posttoday

นักวิชาการ เชียร์แนวคิด ทักษิณ Negative Income Tax ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

23 สิงหาคม 2567

ยุทธนา นักกฎหมายภาษี สนับสนุนแนวคิด ทักษิณ Negative Income Tax รัฐบาลช่วยผู้มีรายได้ต่ำเกณฑ์ ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ รัฐได้ข้อมูล คนเข้าระบบเสียภาษีเงินได้ในอนาคตกว่า 66 ล้านคน ชี้ข้อดี หากรัฐต้องการช่วยเหลือคนตรงกลุ่ม ทำได้ทันที

นายยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และอาจารย์กฎหมายภาษีอากร โพสต์เฟซบุ๊คกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน ดินเนอร์ทอล์ก ที่จัดโดยเครือเนชั่นวันที่22ส.ค. ในหัวข้อ Vision for Thailand ตอนหนึ่งที่พูดถึง Negative Income Taxว่า ในฐานะนักกฎหมายภาษี อันนี้ยอมรับว่าตื่นเต้นเลย ดร.ทักษิณ เล่าในงาน Vision for Thailand ว่าเห็นกระทรวงการคลังกำลังคิดดังๆ ว่ากำลังศึกษาว่าจะลดภาษีเงินได้ให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและดึงดูดให้คนมาอยู่ในไทย รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีไทยสู่ระบบ "Negative Income Tax" ที่คนไทยทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนแค่ไหนต้องเข้าระบบภาษีด้วย

พอดีในงานนี้ ดร.ทักษิณไม่ได้อธิบายรายละเอียดไว้มากนัก เลยถือโอกาสเขียนขยายความไว้เผื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ด้วย
[1. Negative Income Tax คืออะไร?]
 

โดยปกติเราคงคุ้นเคยกับระบบภาษีเงินได้ที่ใครมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก ใครรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย ส่วนใครไม่มีรายได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย

แต่ระบบ Negative Income Tax ซึ่งถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1962 โดยศาสตราจารย์ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จะมีฟีเจอร์เพิ่มจากระบบภาษีเงินได้ทั่วไป คือ คนที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว จะยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

และแน่นอนว่าเพื่อให้คนที่รายได้น้อยได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ระบบนี้จึงจูงใจให้ทุกคนที่แม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีก็ต้องเข้าระบบภาษีและยื่นภาษีด้วย เพื่อเป็นหลักฐานรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลต่อไป
[2. Negative Income Tax มีจุดเด่นตรงไหน?]
 

Negative Income Tax เป็นการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จึงมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่สมควรได้รับได้ตรงกลุ่มและครอบคลุมที่สุดเพราะเป็นสวัสดิการแบบเจาะจง ช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการดำเนินโครงการสวัสดิการแบบถ้วนหน้าที่บางครั้งใช้งบประมาณสูงแต่อาจได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะงบประมาณถูกจัดสรรให้บุคคลที่ไม่ได้มีรายได้น้อยจริงๆ หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจริง

ในระยะยาว Negative Income Tax สามารถเพิ่มจำนวนคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากผู้มีรายได้น้อย ก็มีแรงจูงใจให้เข้าระบบภาษีและยื่นภาษีเพื่อรับเงินช่วยเหลือ ดังนั้น หากในอนาคตบุคคลเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันทีเพราะอยู่ในระบบภาษีแต่แรกอยู่แล้ว
[3. ระบบ Negative Income Tax ทำงานอย่างไร?]

กลไกของ Negative Income Tax ตามข้อเสนอของ Friedman มีองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่

1) เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ (Income Threshold) และ
2) อัตราการชดเชย (Rate of Subsidy)

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมจะลองสมมติตัวอย่างคร่าวๆ เช่น ถ้ารัฐบาลใช้เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีคือ ปีละ 150,000 บาท และอัตราการชดเชย 50% ผลลัพธ์เป็นไปได้ในกรณีต่างๆ อาจเป็นได้ดังนี้

ก) นายเอก ไม่มีรายได้เลย - นายเอกก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเป็นจำนวน 150,000 x 50% = 75,000 ต่อปี

ข) นายโท มีรายได้ 100,000 บาทต่อปี - นายโทก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล โดยคิดฐานจากส่วนต่างของเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำกับรายได้ตัวเองก่อน คือ 50,000 (เกณฑ์ขั้นต่ำ 150,000 - รายได้จริง 100,000) จากนั้น นายโทจะได้เงินชดเชย 50,000 x 50% = 25,000 ต่อปี

ค) นายตรี มีรายได้ 150,000 บาทต่อปี ซึ่งเท่ากับเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำพอดี - นายตรีจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเลย

ง) นายจัตวา มีรายได้สูงกว่า 150,000 บาทต่อปี - นายจัตวาจะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดไว้

[4. ความท้าทายของระบบ Negative Income Tax]
หลักๆ น่าจะมี 2 ประเด็น ได้แก่

1) ต้นทุนการคัดกรองค่อนข้างสูงและสร้างภาระการยื่นภาษีเพิ่มให้ผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากบุคคลผู้มีรายได้น้อยที่จะรับเงินช่วยเหลือได้ต้องเข้าระบบภาษีด้วย ดังนั้น ในกรณีที่รัฐไม่มีข้อมูลรายได้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มากเพียงพอ บุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ยื่นภาษีเพื่อให้มีข้อมูลในระบบด้วย แม้ว่าจะไม่มีรายได้เลยก็ตาม ซึ่งอาจสร้างภาระให้ผู้มีรายได้น้อยรวมถึงผู้ไม่มีรายได้ต้องยื่นภาษีทุกปีด้วย ต่างจากระบบปัจจุบันที่ผู้มีรายได้น้อยไม่เคยมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมาก่อน

2) ใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพราะการให้เงินช่วยเหลือจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาเพิ่มเติม ซึ่งประเด็นนี้อาจย้อนแย้งกับแนวทางที่กระทรวงการคลังกำลังวางแผนลดภาษีเงินได้ ซึ่งอาจทำให้งบประมาณยิ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น รัฐบาลต้องวางแผนเรื่องแหล่งเงินช่วยเหลือที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริงด้วย

[5. ระบบ Negative Income Tax มันใช่อันเดียวกับแนวคิด Universal Basic Income รึเปล่า?]
โดยทั่วไป การดำเนินนโยบาย Negative Income Tax มักถูกพูดถึงควบคู่กับนโยบายรายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) ด้วยเนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน

แต่จุดแตกต่างสำคัญคือ UBI จะให้เงินเป็นรายได้พื้นฐานขั้นต่ำแก่บุคคลทุกคนโดยไม่สนใจว่าจะเป็นผู้มีรายได้มากหรือน้อย ในขณะที่ Negative Income Tax จะให้เงินช่วยเหลือเฉพาะคนมีรายได้น้อยเท่านั้นและให้ในอัตราที่แตกต่างกันแล้วแต่ว่ามีคนนั้นมีรายได้น้อยแค่ไหน

[6. เคยมีประเทศไหนใช้ระบบ Negative Income Tax บ้างรึยัง?]

บางประเทศได้มีการดำเนินนโยบาย Negative Income Tax ไปแล้ว โดยมีรายละเอียดและใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น
- Earned Income Tax Credit (EITC) - สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เกาหลีใต้ และสวีเดน
- Family Tax Benefit (FTB) - ออสเตรเลีย
- Independent Earner Tax Credit (IETC) - นิวซีแลนด์
- Workfare Income Supplement (WIS) - สิงคโปร์
- Working Income Tax Benefit (WITB) - แคนาดา
- Working Tax Credit (WTC) - สหราชณาจักร

ถ้าสังเกตดูดีๆ ประเทศพวกนี้รวยๆ ทั้งนั้น น่าสนใจว่าสภาวะบ้านเราตอนนี้พร้อมกับระบบ Negative Income Tax แล้วรึเปล่า แต่ส่วนตัวเชียร์นโยบายนี้เลยนะ เพราะเราอาจจะได้เห็นผู้เสียภาษีในระบบภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นรวดเดียวจาก 11 ล้านคนเป็น 66 ล้านคนได้เลย

ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับโดยตรงคือ หากมีสถานการณ์ที่ต้องให้เงินช่วยเหลือเหมือนตอนโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ช่วงโควิด กระทรวงการคลังจะมีข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันทีโดยไม่ต้องเหนื่อยให้ประชาชนมาเสียเวลาลงทะเบียนอีก และยิ่งตอนนี้มีทั้งเป๋าตังและโครงการดิจิทัลวอลเล็ต การให้เงินช่วยเหลือก็จะยิงเข้าตัวประชาชนรายนั้นได้ทันที ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ดึงเงินกลับได้ทันทีด้วย น่าสนใจว่าโครงการเหล่านี้จะบูรณาการกันได้ขนาดไหน

ตอนนี้รัฐบาลใหม่มีเวลาเหลืออีก 3 ปี มาลุ้นกันว่ารัฐบาลทักษิณจะผลักดันนโยบาย Negative Income Tax ให้เป็นจริงได้ทันมั้ย