posttoday

กสทช.เร่งหารือกรมศุลกากร รับมือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้ Starlink โทรลวงประชาชน

19 มิถุนายน 2567

มิจฉาชีพไฮเทค ใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำ Starlink ที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในประเทศไทย เป็นเครื่องมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหลอกลวงประชาชน ด้านกสทช.รับ คุม Starlink ไม่ได้ เหตุให้บริการผิดกฎหมาย เร่งหารือกรมศุลกากรสกัดนำเข้าอุปกรณ์รับสัญญาณ

จากกรณีที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีการตรวจยึดของกลาง อุปกรณ์ รับ-ส่ง สัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ  (Low Earth Orbit — LEO) ของ Starlink จากมิจฉาชีพ ในการนำมาเป็นอุปกรณ์ชุดสื่อสารเพื่อเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบดาวเทียม LEO  ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 58 ชุด

ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าว สามารถตรวจยึดได้จากร้านรับ-ส่งพัสดุ ใน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยระบุที่อยู่ปลายทาง ใน อ.แม่สอด และอ.แม่ระมาด จ.ตาก จึงสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่ต้องการส่งออกไปยังชายแดนประเทศไทย จากฝั่งชายแดนประเทศกัมพูชาไปยังชายแดนประเทศเมียนมาร์ เพื่อเตรียมนำมาใช้ในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ โดยรมว.ดีอี ต้องเดินหน้าหารือกับกสทช.ต่อไป ว่าจะยกระดับการป้องกันอย่างไรบ้าง กับวิธีการสื่อสารแบบใหม่ของมิจฉาชีพเหล่านี้

ล่าสุดนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ต้องมีการหารือและทำงานร่วมกับกรมศุลกากร ในการดูแลอุปกรณ์นำเข้าผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากดาวเทียม LEO ของ Starlink ไม่ได้เข้ามาขออนุญาตใช้สถานีรับสัญญาณดาวเทียม หรือ สถานีเกตเวย์ ในประเทศไทย เพราะไม่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนในประเทศตามกฎหมาย แต่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศเอง 100 % ทำให้  Starlink ไม่สามารถประกอบกิจการในประเทศไทยได้ ดังนั้นจึงใช้ประเทศอื่นในอาเซียนเป็นสถานีเกตเวย์

ทว่า บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม LEO นั้น สามารถให้บริการครอบคลุมได้หลายประเทศ แม้ในประเทศนั้นๆจะไม่มีสถานีเกตเวย์ เพียงมีจานดาวเทียมในการรับสัญญาณ ประชาชน ก็สามารถใช้บริการได้ โดยสมัครแพ็กเกจผ่านเว็บไซต์ ทำให้มิจฉาชีพเห็นช่องทางดังกล่าว ในการใช้สื่อสารหลอกลวง แทนการใช้ระบบสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง กสทช.ได้ดำเนินการปราบปรามสถานีเถื่อนอย่างต่อเนื่อง 

ด้านพลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช.อธิบายเพิ่มเติมว่า กสทช.ได้อนุมัติโครงการทดลองทดสอบกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการนำดาวเทียม Starlink เพื่อ 3 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยการศึกษา และการแพทย์สำหรับผู้ด้อยโอกาส โดยรับทราบมาว่า Starlink มีสถานีเกตเวย์ อยู่ที่ ฟิลิปปินส์ เบื้องต้นคงต้องดูก่อนว่า สัญญาณดาวเทียมสามารถล้นออกมาจากโครงการหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าทางเทคนิคแล้วน่าจะมีวิธีแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที  กล่าวว่า  การทำงานของเครื่องนี้ มีการใช้อุปกรณ์ รับสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยตรงจากดาวเทียม Starlink  ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาต จาก กสทช.  และไม่มีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทย โดยราคาอุปกรณ์อยู่ที่ ประมาณ 20,000-50,000 บาท สำหรับการใช้งาน ประชาชนต้องซื้อแพ็กเกจเป็นรายเดือน ซึ่งการให้บริการลักษณะนี้มีผู้ให้บริการหลายเจ้า โดยในประเทศไทยมีเพียงวันเว็บที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. แต่ยังไม่ได้ให้บริการแต่อย่างใด

สำหรับการตรวจจับสัญญาณอินเทอร์เน็ตดาวเทียมวงโคจรต่ำว่านำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ตรวจจับได้ยาก เมื่อเทียบกับการใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ จึงจำเป็นต้องมีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทย จึงจะสามารถตรวจจับได้ หากตรวจสอบพบว่านำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายก็สามารถตัดสัญญาณจากสถานีเกตเวย์ได้ทันที จึงเป็นที่มาของกฎหมายที่กสทช.กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำในไทย ต้องมีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทยด้วย เพื่อควบคุมดูแลได้ 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว พบว่า ราคาแพ็กเกจบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโครจรต่ำ ของต่างประเทศมีราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าอุปกรณ์ หากมีอุปกรณ์จานรับสัญญาณก็สามารถสมัครแพ็กเกจและชำระเงินผ่านเว็บไซต์ได้ทันที หลังจากนั้นจะได้รับรหัสสำหรับล็อกอินเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต