posttoday

ดาต้า ฟาร์ม คว้าโครงการความปลอดภัยแอปทางรัฐ

05 สิงหาคม 2567

ดาต้า ฟาร์ม คว้าโครงการประเมินความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ แอปทางรัฐ ตรวจสอบพบเป็นสตาร์ทอัพ ที่มีลูกชาย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นกรรมการบริษัท ปี 66 มีรายได้ 2.5 หมื่นล้านบาท

กระแสดราม่า เรื่องความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน ทางรัฐ ยังคงเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ กันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีแฮกเกอร์ออกมาประกาศตัวว่าสามารถแฮกข้อมูลแล้วได้ก็จริง แต่คนวงในก็เกรงว่า อาจจะมีแฮกเกอร์ บางคน แอบอ้าง นำข้อมูลเก่า และมาแปะโลโก้ แอปทางรัฐ เพื่อประกาศศักดา สร้างความสับสนกับประชาชนได้

โพสต์ทูเดย์ ได้ตรวจสอบผู้ชนะงานจ้างประเมินความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริการภาครัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA พบว่า บริษัท ดาต้า ฟาร์ม จำกัด เป็นผู้ชนะโครงการมูลค่า 4.9 แสนบาท ประกาศการจัดซื้อจัดจ้างระบบความปลอดภัย  พบรายชื่อ ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล ลูกชาย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นกรรมการบริษัท 

นิวัฒน์ธำรง เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย,ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายภาพลักษณ์ และกิจกรรมสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ ณรงค์พนธ์ นั่งตำแหน่งหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) มีภารกิจหลักในการลงทุนเงินในสตาร์ทอัพ โดย ดาต้าฟาร์ม เป็นสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์  และนั่งเป็นกรรมการบริษัท

ดาต้า ฟาร์ม คว้าโครงการความปลอดภัยแอปทางรัฐ ณรงพนธ์ บุญทรงไพศาล

ดาต้า ฟาร์ม ระบบทดสอบแฮกเกอร์

สตาร์ทอัพไทยรายนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ให้บริการทดสอบเจาะระบบ และบริการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ลูกค้าองค์กรด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีใบรับรองระดับมืออาชีพโดยให้บริการใน 3 ส่วน ทั้ง Penetration Testing (Pentest) การทดสอบเจาะระบบเพื่อค้นหาช่องโหว่หรือจุดอ่อนของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเป็นช่องทางที่ แฮกเกอร์ใช้เพื่อโจมตี เข้าถึงหรือแก้ไขข้อมูลสำคัญขององค์กร โดยทีมผู้ทดสอบที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการจำลองการโจมตีและวิธีการจัดการตามมาตรฐานระดับสากล

นอกจากนี้ยังมี Vulnerability Assessment (VA) การตรวจหาช่องโหว่ที่เป็นจุดอ่อนด้านเทคนิคอล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีช่องโหว่ การเปิดใช้งานเซอร์วิสที่เกินกว่าความจำเป็น และการตั้งค่าการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น โดยการทำ VA จะใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางในการสแกนระบบเป้าหมายเพื่อตรวจหาช่องโหว่ โดยไม่ได้มีการโจมตีระบบจริงโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะช่องโหว่ในระบบคอมพิวเตอร์และโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย 

รวมถึงบริการ Cybersecurity Consulting บริการให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลและภัยคุกคามในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เช่น NIST Cybersecurity Framework, ISO/IEC 27001, PCI-DSS, PDPA/GDPR 

ดาต้า ฟาร์ม คว้าโครงการความปลอดภัยแอปทางรัฐ

รายชื่อกรรมการบริษัท ประกอบด้วย

นายพิสุทธิศักดิ์ จงบุญเจือ
นางสาวฐิติมา บำรุงธรรม
นายชาคริต แสนบัวโพธิ์
นายสุภชัย พันธ์โกศล
นายณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล

ทุนจดทะเบียน

6,667,000.00 บาท

รายได้ปี 2562-2566

ปี 2562 มีรายได้ 33,942,843.36  บาท

            กำไร 3,019,567.95 บาท 

ปี 2563 มีรายได้ 25,716,435.76 บาท  

            กำไร 54,260.15 บาท 

ปี 2564 มีรายได้ 38,322,539.97 บาท

            กำไร 3,023,645.63 บาท 

ปี 2565 มีรายได้ 48,045,621.78  บาท

            กำไร 4,397,530.54 บาท 

ปี 2566 มีรายได้ 24,983,865.88 บาท

             กำไร 2,793,219 บาท