชนกรอบเพดาน 70% เพราะระดับหนี้ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในกรอบ 4-5 ปีข้างหน้า "นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบปรับแผนการคลังระยะปานกลาง โดยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในรายละเอียดจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 1.12 แสนล้านบาท และจะจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท
นอกจากนี้นายพิชัย ยังกล่าวด้วยว่า เร็วๆนี้ กระทรวงการคลัง จะมีการหารือร่วมกับ กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ถึงแนวทางการ และหลักเกณฎ์ฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) เพื่อกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเดือนหน้าหรือไม่ หากทาง FETCO พร้อมก็สามารถนัดมาได้ทันที เพราะเรามีความพร้อมอยู่แล้ว
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการคลัง ถือเป็นอำนาจหน้าทีของฝ่ายบริหารในการกำกับดูแลอยู่แล้ว ส่วนข้อกังวล และข้อห่วงใยเรื่องกรอบวินัยการเงินการคลัง เราก็รับฟัง โดยยืนยันว่า แม้มีการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมไปแล้ว 1.22 แสนล้านบาท แต่ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบการคลังที่กำหนดไม่ใช่แค่ในปัจจุบัน หรือ หลังจากมีการปรับตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมแล้วก็ตาม
"การฉายภาพ (projection) ไปข้างหน้า รัฐบาลมองว่า ระดับหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในกรอบชัดเจน แน่นอนระยะเวลาปีแรกมันต้องขึ้นอยู่แล้วธรรมชาติ แต่หลังจากนั้นเราจะเห็น Trend ในการที่จะลดลง ไม่ได้อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงอะไรสำหรับรัฐบาลยังสามารถบริหารจัดการ "นายจุลพันธ์ กล่าว
ในส่วนของส่วนในเรื่องของพื้นที่การคลัง หรือ Fiscal Space ในวันประชุมคณะทำงานเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทุกคนมีความเห็นตรงกัน รวมถึงธนาคารประเทศไทย ซึ่งก็มีตัวแทนร่วมประชุมอยู่ด้วย ก็ยืนยันว่าตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา รวมถึง ตัวเลขล่าสุด ไตรมาสมาส1/2567 ที่ขยายตัวเพียง 2.5% เป็นตัวเลขที่มันน่าเป็นห่วง ซึ่งในข้อเท็จจริงกลไกในการบริหารจัดการของรัฐ มันมีกลไกในการดำเนินการในการช่วยเหลืออยู่แล้วไม่ว่า Fiscal Space ณ เวลาที่มันเกิดเหตุการณ์วิกฤตใดๆ พื้นที่มันมีเท่ามันมีใด กลไกทางกฎหมายที่จะดำเนินการได้แต่เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจมันดำดิ่งไปกว่านี้ไม่ได้
"เพราะฉะนั้นเราจะเก็บ Fiscal Space ไว้แล้วรอให้เศรษฐกิจมันพังไปกว่านี้ แล้วค่อยใช้หรือเลือกใช้เลยเพื่อที่จะประคับประคองให้มันเป็นขาขึ้นสักที มันก็เป็นเรื่องแต่มุมมองว่าจะเอาอันไหนก่อแค่นั้นเอง จะรอให้มันพังถึงที่สุดแล้วก็มาบอกว่าโอเค อย่างนั้นเราจะเอา Fiscal Space ที่มี 1.22 แสนล้านบาทมาใช้ 1 ปีข้างหน้าตอนที่มันลึกไปกว่านี้ หรือเราจะใช้ตอนนี้เพื่อให้มันประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมและก้าวก้าวขึ้น มากขึ้นสูงขึ้นได้อย่างที่เราต้องการ " นายจุลพันธ์ กล่าว